เปิดตำราหมอพื้นบ้านไทย : ภูมิปัญญารักษาสุขภาพชุมชน
เร็วๆนี้มีการประชุมวิชาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราเปิดใจหมอพื้นบ้านไทยที่อยู่คู่กับระบบสุขภาพชุมชนมาช้านานก่อนที่การสาธารณสุขมูลฐานจะขยับเข้าไป
สง่า สายศรีพันธุ์ : หมอพื้นบ้านไทยดีเด่นปี’55
สง่า สายศรีพันธ์ ชาวตำบลพะยอม อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในวัย 84 ปี ได้รับรางวัลหมอพื้นบ้านไทยดีเด่นปี 2555 บอกเล่าว่าเขาเป็นหมอเหยียบเหล็กแดงรักษาผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต มาตั้งแต่เป็นหนุ่มน้อยวัย 17 ด้วยวิชาที่สืบทอดต่อๆมารุ่นต่อรุ่นจากปู่ชวดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
ไม่เพียงช่วยรักษาชาวบ้านด้วยจิตอาสา แต่เขายังถ่ายทอดวิชาให้ลูกทั้ง 7 คนเป็นเดินรอยตามเป็นหมอพื้นบ้าน และถ่ายทอดความรู้ด้านนี้ให้บรรดาอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ในตำบลพะยอม และนับเป็นตำบลแรกของจังหวัดที่พัฒนาให้หมอพื้นบ้านไปดูแลผู้ป่วยสูงอายุด้วย ในวันนี้การทำงานของหมอสง่ามีองค์การบริหารส่วนตำบลก็เข้ามาช่วยสนับสนุนงบประมาณ และที่บ้านของหมอไม่เพียงมีชาวบ้านมารอคิวรักษา แต่ยังกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาของตำบลด้วย
“สัปดาห์หนึ่งๆผมจะออกไปดูผู้ป่วยที่นอนอยู่กับเตียงตามบ้านที่ลุกไม่ได้ แนะนำให้ออกกำลังกาย หรือไปบีบไปนวดให้ การรักษาส่วนใหญ่ก็มีคนหายบ้าง เช่น คนเป็นอัมพฤกษ์ หรือกระดูกทับเส้น เวลานี้ที่บ้านต้องมีบัตรคิวเหมือนโรงพยาบาลเลยครับ(หัวเราะ) วันหนึ่งๆมีคนจากทั่วสารทิศมาให้รักษา 20-30 คน”
หมอสง่าเล่าถึงเคล็ดวิชาแพทย์พื้นบ้านประจำตระกูลว่า ที่อื่นก็มีการรักษาแนวนี้ เช่น เหยียบถ่าน แต่คาถาใช้ต่างกัน ถามว่าทำไมถึงต้องเหยียบเหล็กแดง ตอบว่าคนเราจะมีธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ พอเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตกล้ามเนื้อจะรัด บางคนก็คลายตัว ก็ใช้ธาตุไฟในร่างกายมาประสานกับไฟข้างนอกแล้ว
คนที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตต้องรักษาทุกวัน วิธีการคือเผาเหล็กให้แดง แล้วเอาน้ำมนต์รดลงไปที่เหล็กไม่ให้ร้อน แล้วใช้เท้าเหยียบน้ำมันพร้าวแล้วมาเหยียบที่เหล็กแล้วก็นาบตามร่างกายคน แกบอกว่าเท้าตัวเองไม่รู้สึกร้อน มันเป็นศาสตร์ที่มองไม่เห็น จะสวดคาถาก่อนที่จะเอาเท้านาบเหล็ก พอกล้ามเนื้อผู้ป่วยถูกความร้อน เส้นเอ็นจะยืดหยุ่น กล้ามเนื้อจะคลายตัวเส้นโลหิตก็หมุนเวียนแล้วก็หายครับ
“เราต้องรู้จักสรีระของร่างกายด้วย รู้ว่าเส้นไหนเชื่อมโยงกับเส้นไหน (สาธิตบีบนวดโดยกดบางจุดทำให้กล้ามเนื้อกระตุกยกขึ้นเอง) โดยมีตำราโบราณถ่ายทอดมา เวลาที่ใช้ในการรักษา ก็ดูตามอาการคนไข้ เป็นมากก็ทำอยู่เกือบชั่วโมง คนที่ไม่ป็นอัมพฤกษ์อัมพาตก็นวดเฉยๆคลายเครียด ไม่ต้องเหยียบเหล็กแดง”
บุรี ขัตติยะวงศ์ : หมอย่างไฟ แห่งเมืองสารคาม
ในวัยปัจจุบัน 78 ปี หมอบุรี ขัตติยะวงศ์ ยังคงใช้ศาสตร์หมอย่างไฟรักษาชาวบ้านที่ประสบอุบัติเหตุ และสตรีหลังคลอด ในตำบลเขมา จังหวัดมหาสารคาม หมอเล่าว่าการย่างไฟเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านอีสานที่ช่วยรักษาผู้ป่วยที่ฟกช้ำมาจากอุบัติเหตุ หรือผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ๆ มดลูกยังไม่เข้าอู่
หมอบุรีเล่าว่า หมอพื้นบ้านอีสานไม่ได้มีแต่หมอย่างไฟอย่างเดียว แต่มีมากมายหลากหลาย อาทิ หมอเป่า กระทั่งหมอดูลายมือซึ่งก็ถือเป็นการรักษาด้วย ส่วนวิชาการย่างไฟรักษาโรคเขาเรียนรู้มาจากบรรพบุรุษ และใช้รักษาชาวบ้านในหมู่บ้านมา 50 ปีแล้ว มีคนมาให้รักษาทุกวัน ทุกวันจะออกไปรักษาคนไข้ตามบ้านด้วย เช้าเย็น ประมาณ 2 คนต่อวัน นอกจากรักษาคนไข้ยังขยายความรู้ไปถ่ายทอดวิชาให้ชาวบ้าน ข้ามจังหวัดไปถึงอุดรธานี สกลนคร และตามมหาวิทยาลัยในหลายจังหวัด
“เวลาไปรักษาตามบ้านส่วนใหญ่ทุกบ้านจะมีแคร่อยู่แล้ว เราเตรียมไปแต่สมุนไพร ให้เขาจุดถ่านไฟกันเอง แต่บางทีก็ต้องเอาแคร่ไปเองด้วย ค่ารักษาบางคนก็ให้บางคนก็ไม่ให้แล้วแต่มีจน”
หมอย่างไฟอีสาน เล่าศาสตร์แขนงนี้ว่าต้องก่อไฟจุดถ่านให้แดง แล้วเอาสมุนไพรต่างๆ(แล้วแต่ตำรายาแล้วแต่โรค) วางกระจายบนแคร่ นำผ้าห่มเปียกน้ำมาวางทับ แล้วให้คนป่วยนอนลงบนผ้าห่ม
“อยากให้การรักษาแบบย่างไฟเผยแพร่ไป ได้ผลเร็วกว่ายากินและยาฉีด คนที่ประสบอุบัติเหตุฟกช้ำภายใน ที่โบราณเขาเรียกว่าฟกช้ำดำเขียว เพราะก้อนเลือดไม่กระจาย ถ้ามาย่างไฟก็ช่วยกระจายเลือดที่จับเป็นก้อน เส้นเอ้นก็จะไม่ยึดไม่ตึงไม่ต้องนวดเลย คนที่ประสบอุบัติเหตุมาย่างไฟสัก 4-5 วันก็จะหาย”
หมอบุรี บอกว่าอาชีพหมอย่างไฟก็ทำให้พออยู่ได้ ตอนนี้มีลูกหลานที่มาสืบทอดวิชา รวมทั้งเด็กๆรุ่นใหม่ก็มาเรียนเป็นหมอย่างไฟ แต่อยากให้ทางจังหวัดช่วยส่งเสริม แพร่กระจายและรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านอีสานแขนงนี้ให้คงอยู่ในจังหวัดไปนานๆ
หนานเพชร ธีระมูล : หมอกินอ้อผญ๋า แห่งล้านนา
หมอหนานเพชร วัย 87 ปีชาวตำบลออย อำเภอปง จังหวัดพะเยา สืบทอดวิชากินอ้อผญ๋า ที่ใช้รักษาความจำเสื่อม ส่งเสริมสติปัญญา ความขยัน ความฉลาดของคนในชุมชน
หมอหนาน เล่าตำนานคาถาอ้อผญ๋า ที่ฟังต่อๆมาจากผู้เฒ่าผู้แก่เป็นทอดๆว่ามีพระฤๅษี 4 ตนอยู่ในถ้ำ ทุกคนมีลูกศิษย์ตนละ 1 คนต้องดูแลให้สืบทอดวิชาให้ได้ก่อนตัวเองเสียชีวิต วันหนึ่งมีพญาหมีตัวหนึ่งเอารังผึ้งและน้ำผึ้งมาถวายพระฤๅษี ฤๅษีจึงประชุมกันแล้วเอาคาถาอ้อที่พระฤๅษีคนหนึ่งไปค้นเจอมาจากในถ้ำ เป่าลงในน้ำผึ้งที่บรรจุในต้นอ้อให้ลูกศิษย์กิน ตั้งแต่นั้นมาลูกศิษย์ทุกคนขยันเรียนวิชา เรียนเก่งหมด มนต์ของฤาษีนี้ หมอชาวบ้านไปเอามาทำพิธีกรรมให้เด็กกิน ลูกศิษย์กิน คนในชุมชนนิยมให้ลูกหลานที่กำลังเรียนหนังสือ มากินอ้อผญ๋าเพื่อให้ความจำดี เรียนหนังสือเก่ง
“ทุกวันนี้มีคนสนใจกินอ้อผญ๋ามาก เพราะรักษาโรคสมองไม่ดี แต่มีข้อแม้ว่าถ้าผู้ใดเรียนวิชาอ้อผญ๋า ต้องเป็นคนมีสัจจะ วางตัวเป็นกลาง ไม่โกงใคร ถือศีล วันพระต้องเข้าวัด กินผลไม้ไม่กินเนื้อสัตว์”
หมอหนานเล่าต่อว่า การกินอ้อผญ๋า คนทำพิธีกรรมจะเป็นพระสงฆ์หรือคนที่เคยบวช หรือถือศีลเท่านั้นถึงจะศักดิ์สิทธิ์ หนานเพชรเคยบวชเป็นพระมา 4 ปีแล้วก็สึกมาเรียนภูมิปัญญาพื้นบ้านตอนอายุ 25 เรียนรู้ถ่ายทอดมาจากปู่ย่าตาทวด
นอกจากกินอ้อผญ๋า หมอหนาน ยังรักษาโรคอื่นๆด้วย โดยการใช้สมุนไพรคู่กับการเสกคาถา เช่น ผงบอระเพ็ดบดเสกคาถา โดยผสมน้ำกินเพื่อรักษาโรคเบื่ออาหาร วิธีการรักษาก็จะถามประวัติก่อน เคยเป็นโรคอะไรมาไหม มีความดันไหม มีเบาหวานไหม ซักประวัติเสร็จก็เขียน แล้วเอาเครื่องวัดความดันมาวัดให้ แล้วให้เข้าไปอบสมุนไพรสัก 5 นาที
หมอหนานเล่าว่า ทุกวันนี้ทำงานให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลออย ไปช่วยรักษาโรค อย่างบางคนเป็นโรคตาแดง บางคนเจ็บปวดเข่าข้อ ก็ไปเป่า ไปทำพิธีกรรม ต่อดวงให้ด้วย ไปนั่งอยู่ที่โรงพยาบาลทุกวันจันทร์และวันอังคาร อาทิตย์ละ 2 วัน ถ้าวันพุธถึงอาทิตย์ทำอยู่ที่บ้าน และได้รับงบสนับสนุนจากอบต.เขาให้มาปีละ 3 หมื่นกว่า เพื่อสนับสนุนแพทย์พื้นบ้าน
“อยากให้ทางกระทรวงสาธารณสุขทางรัฐบาลออกใบประกอบโรคศิลป์ให้กับหมอพื้นบ้าน จะได้มีสิ่งรับรองภูมิปัญญาท้องถิ่นแขนงนี้ และเป็นการให้กำลังใจหมอพื้นบ้าน เพราะหากสังคมไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้อีกหน่อยก็จะเลือนหายไป อย่างใบเปล้าน้อยรักษาโรคกระเพาะอาหารเดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นเอาไปจดเป็นลิขสิทธิ์เขาหมดแล้ว ยาบางตัวก็ไปอยู่ต่างประเทศหมด รัฐบาลสมัยนี้ไม่ควบคุม ทั้งที่ของดีบ้านเราแยะ .
........…
การรักษาโรคด้วยความเชื่อและภูมิปัญญาของหมอพื้นบ้านไทย บางครั้งอาจไม่สามารถพิสูจน์ผลทางวิทยาศาสตร์ที่แน่ชัดได้ แต่ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของแพทย์พื้นบ้านก่อนที่การสาธารณสุขพื้นฐานสมัยใหม่จะเกิดขึ้น คือประจักษ์พยานที่ยืนยันความสำเร็จว่าศาสตร์การแพทย์แขนงนี้เป็นที่ยอมรับเชื่อถือของชุมชนและอยู่คู่ระบบสุขภาพชุมชนมาช้านาน