คปก.จัดเวทีระดมความเห็น เร่งผลักดันร่างกม.องค์การอิสระด้าน สวล.
คณะกก.ปฏิรูปกฎหมาย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแนวทางปฏิรูปพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ 2535 พร้อมเร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ชี้กม. 2 ฉบับ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญใช้แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่อง "แนวทางการปฏิรูปพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และผลักดันร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ...." ณ โรงแรมทีเค พาเลซ ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพ โดยมีนายไพโรจน์ พลเพชร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ประธานการประชุม
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการพิจารณาและปรับปรุงกฎหมายด้านที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าการปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ว่า หลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เห็นความจำเป็นของการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ จึงมีการนำเสนอจัดทำร่างกฎหมายมาตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว กระทั่งผ่านความเห็นกฤษฎีกา และกฤษฎีกาได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรรอร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ....เพื่อพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับนี้ควบคู่กันไป
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ....ภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมได้ร่วมกันยกร่างกฎหมายนี้ มีการรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมาย และยื่นต่อประธานรัฐสภาไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อผู้เสนอกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา และไปรอที่สภาฯแล้ว
"กฎหมายทั้งสองฉบับ ถือเป็นเครื่องมือและกติกาที่สำคัญต่อการบริหารจัดการ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. ....มีความเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในประเด็นเรื่องระบบการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการตัดสินใจนโยบายสาธารณะด้านสิ่งแวดล้อม"
ด้านดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตกรรมการปฏิรูป กล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 มา 20 ปี ถึงวันนี้ถือว่า ล้มเหลว หากวัดผลจากสภาพแวดล้อมที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน มีทั้งปัญหา ดิน น้ำ ป่าไม้ อากาศ เสื่อมโทรม ไม่ดีสักเรื่อง ดังนั้น ต้องกลับมาทบทวนจะแก้ไขอย่างไร
"ความล้มเหลวอันดับแรก คือ เราไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความสำนึก มีความระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ ทั้งๆที่เป็นกฎหมายส่งเสริมรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะแก้ไขปรับปรุงก็ต้องมองจุดนี้ด้วย" ดร.เพิ่มศักดิ์ กล่าว และว่า กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 เน้นแต่การป้องกัน และเข้าไปแก้ไข เหมือนตามหลังปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้ว ส่วนกองทุนสิ่งแวดล้อม ก็ถือเป็นความล้มเหลวของกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน
ส่วนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิ กล่าวแสดงความเห็นด้วยที่คณะกรรมการ ในร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ควรเป็นองค์การมหาชน เพราะที่ผ่านมาคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สูงเกินเอื้อม และขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
จากนั้นที่ประชุมมีการระดมความเห็นการจัดทำแผนการทำงานร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และเครือข่ายภาคีที่เกี่ยวข้อง เพื่อการปฏิรูปพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535