ป.ป.ช.แถลงอัด ‘เอแบคโพลล์’ ชี้นำค่านิยมการทุจริตผิดให้สังคม
ป.ป.ช.ตีแผ่ผลการสำรวจทัศนคติของสังคมไทยต่อการทุจริต 'เอแบคโพลล์' ฉะชี้นำค่านิยมที่ผิดให้คนไทย แนะตั้งคำถามเป็นกลาง-น่าเชื่อถือ
วันที่ 13 กันยายน สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงชี้แจงตามที่มีโพลล์สำรวจความคิดเห็นของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ สำรวจความเห็นเกี่ยวกับทัศนคติของสังคมไทยต่อการทุจริต และเผยแพร่ผลสำรวจเป็นระยะนั้น ว่า ผลการสำรวจนี้จะประกาศในช่วงที่มีการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตโดยกลุ่มต่างๆ ในสังคม เอแบคโพลล์จะพบว่าแนวโน้มทัศนคติของคนไทย คือการยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริต แต่ขอให้ตนเอง ได้ประโยชน์ ล่าสุดได้ประกาศว่าการยอมรับได้เพิ่มสูงถึงร้อยละ 65.8
เมื่อพิจารณาวิธีและแบบสำรวจแล้ว พบว่าผู้จัดทำได้ตั้งคำถามว่า "ถ้ามีการทุจริต แต่ประเทศชาติเจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดี และตัวท่านเองก็ได้ประโยชน์ ท่านยอมรับการทุจริตได้หรือไม่" คำถามในลักษณะนี้เรียกว่าเป็นคำถามนำ ซึ่งนักวิจัยมืออาชีพจะหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด การถามคำถามแบบนี้ จึงแสดงถึงความไม่รับผิดชอบขาดจรรยาบรรณในวิชาชีพของผู้วิจัย
หากตั้งคำถามอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นคำถามนำเช่นกันว่า "ในแต่ละปี งบประมาณแผ่นดินสูญหายไปจำนวนมหาศาลไปเข้ากระเป๋าคนทุจริต ทำให้ขาดงบประมาณเพื่อพัฒนาสังคม พัฒนาสุขภาพ การศึกษา มาตรฐานความปลอดภัยในสังคม ฯลฯ ท่านยอมรับการทุจริตได้หรือไม่" ก็คงจะได้คำตอบที่ตรงกันข้าม การตั้งคำถามนำ เป็นการขัดจรรยาบรรณข้อที่ว่าการดำเนินงานวิจัย จะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม และต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและต่องานที่ทำ ผลสำรวจนี้ จึงขาดความน่าเชื่อถือในสายตาของนักวิจัยมืออาชีพ
ในเรื่องของการเผยแพร่โพลล์นี้ มีลักษณะที่เป็นผลลบกับสังคม ทำให้คนยอมจำนนกับการทุจริต และความชั่ว ขัดกับจรรยาบรรณที่ว่านักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ ในการเผยแพร่ผลงานวิจัยในทางสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์ทางวิชาการและสังคม
ในส่วนงานสำรวจของสถาบันอื่น เช่น มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เรื่อง "คนไทย กับปัญหาคอร์รัปชัน" ซึ่งพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 76.63) มองว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องสำคัญและระบุว่าการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาต่อประเทศชาติและยืนยันพร้อมจะแจ้งหากพบเบาะแสการคอร์รัปชั่น เป็นการสำรวจที่น่าเชื่อถือ เพราะมีการตั้งคำถามกลางๆ ว่าคิดเห็นอย่างไร และยังถามเหตุผลต่อไปด้วย
โดยพบว่า ประชาชนร้อยละ 72.11 ระบุว่าปัญหาการคอร์รัปชั่นส่งผลกระทบต่อตนเอง เพราะเป็นการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในทางที่ไม่โปร่งใส ประชาชนร้อยละ 27.89 เห็นว่าไม่มีผลกระทบ เพราะไม่เดือดร้อนมาถึงตนเองและไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ส่วนด้านผลกระทบ จากปัญหาการคอร์รัปชั่นต่อประเทศชาติ พบว่า ประชาชนร้อยละ 98.45 ระบุว่าปัญหาดังกล่าวมีผลกระทบต่อประเทศชาติ เพราะทำให้ประเทศพัฒนาล่าช้า ไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร รวมทั้งทำให้ประเทศล่มจม มีเพียงร้อยละ 1.55 เท่านั้นที่ระบุว่าไม่มีผลกระทบต่อประเทศชาติ เพราะเป็นเรื่องปกติ
นอกจากนี้ ประชาชนร้อยละ 86.78 ระบุว่าการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาต่อประเทศชาติในระดับมากถึงมากที่สุด ท้ายสุดประชาชนร้อยละ 59.67 ระบุว่าจะแจ้งเบาะแสหากพบเห็นการคอร์รัปชั่น แต่อาจยังมีความเข้าใจผิดเรื่องช่องทางการแจ้ง คือ ร้อยละ 39.89 จะแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ รองลงมา ร้อยละ 19.83 แจ้งกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และร้อยละ 13.64 แจ้งกับกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน
ทั้งนี้ หากยังคงมีการสำรวจความคิดเห็นที่มีลักษณะชี้นำคนในสังคมให้เห็นด้วยและยอมรับการทุจริตหากตัวเองได้รับประโยชน์ด้วยนั้น ถือว่าเป็นการสร้างค่านิยมที่ผิดต่อสังคม จะสร้างความสับสนให้กับคนทุกระดับที่เห็นว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำกัน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบผลเสียหายต่อชาติบ้านเมือง