คปก.เสนอรื้อหลักสูตรนิติศาสตร์ แก้กระบวนการยุติธรรมบกพร่อง
คกก.ปฏิรูปกฎหมายเสนอรื้อหลักสูตรนิติศาสตร์ แนะแก้ไขกม.ทรัพยากรทุกฉบับ ชี้ปมขัดแย้งการเมืองทุกฝ่ายต้องเข้ากระบวนการยุติธรรม ติงแก้รธน.อย่าติที่มาต้องตอบโจทย์ทำเพื่ออะไร
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราถึงทิศทางการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)ซึ่งดำเนินงานมากว่า 1 ปีว่า ล่าสุดคปก.มีมติเห็นชอบให้ปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนนิติศาสตร์ในประเทศไทยทั้งในสถาบันการศึกษาและหลักสูตรการอบรมกฎหมายต่างๆ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ สถาบันตุลาการมีความไม่เป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมายในแง่การตีความ โดยให้คุณค่าของกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งหลายครั้งศาลไม่ได้ตีความตามสิทธิที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ตีความและเห็นชอบไปตามแนวทางกฎหมายลูกของหน่วยงานรัฐ เช่น เรื่องสิทธิชุมชนซึ่งบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแต่ยังไม่มีกฎหมายลูกรองรับ เป็นต้น
ฉะนั้นสังคมไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในแง่การใช้และตีความกฎหมายเสียใหม่ ทั้งนี้ในระยะแรกจะทำการศึกษาวิจัยหลักสูตรนิติศาสตร์ในประเทศไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและไม่เห็นผลในระยะอันใกล้ อย่างไรก็ดีเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางกฎหมายตามเจตนารมณ์แท้จริงของรัฐธรรมนูญต่อไป
เมื่อถามถึงกฎหมายที่ควรเร่งแก้ไข นายไพโรจน์ตอบว่า กฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม ทั้งกฎหมายป่าไม้ ที่ดิน ฯลฯ ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากประเทศไทยและโลกขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตระบบนิเวศอันเกิดจากการทำลายทรัพยากร ซึ่งนอกจากประชาชนจะเผชิญกับภัยพิบัติแล้ว ที่สำคัญคือกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากร เพราะคนส่วนน้อยคือคนที่เข้าถึงทรัพยากรและได้ใช้ประโยชน์ ในขณะที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อธรรมชาติและสังคมโดยรวม ทั้งนี้รัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 ได้วางแนวทางไว้ว่าชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนมากขึ้น
นอกจากนี้นายไพโรจน์ยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ปัจจุบันสังคมมักวิจารณ์แต่เพียงที่มาของรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้คำนึงถึงสาระสำคัญของกฎหมาย โดยส่วนตัวคิดว่ารัฐธรรมนูญต้องมีการแก้ไขต่อไปเนื่องจากแต่ละฉบับต่างมีข้อบกพร่อง อย่างไรก็ดีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรัฐบาลต้องมีเหตุผลและตอบโจทย์ให้ได้ว่าจะแก้เพื่ออะไร โดยศึกษาข้อดีข้อเสียของรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านๆมาด้วย
ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงในสังคมขณะนี้คือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองอันเกิดจากการผลิตสร้างความเกลียดชังผ่านสื่อตลอดเวลา โดยตีแผ่ความเชื่อทางการเมืองแทนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยจบลงที่การเยียวยาให้เงินช่วยเหลือ โดยไม่มีการพิสูจน์ความจริงและคนมีอำนาจไม่ถูกลงโทษตามกฎหมาย ชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยยังขาดวุฒิภาวะในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่ถูกต้อง ดังนั้นแนวทางแก้ไขที่เหมาะสม คือ ทุกฝ่ายจะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ความจริงอย่างเสมอหน้ากันเพื่อให้สังคมได้บทเรียนและเดินต่อไปได้
ที่มาภาพ ::: http://blog.studylink.com/tag/law-school/