กษ.ภูมิใจงานรอบปี ราคาผลผลิตมีเสถียรภาพ-คาดความสุขเกษตรเพิ่ม
กษ.โชว์ผลงานรอบปี เยียวยาเกษตรกรน้ำท่วม-รักษาเสถียรภาพราคาผลผลิต—ขับเคลื่อนสภาเกษตรกรแห่งชาติ ตั้งเป้าดันครัวไทยสู่ครัวโลก-จัดโซนนิ่งเกษตร คาดดัชนีความสุขเกษตรกรเพิ่ม
วันที่ 13 ก.ย. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมแถลงผลการดำเนินงานกระทรวงเกษตรฯในรอบ 1 ปี โดยนายธีระกล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯมีนโยบายเร่งด่วนในปีแรกที่เร่งดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล ดังนี้ 1. การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ เช่น การป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง โดยจัดตั้งกรมฝนหลวงและการบินเกษตรการ เร่งรัดโครงการชลประทานตั้งแต่ขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่ โดยสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้กว่า 1 แสนไร่ และการขยายเขตการจัดรูปที่ดิน
2. พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรเพื่อสร้างรายได้ เช่น โครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ , ถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการประมง, ส่งเสริมการปลูกยางพาราในพื้นที่ว่างเปล่า, ปรับปรุงที่ดินกว่า 1 หมื่นไร่ส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน 3.การพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเตรียมความพร้อมของภาคเกษตรสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยเร่งดำเนินการให้ความรู้แก่เกษตรกร ประเมินศักยภาพความได้เปรียบและผลกระทบของสินค้าเกษตรในภูมิภาคอาเซียน และการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ เอ็มโอยูด้านการเกษตรเพื่อผลักดันการขยายตลาดสินค้าเกษตรกับประเทศชิลีและเกาหลี 4.ดำเนินการตามนโยบายการยกระดับราคาสินค้าเกษตรและเยียวยาความเสียหายจากภัยธรรมชาติ
สำหรับผลการดำเนินงานตามนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการเกษตร มีการผลักดันให้มี สภาเกษตรกรแห่งชาติ ขับเคลื่อนสหกรณ์ให้เป็นวาระแห่งชาติ และจัดตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการเกษตร(กรอ.กษ.)เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร โดยผลการดำเนินงานตามนโยบายที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การจัดที่ดินทำกินในเขตปฏิรูปที่ดินและการพัฒนาฟื้นฟูดินและทรัพยากรทางทะเล
นายธีระกล่าวต่อว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาความท้าทายในการดำเนินงานของกระทรวงเกษตรฯ คือ ปัญหาภัยธรรมชาติที่กระทบต่อภาคการผลิตและปัจจัยด้านการค้าที่เกิดจากการเปิดการค้าเสรี (FTA)ทำให้มีการแข่งขันสูงและมีมาตรการกีดกันไม่ให้ภาษีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดีภายใต้ภาวะดังกล่าวกระทรวงเกษตรฯมีผลการดำเนินงานที่ภาคภูมิใจดังนี้ 1.ด้านการดูแลเยียวยาเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯได้เพิ่มอัตราการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้มากที่สุดคิดเป็นเงินช่วยเหลือร้อยละ 55 ของต้นทุนการผลิต เช่น ข้าวจาก 606 บาทต่อไร่เป็น 2,222 บาทต่อไร่ โดยสามารถดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วภายใน 2 เดือนนับตั้งแต่วันที่สิ้นสุดการเกิดภัยพิบัติ
2.ยกระดับรายได้และรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร ด้วยการรับจำนำพืชผลเกษตร 3 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง โดยกระทรวงเกษตรฯเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ จัดทำผลผลิตเฉลี่ยเพื่อเป็นฐานการพิจารณา จัดทำโครงการรับจำนำข้าวและมอบหมายให้อตก.และสหกรณ์สนับสนุนรัฐบาลในการเปิดจุดรับจำนำ อย่างไรก็ดียอมรับว่าสินค้าบางตัวราคาต่ำกว่าต้นทุนที่ควรเป็น เช่น มะพร้าว 3.การจัดทำมาตรฐานสินค้า เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรองรับประชาคมอาเวียนปี 58 โดยขณะนี้มีมาตรฐานสินค้า ระบบการผลิตและข้อกำหนดทั่วไปที่กำหนดขึ้นแล้วกว่า 194 เรื่อง สิ่งที่เห็นเด่นชัดคือด้านปศุสัตว์ นอกจากได้จัดทำมาตรฐานตรวจรับรองฟาร์มมาตรฐาน (GAP) ตรวจรับรองมาตรฐานโรงงานอาหารสัตว์/โรงฆ่าแล้ว ยังได้ควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกในประเทศ ส่งผลให้ประเทศกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ยกเลิกการระงับนำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสดจากประเทศไทยตั้งแต่ 1 ก.ค.55
การมีส่วนร่วมของเกษตรกรผ่านสภาเกษตรกรแห่งชาติ โดยได้เร่งรัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติให้เร็วที่สุด ซึ่งสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้การขับเคลื่อนของสภาเกษตรกรแห่งชาติดำเนินการต่อไปได้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ด้วยการสนับสนุนให้มีกลไกการทำงานร่วมกับภาคเอกชนโดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการ ร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการเกษตร (กรอ.กษ.) เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านการผลิตและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
ทั้งนี้การดำเนินงานในปีที่ผ่านมาส่งผลให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น โดยในช่วงเดือนม.ค.- ก.ค. 55 เฉลี่ยอยู่ที่ ร้อยละ 108.52 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 54 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 104.28 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.07 ขณะที่จีดีพีภาคเกษตร ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้จีดีพีภาคเกษตร จะขยายตัวได้ต่อเนื่องเพิ่มขึ้นจากปี 2554 ประมาณร้อยละ 4.3
อย่างไรก็ตาม งานที่กระทรวงเกษตรฯ จะเร่งผลักดันการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องต่อไป เช่น สภาเกษตรกร และกรอ.กษ., ครัวไทยสู่ครัวโลก, การจัดทำเขตเศรษฐกิจสินค้าเกษตรสำคัญ (โซนนิ่ง) และการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ด้านนายณัฐวุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภารกิจในการผลักดันให้สหกรณ์เป็นวาระแห่งชาติขณะนื้อยู่ระหว่างการนำเสนอยุทธศาสตร์สู่ที่ประชุมครม.เพื่อให้ความเห็นชอบและเร่งดำเนินการในปี 56 ทันที ก้าวสำคัญคือ ได้มีการนำเสนอให้หน่วยงานภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่ต้องการสินเชื่อเพื่อการลงทุนโครงการต่างๆโดยใช้เม็ดเงินในระบบสหกรณ์เข้าซื้อพันธบัตรจากหน่วยงานต่างๆ โดยไม่ต้องหาแหล่งสินเชื่อจากต่างประเทศ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจไทยด้วย
ด้านนายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวว่า สำหรับตัวเลขดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในปีนี้ยังไม่มีการสรุปผล โดยประเมินว่าดัชนีจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ร้อยละ 0.5 (ปี54ดัชนีร้อยละ 70) สำหรับตัวเลขรายได้ของเกษตรกรว่ามีอัตราเพิ่มขึ้นหรือไม่นั้นต้องหาข้อสรุปที่ชัดเจนต่อไป
ที่มาภาพ :::: http://thaienews.blogspot.com/2011/11/blog-post_4710.html
http://region2.prd.go.th/ewt_news.php?nid=36083&filename=index