มูลนิธิหมอชาวบ้าน-กองทุนเพื่อการศึกษา-ศูนย์ชีวิตใหม่ คว้าThailand NGO Awards’12
ร็อกกี้เฟลเลอร์-รีซอร์สอัลลิอันซ์-คีนัน มอบรางวัล Thailand NGO Awards แก่มูลนิธิหมอชาวบ้าน-กองทุนเพื่อการศึกษา-ศูนย์ชีวิตใหม่ เผยองค์กรพัฒนาเอกชนขาดเงินทุนทำงานพัฒนา
วันที่ 13 ก.ย. 55 ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล เลอ คองคอร์ด มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ร่วมกับ เดอะ รีซอร์ส อัลลิอันซ์ และ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย มอบรางวัล “Thailand NGO Awards 2012" หรือ รางวัลองค์กรพัฒนาเอกชนแห่งประเทศไทย 2555 โดย มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (อีดีเอฟ) รับรางวัลองค์กรพัฒนาเอกชนยอดเยี่ยมประเภทองค์กรขนาดใหญ่พร้อมเงินรางวัล 3 แสนบาท,มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่ รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทองค์กรขนาดกลางพร้อมเงินรางวัล 1.5 แสนบาท และ มูลนิธิหมอชาวบ้าน รับรางวัลยอดเยี่ยมประเภทองค์กรขนาดเล็กพร้อมเงินรางวัล 1 แสนบาท โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่จากทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขันจำนวน 100 องค์กร
มร.ริชาร์ด เบิร์นฮาร์ด กรรมการอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มการสนับสนุนเงินทุนจากองค์กรระหว่างประเทศกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชนที่รับแหล่งทุนจากยุโรป ดังนั้นองค์กรจึงจำเป็นต้องพัฒนาความพร้อมของตนเพื่อดึงดูดแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ภายใต้การบริหารจัดการที่ดี เนื่องจากปัจจุบันผู้สนับสนุนไม่ได้เป็นเพียงผู้ออกเงินเท่านั้น แต่ยังต้องการเห็นผลลัพธ์ที่คุ้มค่าในการพัฒนาสังคมด้วย
โดยการมอบรางวัลดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกองค์กรพัฒนาเอกชน(NGO)ที่มีระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาลที่ดีและโปร่งใส เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมายของแหล่งทุนผู้สนับสนุน โดยเกณฑ์การตัดสินรางวัลพิจารณาจาก 6 มิติ คือ 1. มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 2. มีการสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ 3. เป็นองค์กรที่มีวิธีปฏิบัติเป็นเลิศในด้านการระดมทรัพยากร 4. ดำเนินงานชัดเจนโปร่งใส ตรวจสอบได้ 5. มีผลลัพธ์การดำเนินงานที่ดี 6. เป็นองค์กรที่มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะสร้างความยั่งยืน
น.ส.นีลาม มัคคิจานิ ซีอีโอ เดอะ รีซอร์ส อัลลิอันซ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่ริเริ่มก่อตั้ง NGO Awards ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเอเชีย กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทยองค์กรพัฒนาเอกชนนับว่ามีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมด้านการศึกษา สาธารณสุข สวัสดิภาพทางสังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับสังคมได้ดี โดยหวังว่าการมอบรางวัลดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้องค์กรพัฒนาเอกชนในไทยอีกกว่า 10,000 แห่งที่ยังไม่จดทะเบียนหันมาจดทะเบียนอย่างถูกต้อง(ปัจจุบันมีองค์กรพัฒนาเอกชนที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยประมาณ 3,000 แห่ง)
ด้านนายอัศวิน ดายาล ผู้อำนวยการ(เอเชีย) มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ กล่าวว่า แม้ว่ากว่า 80 องค์กรจาก 100 องค์กรที่เข้าประกวดจะเป็นองค์กรขนาดกลางและเล็ก แต่ก็ถือเป็นสัญญาณอันดีที่บ่งบอกถึงการพัฒนาและความสามารถที่สูงขึ้น โดยเชื่อว่าภาคส่วนองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข็มแข็งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้คนยากจนและคนอ่อนแอได้เข้าถึงโอกาสที่สามารถพัฒนาชีวิตได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าโครงการ Thailand NGO Awards ในปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชน 12 องค์กรที่ได้รับการคัดเลือกเข้าชิงรางวัลในรอบสุดท้าย โดยแบ่งเป็น ประเภทองค์กรระดับเล็ก ได้แก่ 1.มูลนิธิหมอชาวบ้าน (ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม) ก่อตั้งในปี 2522 ภายใต้การนำของ ศ.นพ.ประเวศ วะสีและคณะ โดยมุ่งสนับสนุนให้ชาวบ้านทุกคนเป็นหมอและมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพตนเอง 2.สมาคมคนตาบอด จ.พิษณุโลก (รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง) ก่อตั้งในปี 2544 ให้บริการฟื้นฟูสมารรถภาพแก่คนตาบอดและส่งเสริมให้ได้รับโอกาสที่เท่าเทียม เช่น อบรมวิชาชีพ 3.โครงการฟื้นฟูผู้พิการชุมชน มูลนิธิธิดาเมตตาธรรม(รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง) ก่อตั้งในปี 2529 ในพื้นที่จ.เลย เพื่อรองรับผู้อพยพจากจ.เชียงขวางของประเทศลาว โดยเข้าไปฟื้นฟูผู้อพยพที่เป็นโรคเรื้อนและดำเนินงานส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวม้ง 4.สมาคมคนตาบอดชาวอีสาน(รางวัลชมเชย) ก่อตั้งในปี 2523 ให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆแก่คนตาบอดในภาคอีสานที่เข้ามาทำงานและศึกษาในกรุงเทพฯ
ประเภทองค์กรขนาดกลาง 5.มูลนิธิศูนย์ชีวิตใหม่(ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม) ก่อตั้งปี 2529 โดยดร.พอลและแหม่มอิเลนมิชชันนารีชาวอเมริกัน ดำเนินการช่วยเหลือเด็กและสตรีชนเผ่าที่ถูกเอาเปรียบโดยสนับสนุนด้านการศึกษาและวิชาชีพและส่งเสริมการสืบทอดวัฒนธรรมชนเผ่า 6.สมาคมคนพิการจังหวัดสมุทรปราการ(รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง) ก่อตั้งในปี 2525 ให้ความช่วยเหลือผู้พิการที่ถูกทอดทิ้ง และเป็นกระบอกเสียงในการรักษาสิทธิแทนคนพิการ 7.มูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูพัฒนาเด็กและครอบครัว(รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง) ก่อตั้งในปี 2541 โดยดร.อัมพร วัฒนาวงศ์ ดำเนินงานเพื่อยกระดับชีวิตเด็กผู้ยากไร้ เด็กกำพร้าและครอบครัวที่ยากจน 8.มูลนิธิศูนย์มิตรภาพมนุษย์ล้อเอเชีย(ประเทศไทย) หรือ WAFCAT(รางวัลชมเชย) ก่อตั้งในปี 2542 เป็นองค์กรสาธารณกุศลในญี่ปุ่น ดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือคนพิการทางการเคลื่อนไหวให้มีเก้าอี้ล้อเข็นที่เหมาะสม
ประเภทองค์กรขนาดใหญ่ 9.มูลนิธิกองทุนการศึกษาเพื่อการพัฒนา (EDF) (รางวัลยอดเยี่ยม) ก่อตั้งในปี 2530 เพื่อบรรเทาความยากจน พัฒนาการศึกษา โดยช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสให้เข้าถึงการศึกษาภาคบังคับ โดยมีภารกิจครอบคลุม 5 ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา พม่าและเวียดนาม 10.มูลนิธิสงเคราะห์เด็กยากจน ซี.ซี.เอฟ ในประเทศไทย (รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง) ก่อตั้งในปี 2518 จากความช่วยเหลือของ Christian Children’s Fund,Inc. สหรัฐอเมริกา ให้ความช่วยเหลือเด็กยากไร้ด้านการศึกษาลัความเป็นอยู่ใน 47 จังหวัดของไทย 11. มูลนิธิที่อยู่อาศัย ประเทศไทย(รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง) ก่อตั้งในปี 2541 ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนมีโอกาสในการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เรียบง่ายน่าอยู่ให้แก่ผู้ขาดแคลน และ12.มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (รางวัลชมเชย) ก่อตั้งขึ้นปี 2523 เพื่อรณรงค์ให้คนไทยลดการสูบบุหรี่และสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่แก่คนรุ่นใหม่