กสทช.เปิดเวทีถกจรรยาบรรณสื่อทุกสี พร้อมวางร่างกรอบพื้นฐาน 7 ข้อ
กสทช.เปิดเวที เชิญสื่อทุกสีล้อมวงถกจรรยาบรรณ ตัวแทนว๊อยซ์ทีวี ชี้จิตสำนึกคนทำข่าวทุกวันนี้คิดถึงความอยู่รอดมาก่อน ขณะที่นักข่าวเทศ มอง 'อคติ'ของสื่อ อันตรายมากสำหรับเมืองไทย
วันที่ 11 กันยายน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเสวนาไตรภาคี ครั้งที่ 3 หัวข้อ "จรรยาบรรณสื่อกับการพัฒนาการเมืองไทย" ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว โดยมีตัวแทนสื่อมวลชน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ นักวิชาการ และผู้บริโภคสื่อเข้าร่วม
ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อเป็นสินค้าสาธารณะ เป็นสินค้าคุณธรรม (merit goods) มีผลต่อความคิด อุดมการณ์ของคนในสังคม และสื่อเป็นตัวแทนของสังคมประชาธิปไตย ดังนั้นอยากให้นักข่าวในฐานะสื่อ รู้เท่าทันกลุ่มอำนาจต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสื่อได้รู้เท่าทันด้วย สื่อควรปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตในฐานะนักวิชาชีพสื่อ ควรเที่ยงตรงในเรื่องการเมือง ซึ่งบางทีอาจสะท้อนผ่านการเลือกใช้มุมกล้อง หรือแบ่งพื้นที่การให้สัมภาษณ์ของฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในข่าวหนึ่ง ๆ อย่างสมดุล
"ในเรื่องของสื่อกับการรายงานข่าวการเมือง องค์กรที่ดูแลต้องมีจุดยืนเชิงนโยบายว่าจะให้สื่อใส่อุดมการณ์สุดโต่ง หรือจะให้สื่อเป็นสินค้าคุณธรรมซึ่งต้องมีการกำกับดูแล โดยเฉพาะในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง สื่อไม่ควรนำเสนอแบบเลือกข้างหรือดราม่ามากเกินไป เพราะจะจูงใจอารมณ์คน ส่งผลต่อการเลือกพรรคใดพรรคหนึ่ง และจะส่งผลต่อโครงสร้างอำนาจในอนาคต" ผศ.พิจิตรา กล่าว พร้อมกับเรียกร้องต่อสื่อ 3 ข้อ 1. ให้เคารพหลักความเป็นส่วนตัวและสิทธิมนุษยชนของผู้ที่เป็นข่าว 2. สื่อไม่ควรทำให้เกิด hate speech หรือข้อมูลที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง ความแตกแยก และ 3. สื่อไม่ควรทำตัวเองเป็นศูนย์โฆษณาชวนเชื่อ หรือเลือกข้างกลุ่มอำนาจใด
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า ผู้ประกอบการสื่อ กับ นักวิชาชีพสื่อ เป็นคนละกลุ่มกัน จริยธรรมจึงที่ไม่เหมือนกัน ถ้าสื่อทุกค่ายทุกสีแข่งกัน ควรจะต้องเหมือนกีฬาที่มีกฎ กติกา วิธีเล่น ผู้ตัดสินที่แน่นอน เพราะผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือนักวิชาชีพ การสร้างสมดุลอำนาจระหว่างผู้บริหารกับคนทำสื่อในองค์กร จึงควรมีกฎกติกาภายในที่จะทำให้สู้กันได้อย่างเป็นธรรม ระหว่างอำนาจของฝ่ายบริหารที่คุมเนื้อหา กับอำนาจของฝ่ายวิชาชีพ
"ถ้าไม่มีกติกา งานก็จะออกมาเป็น propaganda model ไปทุกวัน แล้วจริยธรรมของนักวิชาชีพก็จะถูกฉ้อฉล ต่อไปก็จะเหลือนักวิชาชีพสื่อจริง ๆ น้อยลงเรื่อย ๆ เพราะไม่มีแรงสู้ แล้วสังคมเราจะไม่เหลือคนที่กล้ายืนพูดถึงสิ่งที่ไม่เที่ยงตรง แทนความคิดที่หลากหลาย และพูดความจริง จะมีแต่สื่อการเมืองที่ตีกรอบเรื่องให้เข้ากับความคิดของตัวเองไปเรื่อย ๆ"
นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ กล่าวถึงความแตกต่างของสื่อในวันนี้เมื่อเทียบกับ10 ปีก่อนมี 4 ประการหลัก 1.ความแตกต่างขัดแย้งทางการเมืองทำให้เกิดสื่อการเมืองหลายค่าย ต่างมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่ชัดเจน 2.ประชาชนเป็นสื่อเองได้ ทั้งการเข้าถึงพื้นที่อินเทอร์เน็ต วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี และสื่อใหม่ที่มีทั้งสื่อมือสมัครเล่นและมีอาชีพอยู่ในนั้น 3.ตอนนี้มี กสทช. เป็นองค์กรที่แบกความคาดหวังของประชาชน และ 4.การยกระดับมาตรฐานวิชาชีพสื่อให้ดีขึ้นมีความสำคัญมากกว่าเสรีภาพ เพราะใคร ๆ ก็มีเสรีภาพในการแสดงออกตามช่องทางสื่อที่หลากหลาย
"ในด้านกรอบจริยธรรม เมื่อสื่อเลือกข้างแล้ว จะเลือกข้างอย่างมืออาชีพได้หรือไม่ จะบอกได้เมื่อไรว่าสื่อได้ข้ามเส้นไปเป็นการโฆษณาชวนเชื่อแล้ว และถ้าสื่อที่มีอุดมการณ์ทางการเมือเอาอุดมการณ์ไปยั่วยุให้ประชาชนเกิดความแตกแยกกัน จะมีกลไกการจัดการอย่างไร"
ว๊อยซ์ รับยืนอยู่ได้ยากมากบนหลักจริยธรรม
ขณะที่นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวถึงเสรีภาพของสื่อ รัฐไม่เข้ามายุ่งจะดีที่สุด ควรปล่อยให้สื่อสามารถดูแลกันเอง พร้อมกับแสดงความเห็น ช่วงที่ผ่านมาการควบคุมดูแลกันเองโดยเฉพาะของสื่อสิ่งพิมพ์ ไม่ค่อยจะได้ผล ฉะนั้นควรจะต้องมีมาตรฐานต่ำสุดอะไรบางอย่างที่รัฐจะดูแล หรือมีมาตรฐานที่มากกว่านั้น เราจะทำกันอย่างไร
นายจอม เพชรประดับ ผู้สื่อข่าวอิสระ ว๊อยซ์ทีวี กล่าวว่า สื่อทุกวันนี้อยู่ในภาวะกลัวที่จะต้องหลุดออกจากวิชาชีพ รายได้ ดังนั้นแทนที่จะท้วงติงอำนาจรัฐ หรือกลุ่มทุน อย่างยืนอยู่ในหลักจริยธรรมของวิชาชีพ เรากลับต้องปกป้อง ช่วยเหลือทุนที่ดูแลเราอยู่ด้วยซ้ำไป
"สื่อที่ได้ชื่อว่าเลือกข้างไปแล้ว จะยืนอยู่ได้ยากมากบนหลักจริยธรรม ถ้ายืนอยู่บนหลักนี้ มันอยู่ไม่ได้ เขาไม่ยอม เขามีมวลชน แฟนคลับที่อยากฟังด้านเดียว แล้วคุณไปเอาอีกด้านที่เขาไม่อยากฟังมา เขาก็ไม่ทนคุณแล้ว นี่คือภาวะที่เป็นจริงในส่วนของ Voice TV หลายครั้งที่พยายามนำเสนอในมุมที่สร้างความสมดุล สร้างมุมมองที่แตกต่าง และก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในตัวเอง ทำยากในสื่อว๊อยซ์"
นายจอม กล่าวถึงจิตสำนึกของคนทำสื่อในปัจจุบันไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ แต่คำนึงถึงความอยู่รอดมาก่อน ขณะที่จิตสำนึกที่ควรเอาประเทศชาติและสังคมมาก่อน ก็ยังไม่ถูกปลูกฝังในสำนึกของสื่อในปัจจุบันอย่างเพียงพอ เช่น เราได้เห็นคนทำงานสื่อการเมืองที่มีคุณภาพ เลี่ยงมาทำข่าวเชิงดราม่า เชิงอาชญากรรม หรือเล่นกับคนที่ไม่มีอำนาจ เช่น ศิลปิน ดารา เป็นต้น
"คนทำข่าวได้สำนึกหรือยังว่าประเทศเรากำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน แล้วสื่อจะมีส่วนทำให้สังคมผ่านระยะนี้ไปโดยไม่ฆ่ากันได้อย่างไร เพราะสำนึกและความคิดทางการเมืองของคนไทยได้เปลี่ยนไปแล้วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา"
ASTV โทษสื่อกระแสหลักไม่ทำงาน
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จาก ASTV กล่าวถึงปัญหาของสื่อมวลชนที่ถูกดึงเข้าไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มทุนทางการเมือง ทำให้อิสรภาพของสื่อมวลชนถูกลิดรอนหายไปเรื่อย ๆ ทั้งหมดที่วิวัฒนาการมาถึงวันนี้ได้ เพราะว่าสื่อกระแสหลักไม่ทำงาน ถ้าสื่อกระแสหลักมีพื้นที่สำหรับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรอบด้านและสมดุลจริง ก็ไม่จำเป็นต้องมีสื่อทางเลือก เพราะประชาชนก็อยากเห็นความหลากหลายที่สมบูรณ์ในตัวเองมากกว่า แต่ถ้าเขารู้สึกว่าใครมาเป็นรัฐบาลแล้ว สื่อกระแสหลักไม่สามารถตอบสนองได้ การโฆษณาชวนเชื่อมันจะเกิดขึ้นง่ายนอกสื่อกระแสหลัก
"บทบาท กสทช. วันนี้มีความสำคัญ จะมาหวังว่าสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือกจะมาเป็นกรรมการ ทุกคนมีทุนหนุนหลังทั้งนั้น เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะไปตรวจสอบว่าพรรคการเมืองที่ให้ทุนตัวเองมีการทุจริตคอร์รัปชั่น พอจะมีกติกา ก็จะกลายเป็นว่าลิดรอนสิทธิเสรีภาพ โจทย์ใหญ่สำคัญคือเรายังไม่แยกแยะระหว่างสื่อกับเครื่องมือของทุนหรือพรรคการเมือง"
นายวิทเยนทร์ มุตตามระ ตัวแทนจากบลูสกายแชนแนล กล่าวว่า สำหรับแนวทางปฏิบัติในการดูแลกันเอง ขอให้มีทั้งการกำกับและส่งเสริม บังคับปฏิบัติใช้กันเสมอหน้า ส่งเสริมค่านิยมที่ถูกให้กับสังคม เช่น ต่อต้านค่านิยมเรื่องคอร์รัปชั่น และส่งเสริมคนที่ปฏิบัติได้ตามกรอบ ให้ได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ถูกคุกคามในการนำเสนอ
นายบูรพา เล็กล้วนงาม ตัวแทนจากเอเชียอัพเดท กล่าวว่า สื่อมวลชน คือ สื่อของมวลชน ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยลัทธิที่เหมาะกับมวลชนคือประชาธิปไตย ซึ่งเคารพสิทธิเสรีภาพ ดังนั้น สื่อจึงต้องมีประชาธิปไตยและประชาชนเป็นผู้กำกับ
สื่อเทศ มองอคติสื่อไทยอันตรายมาก
Mr.Pratrick Winn กรรมการสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) และผู้สื่อข่าวอาวุโส เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Global Post กล่าวว่า อคติและความเอนเอียงในสื่อนั้นมีอยู่ทั่วโลก แต่อคติของสื่อที่เป็นอันตรายมากกว่าสำหรับเมืองไทยก็คือ อคติจากพวกนายพล นักธุรกิจ นักการเมือง หรือผู้มีอำนาจโดยรวม ถ้าคนพวกนี้ไม่พูดใส่ไมโครโฟนหรือแถลงข่าว ก็เสมือนหนึ่งว่าเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้น
"สไตล์การรายงานแบบที่อ้างคำพูดของผู้มีอำนาจมาตรง ๆ เป็นอันตราย เพราะมีแนวโน้มจะเป็นข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน หรือข้อมูลเท็จ ทำให้สื่อตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่พูดได้ง่าย ข่าวที่ดีควรมีข้อมูลจากแหล่งข่าวอย่างน้อยสามแหล่งเพื่อให้เกิดมุมมองที่รอบด้าน และไม่ควรนำเสนอข่าวลือโดยเฉพาะที่มาจากนักการเมือง แล้วนักข่าวก็ไม่ไปเจาะลึกต่ออีกว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สังคมก็ไม่รู้ไปด้วย"
Mr.Patrick กล่าวด้วยว่า นักข่าวไทยมีความสามารถไม่แพ้ใคร แต่การทำงานต้องเผชิญ 3 อุปสรรค ได้แก่ 1. บรรณาธิการไม่ให้เงินและเวลาอย่างเพียงพอในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน 2. กลัวถูกฟ้องหมิ่นประมาท และ 3. กลัวว่าเมื่อเขียนวิพากษ์วิจารณ์แล้วจะถูกดึงโฆษณาออก ดังนั้นจึงหวังว่า กสทช. จะช่วยปกป้องนักข่าวจากผู้มีอิทธิพล ไม่ใช่ปกป้องผู้มีอิทธิพลจากการรายงานข่าว
ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. กล่าวเสริมว่า ผู้กำกับดูแลไม่ควรมีแค่ กสทช. สังคมมีสิทธิตั้งองค์กรอิสระอื่น สภาวิชาชีพและสังคมต้องกำกับการโหวตต่าง ๆ ของ กสทช.ด้วย แต่หลายคนเห็นตรงกันแล้วว่าไม่ควรให้รัฐเข้ามายุ่ง ดังนั้นสิ่งที่ต้องแยกคือรัฐต้องกำกับหน่วยธุรกิจ ส่วนวิชาชีพนั้นให้กำกับกันเอง
นอกจากนี้ในการเสวนา ยังได้มีการกล่าวถึงร่างกรอบจรรยาบรรณพื้นฐานของวิชาชีพสื่อ 7 ข้อ ว่าได้แก่ หลักจริยธรรม หลักความเป็นอิสระ หลักสิทธิมนุษยชน หลักความทั่วถึง หลักความหลากหลาย ทั้งแง่เนื้อหารายงานและกลุ่มเป้าหมาย หลักความถูกต้องเที่ยงตรง และหลักความไม่ลำเอียง ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ไม่ยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง และเปิดพื้นที่ให้ชี้แจง ที่ กสทช.เป็นผู้ร่างขึ้นมาเป็นตัวนำประเด็นสำหรับการเสวนาในวันนี้ด้วย แต่เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย