อียูออกกฎเหล็ก สกัด “ไม้-ผลิตภัณฑ์ไม้” เถื่อน บังคับใช้แน่ มี.ค.56
ผอ. สำนักยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าฯ หวั่นมาตรการสิ่งแวดล้อมที่อียูนำมาใช้ กระทบหนักอุตฯ ส่งออกไม้ไทย ย้ำชัดไทยต้องเร่งขอกรอบการเจรจาข้อตกลง VPAs ให้ผ่านรัฐสภา ก่อน 28 พ.ย.นี้
เมื่อเร็วๆ นี้ น.ส.สุนันทา กังวาลกุลกิจ ผู้อำนวยการ สำนักยุทธศาสตร์การเจรจาการค้า กระทรวงพาณิชย์ กล่าวในเวทีการประชุมวิชาการป่าไม้ ประจำปี 2555 ถึงการค้ากับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น ความตกลงว่าด้วยอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (Technical Barriers to Trade Agreement: TBT) ความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures- SPS) มาตรการว่าด้วยการอุดหนุนหรือการตอบโต้ ฯลฯ ทุกมาตรการจะมีข้อยกเว้นเรื่องการค้ากับสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น โดยมีการอนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อปกป้องชีวิต มนุษย์ พืช สัตว์ หรือการอนุรักษ์ทรัพยากรที่จะสูญสิ้น แต่ทั้งนี้ต้องอยู่บนหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้
“การค้าระหว่างประเทศมีการคุยกันในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมานานแล้ว เพียงแต่ว่า ที่ผ่านมาความรุนแรงในการใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมยังไม่รุนแรงมากนัก มาช่วงหลังมีการใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น”
น.ส.สุนันทา กล่าวถึงในอนาคตสิ่งที่เราคาดไม่ถึงเกี่ยวกับการป่าไม้ กฎระเบียบที่จะออก หรือนำปฏิบัติในประเทศนั้น จะมีกฎระเบียบเรื่องการค้าโลกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ เช่น ล่าสุดสหภาพยุโรปออกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรป เรื่องการค้าไม้ที่ไม่ถูกกฎหมาย การตัดไม้ทำลายป่าและแผนปฎิบัติการ ( Forest Law Enforcement, Governance and trade) หรือ EU-FLEGT
“ที่อียู ออกกฎระเบียบ EU-FLEGTเพราะมองว่า การส่งสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์เข้าไปอียูจะต้องออกเอกสารที่มาความถูกต้องของสินค้าไม้นั้นๆ ว่า ถูกตัดมาจากป่าอย่างไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้วันที่ 3 มีนาคม 2556 และจะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไม้และสิ่งแวดล้อมของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”
สำหรับประเทศไทย ผู้อำนวยการ สำนักยุทธศาสตร์การเจรจาการค้าฯ กล่าวว่า ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยเราจะปรับตัวอย่างไรในการที่จะผ่านพ้นอุปสรรคการค้าเช่นนี้ไปได้ เพราะนอกจากการให้ความรู้ เตรียมความพร้อมแล้ว การออกใบรับรอง ว่าผลิตภัณฑ์ไม้ที่ส่งออกไปอียู มาจากการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ก็สำคัญ แม้ว่า ขณะนี้ในส่วนของภาคเอกชนมีการออกใบรับรองมานานแล้ว แต่ค่าใช้จ่ายยังค่อนข้างสูง
"กฎระเบียบที่อียูออกมาครั้งนี้ ในนามรัฐบาล เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ เพราะจะจุดประกายให้ประเทศอื่นๆ ตื่นตัวและออกมาตรการแบบนี้มาเช่นกัน ดังนั้นเราจะจัดการ ปรับตัวให้เร็วขนาดไหน"
น.ส.สุนันทา กล่าวอีกว่า ประเทศไทยต้องไปเจรจาข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Voluntary Partnership Agreements-VPAs) โดยทางภาครัฐต้องรีบขอกรอบการเจรจาจากรัฐสภาให้ทัน วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 อีกทั้งต้องเร่งการเจรจากับอียู เพื่อให้บรรลุข้อตกลง จนมีการออกใบรับรอง EU-FLEGT เพื่อสามารถส่งออกสินค้าไม้และผลิตภัณฑ์ไปอียูได้
ขณะที่นายประยุทธ หล่อสุวรรณศิริ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ต่อการประกาศใช้มาตรการ FLEGT ในประเทศไทย กล่าวว่า EU-FLEGT เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว โดยวันที่ 3 มีนาคม 2556 อียูบอกว่า ไม้ ผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากไม้ทั้งหมดที่จะเข้าประเทศอียู ต้องมีการรับรองว่า ไม้นั้น หรือวัตถุดิบ เช่น กระดาษ ต้องมีการรับรอง ไม้ตัดมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
“แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายควบคุมเกี่ยวกับการทำไม้ มีการทำไม้จากสวนป่าที่ขึ้นทะเบียน ไม้ยางพาราที่ดินเอกชน ขณะที่โรงงานที่ผลิตไม้ยางพารา ก็พบปัญหา ว่า ใครจะรับรองก่อนส่งออกไปอียู”
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการ EU-FLEGT ด้วยว่า ขณะนี้กรมป่าไม้ มีการเสนอกรอบลงนามความตกลง VPAs ต่อคณะกรรมการ ระดับกระทรวงฯ แล้ว อยู่ในขั้นตอนการเสนอกรอบ ให้กระทรวงลงนาม และเสนอต่อไปยังคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ หลังจากนั้นจะนำเข้ารัฐสภา เพราะเกี่ยวข้องกับมาตรา 190 ขณะเดียวกัน กรมป่าไม้ได้ตั้ง "สำนักรับรองการป่าไม้" ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ เพราะเชื่อว่ ไม่เฉพาะอียูเท่านั้น ประชาคมอาเซียน ก็จะมีเรื่องการรับรองการป่าไม้ คล้ายๆ กับ EU-FLEGT
เว็บไซต์ http://www.euflegt.efi.int/portal/home/vpa_countries ระบุ ข้อมูลล่าสุด มี 6 ประเทศลงนามข้อตกลง VPA และ อีก 6 ประเทศอยู่ในขั้นตอนการเจรจาต่อรองกับอียู นอกจากนี้มี 15 ประเทศทั้งในแอฟริกา เอเชีย (เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ) อเมริกาใต้ ที่แสดงความสนใจข้อตกลง VPAs