‘ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล’: นักปกครองท้องถิ่นต้องเดินตามทศพิธราชธรรมในหลวง
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา แสดงปาฐกถาพิเศษ ‘คัมภีร์ชนะใจประชาชน’ ในการประชุมท้องถิ่นไทย โดยสถาบันพระปกเกล้า เร็ว ๆ นี้ ใจความว่า...
คนไทยคือรากแก้ว ‘มิใช่รากหญ้าที่เป็นอาหารวัวควาย’
ผมเป็นข้าราชการคนหนึ่งที่เคยฝ่าฟันอุปสรรคทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ หลายปีก่อนมีการอนุมัติสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ใครจะคิดว่าการเคลื่อนย้ายชาวบ้านกว่า 3 พันครัวเรือนออกจากพื้นที่จะประสบความสำเร็จง่ายดาย หลายคนอ้างว่าชาวบ้านยอมให้สร้างเขื่อนเพราะเป็นโครงการพระราชดำริฯ
“ความจริงแล้วโครงการพระราชดำริฯ ทำยากเสมอ เพราะใช้อำนาจเผด็จการบังคับไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงห้ามไม่ให้ใครเอ่ยอ้างพระองค์เด็ดขาด”
ความสำเร็จของโครงการ เกิดจากความรอบคอบในการศึกษาวิจัยผลกระทบรอบด้าน และการร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมคิด ตามสิทธิของคณะทำงาน เราทะเลาะกันอย่างสันติ ไม่ตีกันเลย จนสุดท้ายเกิดความเข้าใจตรงกัน ทำให้การขับเคลื่อนรวดเร็ว
ดังนั้นหลักการเอาชนะใจประชาชนจะต้อง “เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาร่วมกัน” ดังแนวทางที่พระองค์ทรงวางไว้ ไม่ใช่เฉพาะเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น การพัฒนาด้านอื่น ๆ ก็จำเป็นเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือการพัฒนาชาวบ้านผู้เป็นหัวใจสำคัญของชาติ โดยเปรียบคนไทยดังรากแก้ว
ผมเกลียดจริง ๆ หากใครเรียกรากหญ้า หญ้าเป็นอาหารวัวควายหรือสนามหญ้าที่โดนเหยียบย่ำ อย่าลืมว่าประเทศไทยเปรียบดังต้นไม้ใหญ่จะต้านทานลมพายุได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของรากแก้วที่ช่วยยึดเหนี่ยว ดังที่ในหลวงเคยรับสั่ง “ชนบทอยู่ได้ ประเทศอยู่ได้ ชนบทอยู่ไม่ได้ ประเทศอยู่ไม่ได้”
แนะ ‘ใช้ความดีซื้อหัวใจประชาชน’
ต้นแบบการชนะใจประชาชนคนไทยมีอยู่แล้ว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสอนวิธีการปฏิบัติไว้มากมาย โดยไม่ได้ทำเกินหน้าที่ของพระองค์แต่อย่างใด ทราบดีว่าขอบข่ายหน้าที่มีเพียงแนะนำสั่งสอน จึงทรงพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระองค์ทรงรับสั่งว่าเราจะ ‘ครองแผ่นดิน’ มิใช่ ‘ปกครองแผ่นดิน’ ดังเช่นการครองเรือนหรือครองสมณะเพศที่ไร้อำนาจแตกต่างจากการปกครองที่ให้อำนาจแก่นักปกครอง ขณะที่พระองค์ไม่มีอำนาจ แต่ดูแลประชาชนด้วยความรักและความความเมตตา
จึงอยากฝากถึงนักปกครองท้องถิ่นที่ดีต้องใช้อำนาจด้วยความชอบธรรม คำนึงถึงหลักประโยชน์สุขเป็นสำคัญ ไม่ใช่ยึดถือความร่ำรวยใช้จ่ายงบประมาณโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ประชาชน หากนำเงินซื้อใจประชาชน ซื้อเดี๋ยวนั้นอาจได้เดี๋ยวนั้น แต่หากหยุดซื้อเมื่อใดประชาชนจะจากไปเช่นกัน สรุปว่า “เงินซื้อใจคนได้เพียงชั่วคราว แต่หากนำความดีซื้อหัวใจประชาชนจะพบความสำเร็จและยั่งยืนมากกว่า”
‘ทศพิธราชธรรม’ หลักปฏิบัติครองแผ่นดินที่ควรยึดแบบอย่าง
หลักทศพิธราชธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดถือปฏิบัติ เป็นวิธีการที่เหมาะสำหรับนักปกครองที่ดีและสมควรยึดเป็นแบบอย่างมี 10 ข้อ ได้แก่ 1.ทาน พฤติกรรมการให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย นักปกครองที่ดีจึงต้องรู้จักให้โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน 2.ศีล ไม่ว่าศาสนาใดล้วนสอนคนให้เป็นคนดี จึงต้องส่งเสริมให้รักษาศีลอย่างน้อย 5 ข้อ 3.บริจาค การให้ของเล็กเพื่อประโยชน์ที่ใหญ่กว่า เช่น บริจาคเงิน 5 บาทเพื่อนำไปสร้างโรงเรียนหนึ่งแห่ง
4.อาชวะ ยอมรับหรือไม่ว่าปัจจุบันการคอร์รัปชั่นได้กินทั่วทุกตารางนิ้วของประเทศ จึงร้องขอให้หยุดพฤติกรรมดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยแช่งไว้ว่าใครทุจริตนิดเดียวขอให้มีอันเป็นไป ซึ่งตนถวายงานมา 35 ปี ไม่เคยเห็นพระองค์มีวาจารุนแรงมาก่อน แสดงว่าวันนั้นเหลืออดเต็มที ฉะนั้นความซื่อสัตย์สุจริตเป็นสิ่งที่ข้าราชการทุกคนควรปฏิบัติ 5.มัททวะ ต้องคำนึงเสมอว่าไม่ว่าตนจะใหญ่โตแค่ไหนต้องรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งเป็นคุณสมบัติของคนไทย ทุกครั้งที่ผมลงพื้นที่จะกำชับผู้ติดตามเสมอว่าห้ามให้รถตำรวจเปิดไฟสัญญาณเสียงดังรบกวนชาวบ้านนำขบวนเด็ดขาด เพราะเป็นกิริยาที่ไม่สุภาพ
6.ตบะ ต้องมีความอยากทำ ต้องสร้างเจตนารมณ์ว่าอยากปฏิบัติ 7.อโกปะ ต้องระงับความโกรธ 8.อวิหิงสา ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน อย่ารุกป่า เบียดเบียนธรรมชาติ และห้ามสร้างทุกข์ให้คนอื่น เพราะเขาจะสร้างทุกข์กลับมาไม่รู้จบ 9.ขันติ เมื่อเกิดสิ่งดีให้เฉย ร้ายให้เฉย พยายามตั้งสติแก้ไขโดยใช้ความอดทนและความใจเย็น 10.อวิโรธนะ ยึดถือความถูกต้อง ในที่นี้มิได้หมายถึงกฎหมาย แต่ให้คำนึงถึงความเหมาะสม ดังเช่นการก่อสร้างรีสอร์ทตึกสูงบริเวณตลาดน้ำอัมพวา ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เคยมอบรางวัลให้เป็นชุมชนอนุรักษ์ดีเด่นของโลก แต่บางคนกลับรื้อทิ้ง แม้จะไม่ผิดกฎหมายแต่ถือว่าไม่เหมาะสม
“เมื่อใดที่นักปกครองท้องถิ่นทุกคนปฏิบัติได้ทั้ง 10 ข้อจะสามารถชนะใจประชาชนได้ หากไม่ถูกครอบงำด้วยกิเลสตัณหารอบตัว” .