สศก. คาดน้ำท่วม 55 นาล่ม 1.4 ล้านไร่ –ชงประกันภัยพืชผล
สนง. เศรษฐกิจการเกษตรประเมินน้ำท่วม 14 จว. กลาง – เหนือ นาข้าวกระทบ 1.37 ล้านไร่ 2.1 แสนตัน 2,234 ล้านบาท ชงนโยบายระยะสั้น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ระยะกลาง-ยาว ต้องเปลี่ยนรอบทำนา –หนุนประกันภัยพืชผล
วันที่ 17 ก.ย. 55 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ดร.จารึก สิงหปรีชา ผอ.ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร เปิดเผยข้อมูลผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมต่อพื้นที่และผลผลิตการเกษตรไทยปัจจุบันว่า ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตรร่วมกับสถานีรับสัญญาณดาวเทียมจุฬาภรณ์ ม.เกษตรศาสตร์ และสศก. ใช้ข้อมูลภาพดาวเทียมติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรของไทย โดยล่าสุดเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือตอนล่างรวม 14 จังหวัด ได้แก่ อยุธยา อ่างทอง พิจิตร พิษณุโลก สุพรรณบุรี สุโขทัย กำแพงเพชร ชัยนาท ลพบุรี นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สิงห์บุรี และสระบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวนาปีรวม 14.39 ล้านไร่ อ้อยโรงงาน 3.78 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 1.51 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1.47 ล้านไร่ และถั่วเขียว 0.8 ล้านไร่
โดยข้อมูล (11 ก.ย. 55) ระบุน้ำท่วมได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ผลผลิตภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวรวม 1.37 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 9.5 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด อย่างไรก็ตามพื้นที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ปลูกข้าวในเขตน้ำท่วม ซึ่งเกษตรกรได้ปรับตัวโดยเร่งปลูกข้าว เพื่อเก็บเกี่ยวทันส.ค. เช่น พื้นที่จ.สิงห์บุรีและอ่างทองเก็บเกี่ยวข้าวได้ทันก่อนน้ำท่วมร้อยละ 69 ของพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบ
ผอ.ศูนย์ติดตามและพยากรณ์เศรษฐกิจการเกษตร จึงประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจเบื้องต้นว่าพื้นที่ปลูกข้าวอาจได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปี 55 ทั้งสิ้น 0.43 ล้านไร่ หรือร้อยละ 3 ของพื้นที่ปลูกข้าวใน 14 จังหวัด หรือร้อยละ 0.7 ของพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ ทำให้ผลผลิตอาจลดลง 0.21 ล้านตัน หรือร้อยละ 2.6 ของผลผลิตข้าวใน 14 จังหวัด หรือร้อยละ 0.8 ของผลผลิตข้าวทั่วประเทศ และหากคาดการณ์สถานการณ์โดยรวมแล้ว น้ำท่วมอาจสร้างความสูญเสียต่อภาคการผลิตข้าวทั้งสิ้น 2.234 ล้านบาท แบ่งเป็นความสูญเสียจากผลผลิตข้าวในปี 55 ลดลง มูลค่า 2,057 ล้านบาท, ความสูญเสียจากต้นทุนการผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น มูลค่า 82 ล้านบาท และความสูญเสียจากการได้รับราคาข้าวเปลือกลดลง เพราะเร่งขายข้าวหนีน้ำท่วม มูลค่า 95 ล้านบาท
จึงเสนอแนวทางรองรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในอนาคตแก่รัฐบาล ได้แก่ ระยะสั้น รัฐบาลควรให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ระยะกลาง - ยาว ควรให้ความรู้และสนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ เช่น การเปลี่ยนรอบการปลูกข้าว การเน้นวิจัยและพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพและทนต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศ รวมถึงสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าโครงการประกันภัยพืชผล พัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำและระบบการติดตามข้อมูลและเตือนภัยสถานการณ์ภัยพิบัติให้แก่เกษตรกร
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการรายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร ช่วงวันที่ 1 พ.ค. – 31 ส.ค. 55 ทำให้มีผลกระทบด้านการเกษตรและการช่วยเหลือ (7 ก.ย. 55) พบพื้นที่เกษตรเสียหาย 83,016 ไร่ (ข้าว พืชไร่ พืชสวน) เกษตรกร 10,781 ราย วงเงิน 74.893 ล้านบาท ใช้งบท้องถิ่นช่วยเหลือ งบทดรองราชการในอำนาจนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว 71.692 ล้านบาท อยู่ระหว่างใช้งบกลาง 3.201 ล้านบาท
โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยปี 54 กรณีพิเศษ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) 25 ส.ค. 54 วงเงิน 8,174.546 ล้านบาท 27 ธ.ค. 54 วงเงิน 18,895.907 ล้านบาท และ 2 เม.ย. 55 วงเงิน 2,659.972 ล้านบาท รวม 3 ครั้ง จำนวน 29,730.425 ล้านบาท ส่วนการเยียวยาเกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 54/55 ที่เก็บเกี่ยวและขายผลิตก่อโครงการรับจำนำข้าว และผู้ได้รับความเสียหายจากประสบอุทกภัย ตันละ 1,437 บาท วงเงินรวม 11,404.813 ล้านบาท นอกจากนี้ยังช่วยเหลือเมล็ดพันธุ์ข้าวแก่เกษตรกรปลูกข้าวนาปี 54/55 ที่ได้รับความเสียหายมากกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่ขึ้นทะเบียนไว้ รายละไม่เกิน 100 กก. ซึ่งได้มีเกษตรกรขอรับความช่วยเหลือ 387,041 ราย พื้นที่ 3.162 ล้านไร่ เมล็ดพันธุ์ข้าว 31,624 ตัน วงเงินรวม 748,909 ล้านบาท.