ส.ธนาคารไทย หนุนคลอด กม.หลักประกันธุรกิจฯ ขยายประเภททรัพย์สินประกันเงินกู้
คปก.เปิดเวทีอภิปราย ร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ... "ส.ธนาคารไทย-แบงค์ชาติ" เห็นพ้อง ขยายประเภททรัพย์สินประกันเงินกู้ เปิดโอกาส 'เอสเอ็มอี' เข้าถึงแหล่งเงินทุน-เพิ่มขีดแข่งขันอาเซียน
วันที่ 12 กันยายน คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นและอภิปราย ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.... ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร เลขาธิการ คปก.กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ....ฉบับผ่านการพิจารณาของ คกก.พิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ ได้พัฒนาขึ้นมาจากร่างกฎหมายเดียวกันที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้วเมื่อ พ.ศ.2545 และ พ.ศ.2552 ซึ่งเจตนารมณ์ของ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้คือ ต้องการรองรับการนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยไม่ต้องส่งการครอบครองให้แก่เจ้าหนี้ เพิ่มเติมจากการใช้อสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกันหรือการจำนำสังหาริมทรัพย์ที่ลูกหนี้ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่จำนำให้แก่เจ้าหนี้ และเพื่อสร้างระบบการบังคับหลักประกันที่มีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม เพื่อประโยชน์ในการขอและการให้สินเชื่อ
สำหรับทรัพย์สิน 5 ประเภทที่สามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อได้นั้น นายพสิษฐ์ กล่าวว่า มีดังนี้ 1.กิจการ 2.สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิในการชำระหนี้ 3.สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้หลักประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลังหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต 4.อสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง และ 5.ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง นอกจากนี้ในรายละเอียดของร่างกฎหมายยังมีการกำหนดสิทธิของผู้ให้หลักประกันและผู้รับหลักประกันไว้อย่างชัดเจนอีกด้วย
ด้านนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ....ฉบับนี้ว่า มีความสำคัญต่อหลักประกันสินเชื่ออย่างมาก เนื่องจากหลักการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินในปัจจุบัน สิ่งที่จะใช้เป็นหลักประกันได้นั้น จะต้องมีกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจน มีกระบวนการประเมินราคาที่ชัดเจน รวมทั้งต้องสามารถโอนเปลี่ยนมือได้ ซึ่งในประเทศไทยนั้นที่ดิน รวมถึงทรัพย์ที่ติดกับที่ดินอย่างถาวร เช่น อาคาร บ้านเรือน จัดเป็นหลักประกันที่กฎหมายรองรับ สถาบันการเงินจึงใช้เป็นหลักประกันในการให้สินเชื่อ แต่หลักประกันดังกล่าวถือว่าแคบไป ทำให้ปิดกั้นโอกาสของผู้ประกอบการในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่ได้มีที่ดินเป็นของตนเอง ยังต้องเช่าที่ดินอยู่ จึงไม่มีสินทรัพย์มาใช้เป็นหลักประกันได้ ทั้งที่มีทรัพย์สินอย่างอื่นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น สิทธิการเช่าพื้นที่ประกอบธุรกิจ สิทธิการเช่าแผงลอย จึงอยากเสนอให้มีการปรับแก้กฎหมายให้สามารถนำสินทรัพย์เหล่านี้มาใช้เป็นหลักประกันได้ เพราะหากฎหมายไม่ยอมรับ ธนาคารก็ทำอะไรไม่ได้เช่นกัน”
นายธวัชชัย กล่าวต่อว่า ส่วนทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้นั้น เช่น เครื่องจักรต่างๆ ที่นำมาขอจดจำนำ เพื่อกู้เงินนั้น ปัญหาที่ผ่านมาคือสถาบันการเงินจะต้องยึดเครื่องจักรเอาไว้ ดังนั้นต่อให้ผู้ประกอบการได้เงินกู้จากธนาคารไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เพราะไม่มีเครื่องจักร หรือกรณีการปล่อยกู้ Project Finance เพื่อนำเงินไปสร้างโรงงานขนาดใหญ่ ท่าเรือ หรือทางด่วน สุดท้ายถ้าไม่มีเงินมาชำระหนี้และใช้วิธียึดขายทอดตลาด ก็จะสร้างความเสียหายให้กับทั้งประเทศ แต่ถ้าปรับแก้กฎหมาย ให้รองหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน เช่น สิทธิการเรียกร้อง นำกิจการมาเป็นหลักประกันได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้ธุรกิจที่มีความสามารถไม่ถูกตัดโอกาส กรณีการปล่อยกู้ Project Finance ธนาคารเข้ามา หรือช่วยหาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาสวมโครงการ ก็จะช่วยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้
“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หากผ่านออกมาได้ จะเป็นการเปิดประตูให้กับผู้ประกอบการจำนวนมาก เพราะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินได้” นายธวัชชัย กล่าว พร้อมกับเพิ่มเติมถึงการออกกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจด้วยว่า ผู้ที่ออกกฎหมายจะต้องเข้าใจจุดประสงค์ของการออกกฎหมาย ขณะเดียวกันคนที่เขียนกฎหมายจะต้องมีความรู้ความเข้าใจด้านธุรกิจควบคู่ไปด้วย ไม่เช่นนั้นถึงกฎหมายจะผ่านออกมา แต่ผิดรูปผิดร่างก็ไม่มีใครใช้
ขณะที่นายชาญชัย บุญฤทธิ์ไชยศรี ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย สายช่วยงานบริหาร กล่าวว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความสนใจและจะร่วมผลักดันให้ผ่านออกมาใช้บังคับ เพราะตัวกฎหมายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบเศรษฐกิจ และระบบสถาบันการเงินเป็นอย่างมาก โดยในส่วนของสินเชื่อเพื่อการลงทุนนั้นเกือบทั้งหมด ต้องมีหลักประกันทั้งสิ้น ในแง่ผู้กู้เองนั้นก็เพื่อให้มีวินัยทางการเงิน ลดความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ ส่วนในแง่ของธนาคาร ก็เพื่อให้มีหลักประกันว่าจะมีโอกาสได้รับเงินคืน ลดความเสี่ยงลง และจะได้สามารถให้สินเชื่อได้มากขึ้น เพราะในกรณีที่สินเชื่อไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารพาณิชย์ได้ต่อเนื่องกันเกิน 3 เดือน สินเชื่อนี้จะถูกจัดชั้นให้เป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loans : NPLs) ซึ่งธนาคารพาณิชย์ต้องกันสำรองส่วนนี้ไว้ถึง 100% ทำให้ธนาคารต้องระมัดระวังในการปล่อยกู้อย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือเหตุการณ์อุทกภัยเช่นในปีก่อน ยิ่งต้องพิจารณากลั่นกรองมากขึ้น
ส่วนการเพิ่มประเภทหลักประกันนั้น นายชาญชัย กล่าวว่า หากจะมีการเพิ่มประเภทหลักประกันก็สามารถทำได้ เพราะขณะนี้ในทางปฏิบัติธนาคารก็ใช้รูปแบบอื่นๆ นอกจาการจำนอง จำนำ เป็นหลักประกัน เช่น เงินฝากในบัญชีธนาคาร สิทธิการเช่า ประกันภัย ประกันชีวิต โดยมีธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ แต่หลักสำคัญคือจะต้องมีกรรมสิทธิ์ที่ชัดเจน ประเมินราคาได้ รวมถึงสามารถโอนเปลี่ยนมือได้ เพราะถ้าไม่เข้า 3 หลักการนี้ ความเสี่ยงของธนาคารไม่ได้ลดลง
นายชาญชัย กล่าวยืนยันว่า กฎหมายนี้ไม่ใช่ของใหม่ มีใช้กันอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งมองว่าหากกฎหมายผ่านออกมาแล้วจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจแน่นอน และเป็นประโยชน์ต่อการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่ความมั่นคงของสถาบันการเงินไม่ได้ลดน้อยถอยลง
ส่วนศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธุ์ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.... ว่า เชื่อว่าจะไม่เป็นโทษกับใครเลย ในทางกลับกันจะเป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากผู้ประกอบการยังมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ไม่สะดวก ไม่ทั่วถึง หรือแพงกว่าประเทศอื่นแล้ว เชื่อว่าประเทศไทยคงแพ้ตั้งแต่ยกแรก ฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก ช่วยให้ผู้ประกอบการมีความสามารถแข่งขันในเวทีอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้ มีรายงานเพิ่มเติมว่า ภายที่ คปก.เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้จนครบกระบวนการ จะนำข้อเสนอแนะมาพิจารณา สรุปเป็นร่างที่สมบูรณ์ ก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป ขณะเดียวกันพบว่าร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นร่างที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบันหรือ กกร. ประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มีมติเห็นพ้องว่าเป็นกฎหมายที่สมควรเสนอขอปรับปรุงแก้ไขโดยเร่งด่วนที่สุดเช่นกัน
ที่มาภาพ: อินเทอร์เน็ต