ศาลปกครองปัดคำร้อง คปท. 'ไม่เลิกโมเดลโลกร้อนอุทยานฯ'
เครือข่ายที่ดินทั่วประเทศอุทธรณ์ศาลปกครอง ‘เลิกโมเดลโลกร้อน’ ยุติคดีที่ดินอุทยานฯ ฟ้องชาวบ้าน ศาลปัดเหตุคดีไม่ถึงที่สุด
วันที่ 14 ก.ย. 55 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) พร้อมชาวบ้าน 10 คน เข้ายื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งรับฟ้อง ‘คดีแบบจำลองสำหรับการประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทำลายป่าไม้’ (คดีโลกร้อน) ไว้พิจารณา
สืบเนื่องจากคปท. ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ ต่อศาลปกครอง เมื่อ 28 พ.ค. 55 เพื่อระงับคำสั่งการใช้แบบจำลองคดีโลกร้อนกับชาวบ้าน 23 คน กระทั่ง 23 ก.ค. 55 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับฟ้อง โดยให้เหตุผลว่า รายละเอียดหนังสือสั่งการของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมทั้งแบบจำลองดังกล่าวเป็นเพียงการวางหลักเกณฑ์ภายในฝ่ายปกครอง มิใช่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำการหรือสั่งการต่อผู้บุกรุกแผ้วถางหรือทำลายป่าโดยตรง โดยเป็นการสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองประเมินค่าเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อทราบจำนวนที่ชัดเจนสำหรับการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งต่อศาลต่อไป ส่วนศาลจะพิจารณากำหนดให้ผู้กระทำผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใด ย่อมขึ้นอยู่กับการนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคู่กรณีต่อศาล หนังสือสั่งการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมิใช่คำสั่งที่มีสภาพบังคับโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสามคน ผู้ฟ้องคดีทั้งยี่สิบสามคนจึงมิใช่ผู้เดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจได้รับความเดือดร้อน
อย่างไรก็ตาม คปท. คณะทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ และชาวบ้านไม่เห็นด้วยกับการไม่รับฟ้องของศาลปกครอง โดยนางปราณี นานช้า ชาวบ้านต.ปะเหลียน อ.ปะเหลียน จ.ตรัง หนึ่งในผู้ได้รับความเดือดร้อน เปิดเผยว่า รู้สึกกังวลที่ศาลปกครองไม่รับฟ้องให้ยุติแบบจำลองโลกร้อน เพราะตนคงไม่มีเงินจ่ายกรมอุทยานฯ และกรมป่าไม้หลักแสนบาทได้ ซึ่งหากการยื่นอุทธรณ์ให้ระงับครั้งนี้ไม่ประสบความสำเร็จอีก คงจะเรียกร้องขอความเป็นธรรมต่อไป
ด้านนายกฤษดา ขุนณรงค์ หนึ่งในทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดีครั้งนี้ กล่าวว่า เราต้องการยืนยันต่อศาลปกครองว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมป่าไม้นำแบบจำลองคดีโลกร้อนมาใช้บังคับกับประชาชนไม่ชอบธรรม เพราะยังมีข้อโต้แย้งมากมายทั้งจากนักวิชาการ สื่อมวลชน ตลอดถึงองค์กรอิสระว่าแบบจำลองไม่ถูกต้องทางวิชาการและไม่สามารถใช้เรียกค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมได้ ซึ่งที่ผ่านมาทั้งสองหน่วยงานไม่เคยรับฟังและแก้ไขให้ถูกต้อง ดังนั้นจึงเห็นว่าศาลปกครองจะเป็นที่พึ่งในการเพิกถอนหรือแก้ไขการบังคับใช้แบบจำลองดังกล่าว แม้ศาลปกครองจะไม่รับคำฟ้องก่อนหน้า แต่การเข้ายื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดครั้งนี้เพื่อประชาชนจะขอยืนยันใช้สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป แม้รูปคดีจะริบหรี่ก็ตาม
ขณะที่น.ส.จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว หนึ่งในทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจผู้ฟ้องคดี กล่าวถึงคำอุทธรณ์คดีประเด็นที่ 1 คือ การที่ศาลปกครองพิจารณาว่าชาวบ้านไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเรียกค่าเสียหายทางคดีโลกร้อน ความจริงเราเสียหายแล้ว เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐใช้แบบจำลองดังกล่าวประเมินและคำนวณค่าเสียหายเท่ากับสร้างภาระเกินสมควรในการเข้าไปพิสูจน์ความผิดกับค่าเสียหายที่ไม่ได้ก่อ ประเด็นที่ 2 การทำมาหากินในพื้นที่ของชาวบ้านเป็นสิทธิชุมชนที่รับรองโดยรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีสิทธิละเมิดเด็ดขาด ศาลจึงต้องคุ้มครองสิทธิที่ถูกละเมิดดังกล่าว.