เผยปี 54 ตั้งครรภ์ไม่พร้อมสูง 2.5 แสนราย – ชงแก้กม. ป้องกันสิทธิห้ามร.ร. ไล่ออก
กสม. ถกเด็กหญิงตั้งครรภ์ไม่พร้อมถูกละเมิดสิทธิ เผยตัวเลขปี 54 สูง 2.5 แสนราย ชงแก้กม.ห้ามไล่เด็กออกร.ร.กลางคัน – อปท. จัดฐานข้อมูลเด็กดูแลในชุมชน
วันที่ 18 ก.ย. 55 สำนักวิจัยและวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอฟพีเอ) จัดสัมมนา ‘ปัญหาเยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรกับมิติสิทธิชุมชน’ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นท์ กรุงเทพฯ
นางแววรุ้ง สุบงกฎ ผู้วิจัยภาคสนามโครงการศึกษาวิจัย ม.มหิดล นำเสนอข้อมูลการวิจัยจากผลการศึกษาโดยสรุปว่า การให้ความหมายของ ‘เพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร’ ในสังคมไทย และเพศสัมพันธ์ของเยาวชนเป็นเรื่องผิดบรรทัดฐานสังคม ทำให้เยาวชนหญิงตั้งครรภ์เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ จากกฎหมาย องค์กร หน่วยงานรัฐ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล แม้แต่ชุมชนและครอบครัว ให้มีชีวิตอย่างไม่มีศักดิ์ศรี ถูกกีดกัน แบ่งแยก การไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารตัดสินใจ และการเข้าไม่ถึงบริการที่ปลอดภัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังพบว่าประสบการณ์ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนของเยาวชนหญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมนั้น เกิดจากขาดความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และเพศศึกษาของเยาวชน ครอบครัว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่มีหน้าที่บริการเยาวชนตั้งครรภ์
“ปัญหาการเรียนช่วงตั้งครรภ์ไม่พร้อม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และ พ.ศ.2545 ม. 10 ระบุ การจัดการศึกษาต้องให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐต้องจัดให้ทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งกฎหมายเปิดช่องให้โรงเรียนรับเด็กตั้งครรภ์มาเรียนได้ แต่กลับพบว่าเด็กกลุ่มดังกล่าวถูกละเมิดสิทธิไล่ออกโรงเรียน”
ผู้วิจัยจึงเสนอให้คณะรัฐมนตรีปรับปรุงกฎหมายให้คำนึงถึงการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ โดยหากเยาวชนตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ต้องบัญญัติข้อห้ามให้นักเรียนออกจากโรงเรียนในพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หรือพ.ร.บ.คุ้มครอง พ.ศ.2546 และระวางโทษชัดเจน พร้อมให้สถานสงเคราะห์ช่วยเหลือในการดำรงครรภ์และยุติการตั้งครรภ์อย่างถูกกฎหมาย อีกทั้งกำหนดให้ไม่มีการระวางโทษในการกระทำที่ ‘ทำให้ตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้แท้งลูก’ ในกรณีที่หญิงเจ้าของครรภ์ยินยอม ในประมวลกฎหมายอาญา
ทั้งนี้ยังให้เครือข่ายสหสาขาวิชาชีพในพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ใช้ระบบการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาครอบครัวเป็นหน่วยงานประสานงานกลางภายในอปท. เพื่อจัดระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนเด็กและเยาวชนทั้งหญิงชาย สภาพปัญหาครอบครัว และเยาวชนหญิงตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมที่ต้องการรับบริการด้านต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงการประสานงานกับแผนกอื่นขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเครือข่ายสหสาขาวิชาชีพเพื่อส่งต่อและติดตามผล พร้อมจัดเงินสนับสนุนให้แม่ช่วงเลี้ยงลูกก่อนวัยเรียนและไม่ได้ทำงาน และป้องกันการตั้งครรภ์ซ้ำ
ด้านนายดล บุนนาค ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฏีกา กล่าวว่า ปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนเยาวชนตั้งครรภ์ไม่พร้อมเกิดจากเด็กขาดองค์ความรู้ ในที่นี้มิใช่ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์และการป้องกัน หากแต่หมายถึงการเข้าถึงสิทธิการรับรู้ด้านกฎหมาย เช่น เมื่อตั้งครรภ์แล้วโรงเรียนมีสิทธิไล่ออกหรือไม่ ไม่รู้แม้กระทั่งต้องไปปรึกษาใครเมื่อเกิดปัญหา ตราบใดที่ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้องยังตีตราว่าการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อมเป็นพฤติกรรมไม่เหมาะสมอาจทำให้เป็นอุปสรรคในการให้คำปรึกษาได้ ที่สำคัญไทยยังขาดหน่วยงานรองรับที่ดูแลโดยตรง ดังนั้นอยากให้มีการศึกษาวิจัยหลายครั้งเพื่อสรุปออกมาเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืนเหมือนต่างประเทศ
ขณะที่นายไมตรี ศรีสกุลไทย ผอ.โรงเรียนหนองชุมแสง จ.เพชรบุรี กล่าวว่า ครูในโรงเรียนปัจจุบันมักคำนึงเพียงการเลื่อนวิทยฐานะที่อิงกับคะแนนของนักเรียนเรียนดีในโรงเรียน โดยขาดการเข้าถึงสภาพปัญหาของนักเรียน โดยเฉพาะกลุ่มตั้งครรภ์ไม่พร้อม ดังนั้นจึงอยากให้ครูมีจริยธรรมไม่ดูถูกแต่ต้องให้โอกาส พร้อมเสนอให้เปลี่ยนชื่อวิชา ‘เพศศึกษา’ เป็น ‘ครอบครัวศึกษา’ จะสามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ด้านเพศและครอบครัวที่ดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถิติการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของไทยปี 54 มีจำนวน 250,000 ราย และร้อยละ 50 หายไปจากระบบสาธารณสุข ซึ่งอาจใช้วิธีการยุติตั้งครรภ์โดยการทำแท้ง ทั้งนี้จากข้อมูลสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข สำรวจพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นที่ศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษา2, 5 และระดับอาชีวศึกษาปีที่ 2 ตั้งแต่ปี 48 -52 พบแนวโน้มการมีเพศสัมพันธ์ของวัยรุ่นมีเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 52 มีนักเรียนชาย ม.2 ร้อยละ 4.2 เคยมีประสบการณ์ทางเพศแล้ว ขณะที่นักเรียนชาย ม.5 เคยมีเพศสัมพันธ์ร้อยละ 24.7 และนักเรียนอาชีวศึกษาชายปีที่ 2 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วร้อยละ 44 สำหรับนักเรียนหญิง ม.2 เคยมีประสบการณ์ทางเพศแล้วร้อยละ 2.6 นักเรียนหญิง ม.5 มีเพศสัมพันธ์แล้วร้อยละ 13.9 และนักเรียนอาชีวศึกษาหญิงปี 2 เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วร้อยละ 37.4 .