หวั่นนโยบายภาษาแห่งชาติขึ้นหิ้ง แนะบรรจุหลักสูตรก่อนภาษาท้องถิ่นสูญ
เวทีระดมความเห็นหวั่นนโยบายภาษาแห่งชาติขึ้นหิ้ง หวังรบ. นี้ทำจริง ก่อนภาษาท้องถิ่น – ชาติพันธุ์สูญ กระทบสิทธิคนชายขอบ ราชบัณฑิตชี้เออีซี’ 59 ไทยต้องเร่งเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้าน
วันที่ 13 ก.ย. 55 ราชบัณฑิตยสถาน จัดเสวนาวิชาการ ‘นโยบายภาษาแห่งชาติ’ ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็นจัดทำแผนยุทธศาสตร์ สืบเนื่องจากราชบัณฑิตยสถานทำโครงการนโยบายภาษาแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 50 เพื่อวางแผนนโยบายภาษาของประเทศไทย และได้นำเสนอนโยบายต่อรัฐบาลเบื้องต้น ประกอบด้วย 6 นโยบายหลัก ได้แก่ 1.นโยบายภาษาไทยสำหรับนักเรียนไทยและคนไทย รวมทั้งการสอนภาษาไทยให้ชาวต่างชาติในฐานะภาษาต่างประเทศ 2.นโยบายภาษาท้องถิ่น ทั้งภาษาตระกูลไทและภาษาตระกูลอื่น ๆ 3.นโยบายภาษาเพื่อเศรษฐกิจ ภาษาเพื่อนบ้าน และภาษาการงานอาชีพ 4.นโยบายภาษาสำหรับผู้เข้ามาแสวงหางานทำในประเทศไทย 5.นโยบายภาษาสำหรับคนพิการทางสายตาและผู้พิการทางการได้ยิน และ6.นโยบายภาษาสำหรับการแปล การล่าม และล่ามภาษามือ
ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและกำหนดแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายภาษาแห่งชาติแล้ว เมื่อ 28 มี.ค. 55 โดยมีนายยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการ และได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 7 คณะเรียบร้อยแล้ว
ศ. ดร.อุดม วโรตม์สิกขดิตถ์ ประธานคณะกรรมการโครงการนโยบายภาษาแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีประเทศบรรจุ ‘นโยบายภาษา’ ไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว 125 ประเทศ ยกเว้นไทยที่รัฐบาลยังไม่ให้ความสนใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นมี 39 ประเทศในยุโรปให้สัตยาบันลงนามในปี 31 เกี่ยวกับนโยบายปกป้องภาษาและวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยนโยบายภาษาส่วนใหญ่มักรวมในนโยบายการศึกษา ซึ่งยุโรปกำหนดให้นักเรียนต้องเรียนภาษาต่าง ๆ 3 ภาษาหรือมากกว่านั้น สำหรับไทยสนับสนุนให้ศึกษาอย่างน้อย 4 ภาษา ได้แก่ ภาษาแม่ ภาษาประจำชาติ ภาษาอังกฤษ และภาษาเพื่อนบ้านหรือเศรษฐกิจอื่น แต่หากให้ดีควรศึกษาถึง 6 ภาษา เพื่อสามารถสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ พร้อมสนับสนุนสิทธิทางภาษาสำหรับคนพิการด้วย
นอกจากนี้อยากให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งจัดหางบประมาณเพิ่มเติมช่วยเหลือครูผู้สอนในท้องถิ่นทุรกันดารให้ได้รับค่าตอบแทนตามอัตราวุฒิการศึกษา มิใช่ให้เพียง 4,000 – 4,500 บาทเท่านั้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ครูเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประชาชนชายขอบ และสามารถฟื้นฟูรักษาภาษาชาติพันธุ์ได้ เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวสามารถติดต่อสื่อสารและเข้าถึงการบริการของรัฐอย่างเสมอภาค
ด้านนางดอริส วิบุลศิลป์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ปี 59 ไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แม้จะบัญญัติในหลักการให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการในภูมิภาค แต่คนไทยยังต้องศึกษาภาษาอื่นอีก เพื่อข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ เช่น ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งต้องส่งเสริมในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาและให้ครอบคลุมถึงประชาชนระดับท้องถิ่น โดยไม่ทิ้งภาษาชาติพันธุ์ ที่สำคัญรัฐบาลต้องสนับสนุนให้ประชาชนแนวชายแดนสามารถสื่อสารภาษาประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย เช่น ภาคเหนือ-พม่า ลาว จีน ภาคอีสาน – ลาว กัมพูชา ภาคใต้ – มาเลเซีย
นางดอริส ยังกล่าวตำหนิการทำงานของรัฐบาลทุกสมัยว่า นโยบายภาษาแห่งชาติเกิดขึ้นมาหลายครั้ง แต่ไม่มีหน่วยงานใดรับหน้าที่พัฒนาต่อ จนสุดท้ายนโยบายดังกล่าวถูกเก็บขึ้นหิ้ง จึงอยากสร้างความเข้าใจว่า นโยบายภาษาจะฝากความรับผิดชอบให้กระทรวงศึกษาธิการคงสำเร็จยาก เพราะเปลี่ยนรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง นโยบายก็ถูกเปลี่ยนไร้การสานต่อ จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือกัน มิเช่นนั้นอาจรอถึงชาติหน้าได้
ศ.ดร.สุวิไล เปรมศรีรัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายภาษาแห่งชาติ : นโยบายภาษาท้องถิ่น ทั้งภาษาตระกูลไทยและภาษาตระกูลอื่น ๆ กล่าวว่า ประเทศในเอเชียอาคเนย์มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมชาติ และมีภาษาท้องถิ่นมาก ถึงขนาดเคยมีคำกล่าวว่า ‘สิ้นภาษา เหมือนสิ้นชาติ’ เช่น มอญกับมลายู โดยไทยมี 70 กลุ่มภาษา 5 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลไท 24 กลุ่มภาษา ออสโตรเชียติก 22 กลุ่มภาษา จีน-ทิเบต 20 กลุ่มภาษา ออสโตนีเซียน 3 กลุ่มภาษา และม้ง-เมี่ยน 2 กลุ่มภาษา แต่ปัจจุบันภาษาท้องถิ่นชาติพันธุ์เหล่านี้กลับใกล้สูญหาย เพราะการบรรจุในหลักสูตรการศึกษาให้ใช้ภาษากลางเป็นภาษาราชการ ทำให้หลายคนเกิดทัศนคติทางลบต่อภาษาดั้งเดิม จึงคาดว่าอีก 100 ปี ภาษาท้องถิ่นจะหายสาบสูญถึงร้อยละ 90 ดังนั้นต้องบรรจุภาษาท้องถิ่นเป็นรายวิชาเข้าสู่ระบบการศึกษาไทยควบคู่กับภาษาไทยกลาง จะสามารถแก้ปัญหาได้ เพื่อจะมีภาษาของชาติเป็นอัตลักษณ์ที่มั่นคง และก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในเวทีเออีซีโดยไม่ต้องกลัววัฒนธรรมชาติอื่นจะกลืนกิน
ขณะที่นางจิราพร บุนนาค อดีตรองเลขาธิการสภาความมั่งคงเเห่งชาติ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนใต้กับความล้มเหลวในการอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น-ชาติพันธุ์ว่า ในอดีตรัฐบาลจำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้ภาษามลายู ซึ่งใช้สื่อสารกันในท้องถิ่น แต่ให้หันมาใช้ภาษาไทยกลางแทน ทำให้ประชาชนในพื้นที่รู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นการทำลายวัฒนธรรมและเริ่มหวาดระแวง เกิดความไม่เข้าใจกันในการสื่อสาร เนื่องจากมีเพียงส่วนน้อยที่เขียนและอ่านภาษาไทยกลางได้ จึงเป็นส่วนหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา แต่เมื่อระยะหลังรัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับภาษาถิ่น ความรุนแรงจึงคลี่คลาย ทั้งนี้ยังเรียกร้องให้ผลักดันภาษาอาหรับเข้าในนโยบายภาษาแห่งชาติด้วย เพราะอนาคตกลุ่มประเทศอาหรับจะมีส่วนสำคัญทางเศรษฐกิจโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการรับฟังความคิดเห็นในกิจกรรมเสวนาครั้งนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากหลายฝ่าย อย่างไรก็ตามตัวเเทนผู้พิการทางการได้ยินได้เสนอให้ทุกฝ่ายให้ความสำคัญการบรรจุภาษามือท้องถิ่น เเละพัฒนาศักยภาพผู้พิการในชุมชนห่างไกลให้ได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมเเละถูกต้องด้วย.