ศิษย์เก่าวิศวะจุฬาฯ แนะรุ่นน้อง เตรียมรับกฎระเบียบใหม่เพียบ หลังเข้า AEC
อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย แนะวิศวกรรุ่นใหม่ ปรับกรอบคิดมองตลาดเป็น 600 ล้านคน ภาษาอังกฤษจำเป็นมากต่อการทำงาน หัดเรียนรู้กฎหมาย ควบคู่กับการยึดหลักจรรยาบรรณ ไม่ทุจริต ขณะที่อดีตนายกฯ ชวน มองวิศกรไทยเก่งไม่แพ้เพื่อนบ้าน
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดการบรรยายประกอบการเรียนการสอนรายวิชา แก่นวิศวกรรม (Engineering Essentials) ในหัวข้อ "ระบบธรรมมาภิบาล จริยธรรมและค่านิยมของวิศวกร" โดยนายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และนายเกียรติ สิทธิอมร อดีตประธานผู้แทนการค้าไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมบรรยาย ณ หอประชุม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ
นายเกียรติ ในฐานะศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงวิชาชีพ 7 สาขาแรก ได้แก่ แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี ทันตแพทย์ และนักสำรวจ จะมีการเคลื่อนย้ายได้อย่างเสรีทั่วทั้งอาเซียน และเมื่อรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คนในสาขาอาชีพเหล่านี้ต้องเจอกับสถานการณ์ที่มีกฎระเบียบใหม่ ๆ โดยเฉพาะกฎระเบียบระหว่างประเทศที่มีมากขึ้น และรวดเร็วขึ้น ดังนั้นวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องตลาด และเส้นเขตแดนก็จะต้องเปลี่ยนไป
"แต่ก่อนเราคิดว่า มีบ้าน 10 หลัง แต่ละหลังมีรั้วของตัวเอง ตอนนี้กลายเป็นบ้าน 10 หลังมีรั้วเดียวร่วมกัน วิธีคิดของนักศึกษาที่จะจบไปเป็นวิศวกรในอนาคตก็ต้องเปลี่ยนไป การมองตลาดแทนที่จะมอง 60 ล้านคน ก็ต้องมองตลาด 600 ล้านคน การมองวิธีการทำธุรกิจ ก็ต้องมีการใช้เครือข่ายของบริษัทในประเทศเพื่อนบ้านด้วย"
นายเกียรติ กล่าวถึงในอนาคตเมื่อนักศึกษาจบออกมาแล้ว จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของโครงการต่าง ๆ มากมายที่จะเกิดขึ้น ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่โอกาสในการทำงานต่างประเทศจะมีมากขึ้น ฉะนั้นทักษะสำคัญ ๆ เพื่อไปทำงานต่างประเทศก็ต้องมีมากขึ้นตามด้วย ขณะเดียวกันก็ควรสนใจรับรู้กฎหมายในประเทศที่สำคัญ 2-3 ฉบับด้วย ได้แก่ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายป้องกันการฮั้ว การใช้อำนาจในตลาดเพื่อบังคับซื้อบังคับขาย พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งระบุว่า การฮั้วเป็นความผิดเฉพาะบุคคล และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่นักศึกษาวิศวกรควรเรียนรู้ รวมทั้งทำความเข้าใจกับ AEC plus ด้วย
"ขณะนี้อาเซียนมีข้อตกลงซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วกับจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อาเซียนบวก 6 คือ ครึ่งหนึ่งของประชากรโลก 1 ใน 3 ของการค้าโลก และครึ่งหนึ่งของทุนสำรองของโลก เพราะฉะนั้นอย่ามองแค่เออีซี 10 ประเทศ ต้องมองไปถึงอาเซียนบวก 6 "
พร้อมกันนี้ นายเกียรติ ยังขอให้วิศวกรในอนาคตยึดหลักจรรยาบรรณในการทำงาน ไม่ทุจริต หรือกระทำสิ่งที่ผิดจริยธรรม เพราะสังคมไทยยังเป็นสังคมที่โอกาสทำผิดมีสูง เรามักใช้ค่านิยม เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม พอวัฒนธรรมเป็นอย่างไรเราก็ทำตาม
"ผมคิดว่าเราควรใช้หลักนอนตายตาหลับ ดีกว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม คือชีวิตนี้เมื่อถึงวันที่เกษียณอายุหยุดทำงาน คุณภูมิใจในงานที่คุณทำ มีเกียรติมีศักดิ์ศรีในแวดวง คุณไม่มีชนักติดหลัง ไม่มีแผล" นายเกียรติกล่าว
ขณะที่นายชวน กล่าวว่า อาชีพวิศวกรเป็นหนึ่งในอาชีพที่คนไทยมีความพร้อม และเก่ง เช่นเดียวกับแพทย์ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว เราไม่ด้อยกว่าใคร ซึ่งถ้าย้อนไปดู พ.ร.บ.วิศวกร พ.ศ.2542 จะเห็นว่า กฎหมายนี้ได้เตรียมพร้อมวิศวกรไว้แล้วตั้งแต่ต้นเมื่อถึงวันที่อาเซียนเปิดเสรีทางการค้า โดยมีเหตุผลข้อหนึ่งในการออกกฎหมายฉบับนี้ระบุไว้ว่า เพื่อเตรียมรับกับการเปิดเสรีทางการค้า มองว่า ความสามารถทางภาษาอังกฤษของคนในสายอาชีพวิศวกรไทยดีอยู่แล้ว ไม่น่าจะเป็นปัญหาเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
"ถ้าจะมีจุดอ่อน ก็คือเราไม่ได้มีพื้นฐานภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ต้น เราใช้อักษรของเราเอง ซึ่งควรจะภูมิใจ แต่คนที่จะทำงานเกี่ยวข้องกับต่างประเทศจำเป็นจะต้องเรียนรู้ด้านภาษาให้มากขึ้น ทั้งด้วยหลักสูตร และเรียนรู้ด้วยตัวเอง" อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า การเปิดประชาคมอาเซียนอีกสองปีข้างหน้าก็อย่ากังวลเกินไป แต่สำหรับคนที่ทำอาชีพ เช่น วิศวกรจะต้องเก่งภาษาอังกฤษให้ได้
__________________
ที่มาภาพ
http://webboard.news.sanook.com/forum/?topic=3568532
http://bit.ly/QjN0kQ