แจ้งให้ทราบ
Current Item Layout Template is 'default-thaireform' does not exist
- Please correct this in the URL or in Content Type configuration.
- Using Template Layout: 'default'
โยนความผิด! 'หาญณรงค์' เผยลุ่มน้ำยม ไม่ใช่ต้นเหตุน้ำท่วม
เวที 22 ปีสืบ นาคะเสถียร 'หาญณรงค์' แจงป่าไม้สัมพันธ์การจัดการน้ำ แย้งสร้างแม่วงก์ เชื่อช่วยไม่ได้มาก แนะทำฝายขนาดเล็กแทน ฉะ รบ.อย่าสร้างความเชื่อผิดว่าทุ่มงบแล้วน้ำไม่ท่วม
วันที่ 16 กันยายน ในงานรำลึก 22 ปี สืบ นาคะเสถียร ธรรม ธรรมชาติ ได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง "น้ำกับป่า : กรณีศึกษาจากมหาอุทกภัยปี 2554" โดยมี ดร.รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) และนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ (ประเทศไทย) ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ดร.รอยล กล่าวว่า ความเข้าใจในธรรมชาติของน้ำของเราค่อนข้างผิด กว่า 6-7 ปีที่เข้าใจกันว่าประเทศไทยจะแล้ง ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 11 ยังเขียนไว้ว่าจะแล้ง ทั้งที่พายุก็มีมากกว่าเดิม เมื่อไม่เข้าใจก็เกิดปัญหา การดูข้อมูลน้ำ หรือทฤษฎีด้านน้ำที่เรานำมาจากต่างประเทศก็ไม่เหมาะกับประเทศไทยเท่าใดนัก ใช้ด้วยกันไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยแตกต่างกับประเทศอื่น
"การลงทุนโครงสร้างน้ำไทยมีมูลค่ามหาศาล ในภาคเหนือเน้นเรื่องโครงสร้าง ส่วนภาคกลางเน้นการกระจายน้ำออก เมื่อน้ำจากภาคเนื้อไหลลงมาก็ไม่มีการกระจายจงไหลลงมาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อลงมาถึงภาคกลางก็ไม่มีโครงสร้างที่รองรับ อย่าง กทม.ที่แม้จะมีอุโมงค์ แต่ไม่มีตัวป้อนน้ำ รวมทั้งไม่มีความร่วมมือ ความเข้าใจ นอกจากจะมีกำแพงน้ำ ยังมีกำแพงความคิดและความยึดมั่นด้วย" ดร.รอยล กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะตั้งกระทรวงน้ำให้รวมศูนย์ใหญ่โตมโหฬารมากขึ้น ทั้งที่ยังมีความคิดในระบอบราชการแบบเดิมๆ ขณะนี้เราเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว การทำงานในทางลาดจะดีกว่า สนับสนุนการบริหารตั้งแต่ระดับล่างขึ้นบนที่ยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย ฉะนั้น ต้องก้าวข้ามจุดนี้ไปให้ได้ หากวนกลับไปรวมศูนย์เท่ากับว่าเราอยู่กับที่
ขณะที่นายหาญณรงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาน้ำในประเทศไทยถูกบริหารจัดการโดยหน่วยงานหลักเพียงไม่กี่องค์กร ที่แก้ปัญหาโดยเลือกการสร้างเขื่อน และอ้างเหตุผลแค่ในลุ่มน้ำ แต่ไม่ได้มองทั้งลำน้ำ ไม่ได้มองต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำอย่างแท้จริง การแก้ปัญหาจึงเป็นการวางแผนเฉพาะจุดอย่างในปีที่ผ่านมา มีการปิดกั้น เก็บกักน้ำ เช่น ในแม่น้ำท่าจีน ไม่ยอมปล่อยให้ไหลเข้า ทำให้ล้นมายังนิคมอุตสาหกรรม
"ใน 25 ลุ่มน้ำ มีภูมิประเทศที่แตกต่างกัน มีความลึก ความชันที่ต่างกัน ทำให้ในบางพื้นที่มีสภาพเป็นแอ่งกระทะ เช่น สุโขทัย โดยที่แม้จะสร้างเขื่อนก็ไม่ช่วยอะไรนัก และเหตุผลในการสร้างเขื่อนก็ไม่ควรอธิบายเพียงเฉพาะจุด ต้องอธิบาย ชี้แจงกับประชาชนถึงเหตุผลในภาพรวมทั้งลำน้ำให้ได้มากกว่าแค่ที่ว่าลุ่มน้ำยมยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งที่แต่เดิมมีฝายแม่สองอยู่ใต้จุดที่จะสร้างเขื่อนมาก่อนแล้ว ซึ่งสามารถช่วยชลประทานแพร่ได้กว่า 7.4 แสนไร่" นายหาญณรงค์ กล่าว และว่า ลุ่มน้ำยมจึงถูกโยนความผิดอยู่เสมอว่าเป็นต้นเหตุให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่ไม่มีใครกล่าวถึงมุมที่จะทำให้พื้นที่ป่าไม้หายไป และส่วนหนึ่งมาจากนโยบาย
"พื้นที่ป่าไม้จำนวนหนึ่งกลายเป็นสวนยาง สวนข้าวโพด โดยมีไม่กี่บริษัทควบคุมอยู่ ซึ่งการเปลี่ยนสภาพพื้นที่ป่าไม้เช่นนี้สัมพันธ์ทั้งกับการบริหารจัดการน้ำและป่า ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ควรเริ่มปลูกป่า คาดว่าไม่เกิน 10 ปีความอุดมสมบูรณ์จะกลับมา จะได้น้ำและควบคุมน้ำได้มากขึ้น ส่วนเรื่องโครงสร้างควรทำเป็นฝายขนาดเล็ก แทนที่จะทำเป็นเขื่อนใหญ่โต และใช้งบประมาณมากเท่าเขื่อนแม่วงก์ ในส่วนการระบายต้องสร้างระบบให้น้ำไหลจากต้นน้ำลงมาด้านล่างได้ตลอดทั้งปี ไม่เก็บกัก หรือปล่อยเฉพาะช่วงน้ำหลาก"
นายหาญณรงค์ กล่าวต่อว่า เท่าที่ศึกษาแผนบริหารจัดการน้ำของคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) และคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ไม่พบข้อมูลที่ระบุถึงเรื่องผังเมือง หรือความพอดีในการจัดการน้ำ อีกทั้ง มีการพยายามสร้างความใจที่ผิดว่า เมื่อคณะกรรมการฯ ลงทุนในการบริหารจัดการน้ำแล้ว ต่อไปน้ำจะไม่มีทางท่วม ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง และภาคการเมืองก็เข้าไปยุ่งกับการบริหารจัดการของข้าราชประจำมากเกินไป
"มีการตั้งศูนย์ที่มีภารกิจซ้ำซ้อน วางแผนแล้วไม่ฟังชาวบ้าน ผังเมืองสนใจแต่การกำหนดสี เช่น พื้นที่อุตสาหกรรม ที่อาศัย และเปลี่ยนไปเรื่อยๆ โดยที่ไม่มีใครกล้าแก้ผังเมืองให้ถูกต้อง เพราะกลัวเสียคะแนน ต่อจากนี้การก่อสร้างหรือวางโครงสร้างใดๆ ต้องอธิบายกับประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่หมกเม็ด เพื่อให้ประชาชนเข้าใจการบริหารและเห็นภาพรวม เพราะปัญหาสำคัญที่ผ่านมาไม่คือการไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์จัดการน้ำและป่าในระดับชุมชน"