ขอแค่ 9 ข้อ? คอป.ฝากถึง "สื่อไทย" ไม่บิดเบือน-ไม่ยั่วยุ-ไม่ผลักคนเลือกข้าง
1 ใน 21 ข้อเสนอแนะ ที่ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)" ที่มีนายคณิต ณ นครเป็นประธาน ในการสร้างความปรองดองในชาติ ซึ่งถูกบรรจุไว้ใน (ร่าง) รายงานฉบับสมบูรณ์ และเตรียมเปิดเผยต่อสาธารณชนในช่วงบ่ายวันจันทร์ที่ 17 ก.ย.นี้ ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน
ได้แก่ “ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสื่อ”
โดยข้อเสนอดังกล่าว ถูกแบ่งออกเป็น 2 หัวข้อย่อ ได้แก่ 1.ข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อ และ 2.ข้อเสนอแนะต่อรัฐ
รวมมาเป็น "9 ข้อเสนอแนะ" จาก คอป.ต่อสื่อไทย ในการสร้างความปรองดอง
ซึ่ง คอป.เห็นว่า "การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของ “สื่อ” เป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความแตกแยก และทำให้ความขัดแย้งในสังคมยกระดับเป็นความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอข้อมูลและการใช้ภาษาที่มีการปลุกเร้าและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech หรือ Propaganda) และปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายที่เป็นปรปักษ์ ซึ่งได้สร้างความแตกแยกในสังคมไทยให้มีความร้าวลึกยิ่งขึ้น อีกทั้ง ช่องทางในการรับรู้ของประชาชนมีความหลากหลายมากขึ้นด้วยการส่งผ่านข้อมูลไปสู่ประชาชนด้านความรวดเร็ว คอป.จึงมีความห่วงใยอย่างยิ่งต่อบทบาทและการทำงานของสื่อโดยขาดจรรยาบรรณและความรับผิดชอบต่อสังคมดังกล่าว" จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
-ข้อเสนอแนะต่อองค์กรสื่อ
(1) คอป.เคยมีข้อเสนอแนะว่า สื่อทุกแขนงต้องมีความระมัดระวังและมีความรับผิดชอบในการเสนอข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชน โดยเฉพาะสื่อของรัฐต้องมีความเป็นกลางและให้โอกาสทุกฝ่ายเท่าเทียมกัน ทุกฝ่ายต้องหยุดใช้สื่อเพื่อปลุกระดมและยั่วยุให้เกิดการใช้ความรุนแรง โดยเฉพาะสื่อวิทยุชุมชน และหลีกเลี่ยงการวิเคราะห์และการนำเสนอข่าวในลักษณะของการท้าทาย เนื่องจากจะเป็นการทำลายบรรยากาศของการสร้างความปรองดอง จากการประเมินสถานการณ์ที่ผ่านมา คอป.พบว่า สื่อยังขาดความระมัดระวังในการนำเสนอข้อมูลและมีส่วนในการกระตุ้นให้ความขัดแย้งขยายวงกว้าง สื่อยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องทางการเมือง โดยเป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามในลักษณะที่บิดเบือนความจริง โดยสื่อทางการเมืองแต่ละฝ่ายจะขยายภาพความดีความชอบของฝ่ายตนมากกว่าที่เป็นจริง ลดภาพความดีความชอบของฝ่ายตรงข้ามและขยายความผิดพลาดของฝ่ายตรงข้ามให้มากกว่าปกติ
(2) คอป.ขอเรียกร้องให้สื่อทุกแขนงปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมตามกรอบจริยธรรมและหลักวิชาชีพ สื่อต้องไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง และให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน และรอบด้านแก่ประชาชน โดยตรวจสอบข้อเท็จจริงที่หามาได้ก่อนนำเสนอ สื่อต้องไม่นำเสนอข้อมูลและถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชังหรือยั่วยุให้ใช้ความรุนแรงต่อคู่ขัดแย้ง รวมทั้งไม่นำเสนอภาพความรุนแรงในลักษณะที่ชี้นำให้สังคมเห็นว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทย สื่อจึงควรคำนึงถึงผลกระทบและความเหมาะสมของสิ่งที่นำเสนอต่อสังคมด้วย
(3) คอป.มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ความแตกแยกของผู้คนในประเทศซึ่งทำให้สังคมไทยมีการแบ่งแยกผู้คนออกเป็นกลุ่ม และมีการตั้งข้อสงสัยว่าบุคคลหนึ่งบุคคลใดสนับสนุนหรือต่อต้านฝ่ายใด ทำให้ขาดพื้นที่ที่เพียงพอสำหรับผู้ที่อยู่ตรงกลางหรือมีความเห็นกลางๆ (moderates) ในความขัดแย้ง คอป.เห็นว่าสื่อมวลชนจำนวนน้อยเท่านั้นที่พยายามนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงและสะท้อนความคิดเห็นที่รอบด้านและหลากหลายของคนในสังคม คอป.ขอเรียกร้องให้สื่อเพิ่มบทบาทในการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งของประเทศ โดยทำหน้าที่เป็นพื้นที่สาธารณะหรือสำหรับทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ที่มีความเห็นในสายกลาง เพื่อลดบทบาทของกลุ่มที่มีความเห็นอย่างสุดโต่ง (extremists) และมุ่งประสงค์ให้เกิดความรุนแรง คอป.ให้สื่อมวลชนเพิ่มบทบาทในการกระตุ้นให้สังคมช่วยกันแสวงหาทางออกในประเด็นต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ด้วยวิจารณญาณและเหตุผล มากกว่าการรายงานโต้แย้งกันระหว่างคู่ขัดแย้ง เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนในความขัดแย้งได้รับฟังความคิดเห็นอันหลากหลายจากสาธารณะ
(4) องค์กรวิชาชีพสื่อต้องดำเนินการอย่างจริงจังต่อสื่อที่กระทำผิดมาตรฐานจรรยาบรรณ ควบคุมดูแลบุคลากรในวิชาชีพสื่อให้มีมาตรฐานและมีคุณธรรม นอกจากนี้ องค์กรวิชาชีพควรให้ความรู้แก่ประชาชนว่าการกระทำลักษณะใดเป็นการละเมิดมาตรฐานจรรยาบรรณและสามารถร้องเรียนได้ ตลอดจนกระบวนการในการตรวจสอบและร้องเรียน เพื่อเปิดช่องทางให้มีการตรวจสอบและร้องเรียนการกระทำของสื่อโดยประชาชน และยังเป็นการสร้างรากฐานทางความรู้ในการรับสื่ออย่างมีวิจารณญาณของประชาชนด้วย
(5) องค์กรสื่อควรสนับสนุนให้มีการให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานอย่างเป็นระบบโดยเน้นถึงความสำคัญของอุดมการณ์และจริยธรรมในวิชาชีพ ตลอดจนจัดทำคู่มือการรายงานข่าวสารในสถานการณ์ความขัดแย้งเพื่อเป็นแนวทางแก่สื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่มีความอ่อนไหวให้เป็นไปโดยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น
-ข้อเสนอแนะต่อรัฐ
(6) รัฐต้องสนับสนุนการพัฒนากลไกในการควบคุมกันเองในทางมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อมวลชนตามที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิหน้าที่และเสรีภาพของสื่อมวลชนตามมาตรฐานจริยธรรมภายใต้สภาวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเป็นการจัดตั้งโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายโดยมีองค์ประกอบของกรรมการสภาวิชาชีพมาจากสื่อมวลชนด้วยกันเอง เพื่อทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานจริยธรรมและกระบวนการควบคุมตรวจสอบ ทั้งนี้ เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถใช้เสรีภาพได้อย่างอิสระ ภายใต้การควบคุมกันเองาตมมาตรฐานจริยธรรมของสื่อ โดยปราศจากการแทรกแซง
(7) รัฐต้องสนับสนุนให้มีกลไกป้องกันการแทรกแซงและการคุกคามการทำงานของสื่อมวลชน ไม่ว่าจากกลุ่มการเมือง กลุ่มอิทธิพล รวมถึงกลุ่มทุนใดๆ เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้โดยอิสระอย่างแท้จริง รัฐต้องมุ่งแก้ไขปัญหาโครงสร้างความเป็นเจ้าของสื่อเพื่อป้องกันการครอบงำสื่อ และควรออกกฎหมายคุ้มครองบุคลากรในกิจการสื่อมวลชนให้มีอิสระในการนำเสนอข่าวสารและความเห็นตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ เช่น การกำหนดแยกระหว่างผู้ลงทุนในกิจการสื่อ ผู้บริหาร กับกองบรรณาธิการออกจากกันอย่างเด็ดขาด เพื่อให้กองบรรณาธิการสามารถใช้เสรีภาพภายใต้มาตรฐานจรรยาบรรรวิชาชีพโดยไม่ตกอยู่ในอาณัติของผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการ
(8) รัฐควรส่งเสริมการให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ เสรีภาพ บทบาทและความรับผิดชอบของสือ่มวลชนต่อสังคมและประชาชน รวมทั้งกำหนดให้มีสถาบันการศึกษาและกระทรวงศึกษาธิการจัดให้มีบทเรียนหรือหลักสูตรที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันสื่อ มีความเป็นพลเมืองในการตรวจสอบสื่อมากกว่าที่เป็นเพียงผู้บริโภคสือ่ และในระยะยาว รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการจัดตั้งสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ เพื่อทำหน้าที่ในการคุ้มครองประชาชนในฐานะผู้บริโภคสื่อและควบคุมตรวจสอบสื่ออีกทางหนึ่ง
(9) รัฐต้องแสวงหาช่องทางในการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถสื่อสารและพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยให้สื่อมีบทบาทสำคัญในการเป็นช่องทางให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อลดช่องว่างแห่งความขัดแย้ง และสร้างความเข้าใจร่วมกัน
-ภาพประกอบจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ