อนาคตผังเมือง นักวิชาการชี้อยู่กับ "น้ำ" ได้ต้องกำหนดโซนน้ำหลากให้ชัด
"อนาคตผังเมืองไทย...ใครจะช่วย??" รองประธานวุฒิฯ แปลกใจ 77 จังหวัดประเทศไทย มีผังเมืองรวมเพียงแค่ 4 จังหวัด ย้ำชัดรัฐจำเป็นต้องจัดให้มีผังเมืองของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ-ประสิทธิผล
วันที่ 11 กันยายน คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง วุฒิสภา ร่วมกับสมาคมสถาปนิกชุมชนเมืองไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จัดเสวนาเรื่อง "อนาคตผังเมืองไทย...ใครจะช่วย??" ที่อาคารรัฐสภา 2 โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวเปิดการเสวนาตอนหนึ่งถึงเรื่องผังเมืองว่า คือกฎระเบียบกฎเกณฑ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยคำนึงถึงทรัพยากรดิน น้ำ ตลอดจนวิถีชุมชนท้องถิ่น ซึ่งในเรื่องเหล่านี้มีบัญญัติไว้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 หมวดสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย และในเรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทำให้รัฐจำเป็นต้องจัดให้มีผังเมืองของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล
นายสุรชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยกลับพบปัญหาแก่งแย่ง แย่งชิงที่ดินเกิดขึ้น พื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ไว้เป็นพื้นที่การเกษตร พื้นที่ชนบทถูกแย่งชิงไปเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ผลที่ตามมาคือข้อเรียกร้อง ร้องเรียน รวมไปถึงภัยพิบัติ อุทกภัยเช่นในที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
"ขณะนี้ประเทศไทยมีผังเมืองรวมเพียงแค่ 4 จังหวัดจากทั้งหมด 77 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจมากว่าเป็นไปได้อย่างไร ที่ทั้งประเทศนี้จะมีผังเมืองรวมเพียงแค่ 4 ฉบับ ดังนั้นเห็นว่า ควรจะต้องมีการจัดระเบียบการตั้งถิ่นฐาน การใช้ที่ดิน ผ่านกฎหมายการผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลต่อไป"
สถานการณ์ผังเมืองมีแต่เลวร้ายลง
ด้านศ.กิตติคุณตรึงใจ บูรณสมภพ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตั้งถิ่นฐานและการผังเมือง วุฒิสภา กล่าวถึงกระบวนการวางผังเมืองของไทยที่ผ่านมาว่า มีปัญหาเชิงระบบ ที่เป็นตัวถ่วงสำคัญต่อการพัฒนาเมืองสู่ความยั่งยืนต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2476 จนถึงปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์ด้านการผังเมืองของไทยเลวร้ายลงในวงกว้าง โดยมีสาเหตุหลักคือ 1.ขาดวิสัยทัศน์ นโยบาย และแผนการตั้งถิ่นฐานมนุษย์และการผังเมืองของผู้นำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัยใดก็ตาม 2.ขาดหน่วยงานระดับชาติทางผังเมืองที่สามารถดำเนินการและประสานนโยบายระดับสูง 3.ขาดการสนับสนุนทางกฎหมาย ทั้งที่กฎหมายเกี่ยวกับผังเมืองของไทยมีความล้าหลังอย่างมาก และ 4.ขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อพัฒนาเมือง
ส่วนการขยายตัวของผังเมืองอย่างไร้ทิศทางนั้น ศ.กิตติคุณตรึงใจ กล่าวว่า ก่อให้เกิดความเสียหายแบบตายช้าๆ สภาพเมืองเสื่อมโทรม การจราจรติดขัด หาบเร่แผงลอยกีดขวางทางสาธารณะ หมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นอย่างอิสระ จะสร้างที่ไหนก็ได้ การรุกล้ำลำคลอง การบุกรุกพื้นที่ป่า เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปีก่อน ในขณะที่กฎหมายไม่สามารถทำอะไรได้เลย เช่นเดียวกับกรณีล่าสุดที่อัมพวา มีความพยายามที่จะรื้อบ้านเรือนริมคลอง โดยนักธุรกิจเพื่อสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ กลายเป็นความสวยผิดที่ผิดทาง เหมือนใส่ชุดราตรีไปงานวัด เราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะไม่มีกฎหมายที่รองรับว่า ห้ามสร้างอาคารที่มีลักษณะผิดแปลกแตกต่างไปจากชุมชนหรืออาคารบ้านเรือนในละแวกเดียวกัน
"ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าแม้การพัฒนาที่ผ่านมาจะมีสิ่งสวยงามให้พบเห็นอยู่บ้าง แต่องค์ประกอบของเมือง การวางและจัดทำผังเมืองของประเทศไทยกลับล่าช้าและล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง แม้ประเทศไทยจะมีการตั้งหน่วยงานผังเมืองมากว่า 50 ปีแล้วก็ตาม"
ผังเมืองรักษาเอกลักษณ์ของตนเอง
ส่วนผศ.ทิวา ศุภจรรยา ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนและการผังเมืองที่สัมพันธ์กับการสร้างอัตลักษณ์ของไทยในบริบท เส้นทางเชื่อมโยงอาเซียนว่า ประเทศไทยนั้นเป็นศูนย์กลางการค้า การคมนาคมในดินแดน 'สุวรรณภูมิ' หรือแผ่นดินในคาบสมุทรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน และในอีก 3 ปีข้างหน้าจะมีการร่วมตัวเป็นประชาคมอาเซียน คงหนีไม่พ้นที่ทุกประเทศต้องรวมตัว มีวิสัยทัศน์ มีเอกลักษณ์ร่วมกัน
"สำหรับประเทศไทยนั้นมีมิตรประเทศที่มีเอกลักษณ์ต่างกันโอบล้อมอยู่จำนวนมาก การผังเมืองที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นจึงต้องสร้างความผูกพัน การรักษาเอกลักษณ์ของตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเจริญ ไม่ว่าจะเป็นผังพัฒนาพื้นที่ชายฝั่ง การพัฒนาพื้นที่อ่าวไทย ทวาย เพราะหากประเทศโดยรอบของไทยเจริญหมด เราคงจะต้องพัฒนาให้เชื่อมโยงกับประเทศเหล่านี้ จะไปเป็นตัวถ่วงคงไม่ได้ ฉะนั้นคงต้องมาร่วมกันคิดว่าจะวางผังเมืองให้เกิดโอกาสแก่ประเทศ"
ขณะที่ ศ.กิตติคุณเดชา บุญค้ำ ราชบัณฑิตสภาและผู้ทรงคุณวุฒิด้านภูมิสถาปัตยกรรมและผังเมือง กล่าวว่า ภายในปี พ.ศ.2600 มีการคาดการณ์ว่าประชากรจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 70-75 ขณะที่ปัจจุบันมีประชากรเมืองอยู่ที่ร้อยละ 34 ทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องมีพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้นอย่างน้อยหนึ่งเท่าตัวเพื่อรองรับกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งโจทย์สำคัญคือ จะทำอย่างไรไม่ให้ชุมชน บ้านเรือนขยายลงไปในพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่น้ำท่วม และพื้นที่เสี่ยงภัยธรรมชาติอีกต่อไป โดยเฉพาะการบุกรุกล้ำคลอง
" ที่ผ่านมาการออกกฎหมายเกี่ยวการผังเมืองแต่ละฉบับ ทำได้ยากมาก อีกทั้งประสบปัญหาไม่สามารถนำแผนมาปฏิบัติได้จริง ฉะนั้นเห็นว่าในช่วงต่อไป รัฐบาลควรกำหนดให้มีนโยบายการตั้งถิ่นฐานและการพัฒนาเมืองแห่งชาติ พร้อมกับแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายระดับชาติอย่างถาวร"
ผังเมือง ต้องกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย
ด้านนายรัชทิน ศยามานนท์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) อดีตอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงอุทกภัยร้ายแรงเมื่อปี 2554 เกิดขึ้นในพื้นที่น้ำท่วมตามธรรมชาติ ซึ่งได้มีการก่อสร้างพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ผิดพลาด
"พูดง่ายๆ เหมือนกับก่อนสร้างบ้านต้องมีการออกแบบ แต่นี่ไม่มี สร้างไปเลย ดังนั้นเห็นว่า การผังเมืองต่อจากนี้ จะต้องมีขนาดตั้งแต่ระดับประเทศ (National Planning) ที่ควบคุมพื้นที่ประเทศทั้งหมด ระดับภาค (Regional Planning) ลงมาถึงระดับตำบล โดยต้องพิจารณาตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อวิเคราะห์ กำหนดพื้นที่เสี่ยงต่ออุทกภัย ทั้งที่พัฒนาไปแล้ว และยังไม่ได้พัฒนา รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม และใช้ระบบการผังเมืองเป็นตัวชี้นำการพัฒนา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาอุทกภัยขึ้นอีก"
ในส่วนของผังเมืองของ กทม.นั้น ดร.วีระพันธุ์ ชินวัตร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า มีการขยายชุมชนเมือง ขวางทางน้ำ ขณะที่แนวคลองฝั่งธนบุรี ซึ่งในอดีตนั้นถูกใช้เป็นฟลัดเวย์ โบราณที่ช่วยระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ลงสู่ทะเลตั้งแต่บริเวณสมุทรสาคร ถึงปากน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันก็พบการถูกรุกล้ำ มีเขื่อนกั้น และถมพัฒนาที่ดินจนหมด
ขณะที่การบริหารจัดการน้ำและการผังเมืองของหน่วยงานภาครัฐในอดีตนั้น ดร.วีระพันธุ์ กล่าวว่า เน้นการแก้ปัญหาตามภารกิจของตนเองมากกว่าบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำแล้ง จนไม่ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันน้ำท่วม น้ำหลาก และน้ำทะเลหนุนเท่าที่ควร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้ทำตามข้อเสนอแนะจัดหาพื้นที่แก้มลิง หรือพื้นที่รองรับน้ำมาแก้ปัญหาอย่างเพียงพอ อีกทั้งมีการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเป็นพื้นที่เมือง ที่สำคัญขาดหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง หรือ Single command ในการแก้ปัญหาการจัดการน้ำอย่างเต็มระบบ ส่วน Single command ที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้น จริงๆ ก็ยังมองว่าไม่ค่อยสมบูรณ์มากเท่าไหร่
ดร.วีระพันธุ์ กล่าวถึงข้อเสนอในการแก้ปัญหาน้ำในระยะยาว กรณีน้ำท่วม น้ำหลากและน้ำทะเลหนุนของ กทม. ด้วยว่า ปัจจุบัน มีการทำเขื่อนกั้นแบบถาวร และสูบน้ำออก ในลักษณะ Divert น้ำจากบริเวณหนึ่งไปยังอีกบริเวณหนึ่ง ซึ่งสิ้นเปลืองพลังงานและงบประมาณ เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ได้มองที่ภาพรวม ฉะนั้นเห็นว่าการแก้ปัญหาในผังเมือง กทม.และในพื้นที่ทั่วประเทศน่าจะมีการนำแนวคิดเรื่อง การกำหนดโซนน้ำหลาก (Flood Zone) มาใช้ในการจัดการและแก้ปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้สามารถอยู่กับน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ฝืนธรรมชาติ สร้างแก้มลิงริมทะเล รวมทั้งหาวิธีป้องกัน น้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุน และ storm surge เพื่อรับความเสี่ยงในอนาคตด้วย