คลังชูผลงานกระตุ้นศก. ชุมชน ดันงบ 2 ล้านล้านบาทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
‘กิตติรัตน์’ โชว์ผลงานครบ 1 ปี ชูนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ปรับค่าแรง 300 บ.-พักหนี้-จำนำข้าว ฟุ้งรบ.รักษาวินัยการเงินดี เตรียมคลอดงบ 2 ล้านล้านบาทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหลังไทยหล่นอันดับ
วันที่ 10 ก.ย. 55 ที่กระทรวงการคลัง นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (รมว.คลัง) พร้อมนายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) ร่วมแถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงการคลังตามนโยบายของรัฐบาลในรอบ 1 ปี
นายกิตติรัตน์ เปิดเผยว่า หลายปีที่ผ่านมาไทยเผชิญกับปัญหาทางเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากปัญหาหนี้สาธารณะของยูโรโซน และผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงและอัตราเงินเฟ้อเริ่มปรับเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลโดยก.คลังจึงมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ 4 นโยบายหลัก ดังนี้ 1. นโยบายแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อบรรเทา เยียวยา และป้องกันอุทกภัยในอนาคตโดยในระยะสั้น ได้ขยายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินดำเนินมาตรการช่วยเหลือทางการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ มาตรการช่วยเหลือด้านภาษี รวมทั้งจัดตั้งกองทุนส่งเสริมประกันภัยพิบัติ และในระยะปานกลางถึงยาว กระทรวงการคลังได้สนับสนุนการลงทุนเพื่อวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ 350,000 ล้านบาท
2. นโยบายลดรายจ่ายเพื่อบรรเทาภาระของประชาชนจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ด้วยโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล การต่ออายุมาตรการค่าครองชีพ และบัตรเครดิตพลังงาน 3. นโยบายเพิ่มรายได้ เพื่อเสริมสร้างกำลังซื้อและความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน โครงการขึ้นเงินเดือนข้าราชการที่จบปริญญาตรีเป็น 15,000 บาท/เดือน และโครงการจำนำข้าวของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 4. นโยบายขยายโอกาส เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประชาชน ผู้ประกอบการ และประเทศ ด้วยการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ในปี 55 และร้อยละ 20 ในปี 56 โครงการรถคันแรก บ้านหลังแรก และกองทุนตั้งตัวได้
“การดำเนินงานตาม 4 นโยบายดังกล่าว ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยกลับมาขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น และอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงตามลำดับ ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลสามารถรักษาวินัยทางการคลังภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง และสามารถสร้างกลไกการบริหารจัดการหนี้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้อย่างชัดเจน”
รมว.คลัง กล่าวต่อว่า ขณะที่โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกรที่ได้อนุมัติแล้วทั้งสิ้น 844,347 ราย มียอดเงินใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งสิ้น 621 ล้านบาท การคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 7 เป็นส่วนสำคัญที่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคภาคเอกชน โครงการพักหนี้ลูกหนี้ที่มีหนี้ค้างชำระ โครงการพักหนี้ลูกหนี้ที่มีภาระปกติ และโครงการรถคันแรกมีผู้ขอใช้สิทธิ์ 169,861 คัน คิดเป็นยอดขอคืนเงินภาษีจำนวน 12,191 ล้านบาท
ด้านการดูแลอัตราเงินเฟ้อได้ขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่ 0.005 บาท/ลิตร ซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงปีที่ผ่านมากว่า 108,000 ล้านบาท และในส่วนของการส่งเสริมการแข่งขันเสรี กระทรวงการคลังได้ดำเนินโครงการจัดตั้งการให้บริการระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าระหว่างประเทศ โดยคาดว่าจะเชื่อมโยงข้อมูลเสร็จสมบูรณ์ปลายปี 56 และจะเชื่อมโยงระบบกับประเทศอาเซียนได้ในปี 57
นายกิตติรัตน์ กล่าวอีกว่า ก.คลังยังได้ดำเนินโครงการ ‘รวมแรงไทย รักษ์น้ำใส ไหลทุกคูคลอง’ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนในการดูแลคูคลองของตนเอง และโครงการ ‘รัฐบาลพบประชาชนทุนเพื่อคุณภาพชีวิต’ เพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนและผลประโยชน์จากนโยบายของรัฐ
นอกจากนี้ กรมธนารักษ์ได้นำที่ราชพัสดุที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าเพื่ออยู่อาศัยและทำกินตามโครงการรัฐเอื้อราษฎร์ ซึ่งปีที่ผ่านมาสามารถจัดให้เช่ากว่า 6,200 ราย และมีการนำที่ราชพัสดุไปสนับสนุนด้านพลังงานของประเทศ ด้วยการให้เกษตรกรเช่าทำการเกษตรและปลูกพืชทดแทน
ทั้งนี้รมว.คลัง ยังกล่าวถึงนโยบายระยะต่อไป เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศได้วางเป้าหมายยุทธศาสตร์ 3 ประการ ได้แก่ 1. การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 2. การสนับสนุนศักยภาพและเพิ่มความสามารถการแข่งขัน 3. การรักษาความยั่งยืนทางการคลัง
นอกจากนี้ไทยยังจำเป็นต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยล่าสุดสถาบันการจัดการนานาชาติจัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย อยู่ลำดับที่ 49 จาก 59 ประเทศ และเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม จัดอันดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย อยู่ลำดับที่ 46 จาก 144 ประเทศ ดังนั้นจึงมีนโยบายออก พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งครอบคลุมการขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ พลังงาน การสื่อสาร และสาธารณูปการ.
ที่มาภาพ : http://www.posttoday.com