การเมืองใจดำ ไม่เลิกจำนำข้าว 'ประพัฒน์' เชื่อทำได้ดีสุดให้ความรู้ชาวนาไทย
นักเศรษฐศาสตร์ แนะ รบ.เตรียมแผนบริหารสต็อกข้าวให้ดี ย้ำไม่ควรเปิดประมูลข้าวในคราวเดียวจำนวนมาก 'นิพนธ์' ฉะข้าราชการไม่มีหน้าที่ 'พ่อค้า' หวั่นซ้ำรอยวิกฤติศก.กรีซ
วันที่ 11 กันยายน สถาบันคลังสมองของชาติ (สคช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา จัดเสวนาเวทีประชาคมข้าวไทย "อนาคตตลาดส่งออกข้าวไทยจะก้าวไปอย่างไร" ณ ห้องประชุมลีลาวดี โรงแรม รามาการ์เด้น กรุงเทพฯ โดยมี รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และ ผอ.ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ ม.หอการค้าไทย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ และเครือข่ายผู้เกี่ยวข้องด้านข้าวมาร่วมสัมมนา
ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวถึงงบอุดหนุนโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ในช่วงปี 2554/55 มีงบประมาณเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าของงบปี 2553/54 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงปีการผลิต 2555/56 ซึ่งเท่ากับ 405,000 ล้านบาท และโครงการรับจำนำยังทำให้ราคาข้าวเปลือกเจ้านาปี 5% เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคารับจำนำที่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงของราคาข้าวในตลาดด้วย
"จากการที่ราคารับจำนำที่สูงขึ้น ยังส่งผลให้เกษตรกรมุ่งที่จะเข้าร่วมโครงการเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการซื้อขายปกติตามกลไกตลาด และเมื่อจำนำแล้วก็ไม่ได้มาไถ่ถอนคืน ทำให้ปริมารข้าวในสต็อกของไทยสูงขึ้น" คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าว และว่า กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) คาดว่า สต็อกข้าวสารไทย ณ สิ้นปี 2555 เพิ่มขึ้นเป็น 9.4 ล้านตัน อีกทั้งข้อมูลบัญชีสมดุลข้าวของประเทศไทยในช่วง 10 ปี จะเห็นว่า สต็อกข้าวของไทยเพิ่มขึ้นมาจาก 1.7 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2544 เป็น 9.4 ล้านตันข้าวสาร ในปี 2555 (ค่าประมาณการ)
ในส่วนผลกระทบของนโยบายรับจำนำต่อมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทย ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิของไทยในในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปี 2554 ซึ่งมีมูลค่า 47.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็น 1,631.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 3,372.04
แต่เมื่อเปรียบเทียบปี 2553 กับปี 2554 พบว่า มูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิปรับลดลงเล็กน้อย จากปี 2553 หรือคิดเป็นร้อยละ 3.30 ในช่วงเดือน ม.ค. – ก.ค. 2555 มูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิอยู่ที่ 789.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลดลงร้อยละ 6.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
"เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกข้าวรวมทุกชนิดของไทยกับเวียดนาม ในช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย.2555 ปริมาณการส่งออกข้าวของเวียดนามมีมากกว่าไทย โดยไทยส่งออกข้าวได้ 1.30 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 64.80 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปีก่อน และยังคงต่ำกว่าเวียดนามที่มีปริมาณการส่งออก 1.94 ล้านตัน"
ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าว และว่า ในส่วนของปริมารการส่งออกของไทยในช่วงเดือน ม.ค. – มิ.ย.2555 ไทยส่งออกไปอินโดนีเซียมากที่สุด ปริมาณ 0.24 ล้านตัน แต่ลดลงร้อยละ 62.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่เวียดนามส่งออกข้าวไปอินโดนีเซียมากที่สุด เป็นปริมาณ 0.45 ล้านตัน ซึ่งยังคงมากกว่าไทย
ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอแนะที่มีต่อภาครัฐ คือ ควรนำระบบสนับสนุนรายได้โดยตรงแก่เกษตรกรมาใช้ โดยอย่าตั้งราคาส่วนต่างให้สูงกว่าตลาดมาก และควรนำเงินที่ใช้ในโครงการรับจำนำมาทำโครงการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกรแทน และควรดำเนินการควบคู่ไปกับการส่งเสริมการพัฒนาการผลิตข้าว โดยกำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์การตลาดข้าวในระยะยาว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้ยังขายข้าวในราคาสูงได้ ทั้งนี้ ต้องตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการและควรมีบทลงโทษที่ชัดเจนหากมีการแจ้งข้อมูลที่เป็นเท็จ ส่วนสำคัญ ต้องเตรียมแผนบริหารสต็อกข้าวที่คาดว่าจะมีจำนวนมาก และมีมาตรการการตรวจสอบที่ชัดเจนและไม่ควรเปิดประมูลข้าวในคราวเดียวในจำนวนมาก รวมทั้ง มีการกำหนดช่วงเวลาและปริมาณในการรับจำนำที่เหมาะสม เพื่อลดแรงจูงใจในการหาประโยชน์จากโครงการรวมทั้งลดการบิดเบือนกลไกตลาด
นิพนธ์ ฉะขรก.หยุดทำตัวเป็นพ่อค้า
ด้านดร.นิพนธ์ กล่าวว่า การรับจำนำข้าวในโครงการที่ผ่านมาเน้นกลุ่มผู้ได้ประโยชน์ไปที่ชาวนาที่มีรายได้ปานกลาง และชาวนาที่มีรายได้สูง ซึ่งเป็นกลุ่มคะแนนเสียง โดยเฉพาะในช่วงนาปรังเห็นได้ชัด นี่คือการตอบโจทย์ทางการเมือง ขณะที่กลุ่มชาวนารายได้ต่ำที่ยากจนจริงๆ กลับได้รับประโยชน์น้อยกว่า เพราะชาวนากลุ่มนี้มีความสามารถในการผลิตข้าวเหลือพอที่จะเข้าร่วมจำนำเพียง 12% จากจำนวนทั้งหมด ดังนั้น อย่าเข้าใจผิดว่า แล้วไปหาเสียงว่านโยบายนี้จะช่วยเหลือคนยากจน
ในด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจ ดร.นิพนธ์ ในการดำเนินนโยบายนี้ต้องขาดทุนกว่า 1 แสนล้าน คิดเป็น 1% ของจีดีพี และ 1.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งหากดำเนินโครงการสะสมไปยาวนาน จะนำไปสู่ความเสี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจ และปัญหาการคลังอย่างที่กรีซและลาตินอเมริกาประสบมาแล้ว สำหรับข้อเสนอแนะหากยังยืนยันจะดำเนินนโยบายต่อ คือ รัฐบาลต้องดำเนินการแบบรับมาแล้วระบายออกไป รวมทั้งทยอยระบายข้าวเก่าออกไปเรื่อยๆ ไม่เก็บค้างสต็อกเอาไว้นาน
"ข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่อยู่หัวฯ ต้องทำงานรับใช้ประชาชน ข้าราชการไม่ได้มีหน้าที่เหมือนพ่อค้า ที่จะต้องติดตามเรื่องราคา ความเป็นไปของตลาดและการแข่งขันต่างๆ ข้าราชการไม่มีเวลาพอที่จะทำอย่างนั้น และถึงจะทำก็คงจะทำให้ดีไม่ได้ ฉะนั้น แม้นโยบายนี้จะมีกำไรมากเพียงใด แต่ก็ควรมีสำนึกว่ากำไรนั้นเกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่ และเป็นการทำลายประเทศในอนาคตหรือไม่ ควรคิดดู"
ขณะที่นายประพัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากนโยบายจำนำข้าวเป็นนโยบายที่ทำให้เกิดฐานเสียงสำคัญของรัฐบาล ฉะนั้น อย่างไรก็ตามรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าต่อ ไม่มีทางยกเลิก ส่วนเรื่องความชอบธรรม หรือความถูกต้องคงเอาไว้ทีหลัง ทั้งนี้ เพราะการเมืองใจดำ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือใครก็ตามมาวิพากษ์หรือไม่เห็นด้วยยิ่งเป็นการหนุนให้รัฐบาลชนะ และเสียงวิพากษ์นั้นก็จะไม่เกิดผล เนื่องจากไม่ใช่คะแนนโหวตของเขา
"สิ่งที่ทำได้ คือ ให้ความรู้และข้อเท็จจริงของนโยบายแก่ประชาชน ให้เห็นภาพว่าในระยะยาวจะเสียหายต่อประเทศและชาวนาเองอย่างไรบ้าง แต่หากจะหวังพูดให้รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายคงยาก หากไม่ใช่นโยบายที่ถูกใจชาวนาจริงๆ เพราะเรื่องการเมือง เป็นเรื่องของความรัก ที่ไม่มีเหตุผล หากรักไปแล้วอย่างไรก็ได้คะแนนเสียง"