เรื่องยุ่งๆ ของตาลีบัน-ปปง./ โอไอซี -สันนิบาตโลกมุสลิม/ เลือกตั้งผู้ว่าฯ
บางมิติของปัญหาชายแดนใต้กำลังยุ่งเหยิงเกินจริงจากการสื่อสารที่ผิดพลาดของฝ่ายบริหารที่มีอำนาจหน้าที่และการนำเสนอข่าวของสื่อหลายเรื่องในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
เรื่องแรก ผู้บริหารโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามเตรียมยื่นหนังสือประท้วง ปปง.หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หลังมีข่าวทำนองว่า พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.ให้สัมภาษณ์มีการนำเงินสนับสนุนด้านการศึกษาของโรงเรียนปอเนาะไปใช้ในการก่อการร้าย โดยเม็ดเงินดังกล่าวเชื่อมโยงกับ "กลุ่มตาลีบัน" ซึ่งเป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในอัฟกานิสถานด้วย
ความจริงก็คือ พ.ต.อ.สีหนาท แถลงข่าวเมื่อวันอังคารที่ 4 ก.ย.2555 เกี่ยวกับการอายัดทรัพย์ชั่วคราวบุคคลและกลุ่มบุคคลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายฟอกเงิน ทั้งที่เชื่อมโยงกับความผิดฐานค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ และก่อการร้าย โดยหนึ่งใน 4 คดีคือการอายัดทรัพย์ชั่วคราวผู้ถือใบอนุญาตโรงเรียนอิสลามบูรพา อ.เมือง จ.นราธิวาส
คดีนี้นับว่าน่าสนใจ เพราะโรงเรียนอิสลามบูรพาเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาชื่อดัง มีอายุอานามเก่าแก่ และเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ สถานศึกษาแห่งนี้ถูกทางราชการสั่งปิดตั้งแต่ปี 2550 ภายหลังมีการปิดล้อมตรวจค้นและสามารถจับกุมผู้ต้องหา 7 คนพร้อมอุปกรณ์ประกอบระเบิดได้จำนวนมากในบ้านพัก (ปอเนาะ) ของโรงเรียน
ต่อมาในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ผลักดันให้โรงเรียนแห่งนี้เปิดการเรียนการสอนอีกครั้งเมื่อ 26 ธ.ค.2554 เพราะมองว่าโรงเรียนไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หลังจากนั้นโรงเรียนได้เปิดรับนักเรียนเมื่อภาคการศึกษาที่ 1/2555 ที่ผ่านมา
ทว่ากลางเดือน มี.ค.2555 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำเลย 4 ใน 7 คนที่ถูกจับกุมพร้อมของกลางอุปกรณ์ประกอบระเบิดในโรงเรียนอิสลามบูรพา ทำให้ ปปง.ต้องเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินและเส้นทางการเงินว่าเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายหรือไม่ ซึ่งเป็นการอายัดทรัพย์เพียงชั่วคราว 90 วันเท่านั้น
ประเด็นหลักๆ ที่ พ.ต.อ.สีหนาท แถลงต่อสื่อมวลชนและมีเอกสารประกอบการแถลงข่าวออกมาก็มีอยู่เท่านี้ ส่วนประเด็นที่กลายเป็นข่าวฮือฮานั้นอยู่ในช่วงซักถามท้ายการแถลงข่าว ซึ่งมีการถามกันหลายคำถาม โดยเฉพาะแหล่งที่มาของเงินอุดหนุนการศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนา ซึ่ง พ.ต.อ.สีหนาท พูดชัดในกรณีทั่วไป ไม่ได้เจาะจงโรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งว่า ที่มาของเงินส่วนหนึ่งมาจากตะวันออกกลาง เป็นเงินบริจาคด้านการศึกษาและมนุษยธรรม แต่อาจจะมีบุคคลหรือกลุ่มผู้ไม่หวังดีลักลอบนำเงินบางส่วนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
จากนั้นก็มีการซักถามกันเซ็งแซ่อีกหลายคำถาม โดยเฉพาะประเด็นที่ว่า "เกี่ยวโยงกับกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานด้วยหรือไม่" ซึ่งเลขาธิการ ปปง.ก็ตอบกลางๆ ว่าอาจจะเป็นไปได้ แต่ขอตรวจสอบก่อน
เจตนาของเลขาธิการ ปปง.ค่อนข้างชัดว่าไม่ได้ฟันธงว่ามีจริง แต่ในเมื่ออัฟกานิสถานก็เป็นหนึ่งในพื้นที่ความขัดแย้ง มีการสู้รบระหว่างกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงกับมหาอำนาจตะวันตกมายาวนาน ทั้งยังตั้งอยู่ในเขตติดต่อกับตะวันออกกลาง ก็อาจทำให้เลขาธิการ ปปง.เห็นว่าน่าจะเป็นประเด็นที่พึงตรวจสอบ แล้วมีการตอบคำถามโยงไปถึงการจับตาโรงเรียนปอเนาะ หรือโรงเรียนสอนศาสนาอีก 2-3 แห่งในพื้นที่ด้วย
ท่าทีของเลขาธิการ ปปง.ที่ผมคิดว่าไม่ได้ต้องการปรักปรำหรือพูดให้กลายเป็นข่าวใหญ่โตในเรื่องนี้ ก็คือการกล่าวในตอนท้ายของการแถลงข่าวที่ว่า "ยอมรับว่าคดีนี้เป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อน ปปง.จึงต้องขอความเห็นใจจากประชาชนทั่วประเทศ เราไม่ได้ห้ามการเรียนการสอน แต่อย่าใช้สถานที่สอนในการก่อการร้าย หรือสนับสนุนการก่อการร้าย" ทั้งยังพูดคุยนอกรอบทำความเข้าใจกับผู้สื่อข่าวอีกหลายรายที่พยายามเข้าไปซักถามเพิ่มเติม โดยบอกว่า "ทุกประเด็นยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ เป็นการดำเนินการตามกฎหมายปกติเท่านั้น และถ้าตรวจสอบแล้วไม่พบอะไร ก็ต้องถอนการอายัด"
เรื่องที่สอง กรณีที่ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ให้สัมภาษณ์ตำหนิบทบาทของ "โอไอซี" หรือองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation; OIC หรือที่เดิมใช้ชื่อว่า Organization of the Islamic Conference; องค์การการประชุมอิสลาม) ที่มีข่าวว่าประธานโอไอซีจะเดินทางเยือนประเทศไทยและลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย โดยจะมีการพบกับแม่ทัพภาคที่ 4 ด้วย
ลองอ่านดูบทสัมภาษณ์แล้วจะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กเลย เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ก.ย.2555 ที่ถามว่าคิดอย่างไรกรณีที่วันที่ 18-19 ก.ย.นี้ประธานโอไอซีจะเดินทางไปพบแม่ทัพภาคที่ 4 เพื่อหารือและรับทราบปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบเอาไว้แบบนี้
"การที่โอไอซีเดินทางเข้ามาดีหรือไม่ เมื่อไม่ดีจะให้เขามาพูดทำไม อย่าเอาเรื่องในประเทศไปพูดข้างนอก มันเป็นเรื่องของเรา ซึ่งเราก็กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอยู่ เรายังไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร เพราะฉะนั้นจะไปเข้าเงื่อนไขอย่างที่ผมเคยพูดว่าต่างชาติจะเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของประเทศเรา"
วันต่อมา พล.อ.ยุทธศักดิ์ เจอคำถามคล้ายๆ กัน ก็เลยตอบคล้ายๆ กันว่า "โอไอซีควรจะมาซักถามในส่วนของนโยบายกับหน่วยเหนือก่อน คือควรดำเนินการไปตามขั้นตอน การเข้ามาเกี่ยวข้องลึกมากเกินไป ผบ.ทบ.ก็ไม่อยากให้เป็นลักษณะอย่างนั้น เรื่องนี้ยังเป็นปัญหาของประเทศ ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยรัฐบาลและคนไทยด้วยกันเอง...เราไม่จำเป็นต้องใช้มือต่างชาติหรือสหประชาชาติเข้ามายุ่งประเทศของเราที่เรากำลังแก้ไขกันอยู่และกำลังทำได้อยู่ด้วย..." แล้วก็บอกว่าขณะนี้ยังไม่เห็นหลักฐานการขอเข้าพบแม่ทัพภาคที่ 4 ของประธานโอไอซี แต่ต้องป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงในพื้นที่ของไทย ฯลฯ
ข้อเท็จจริงของเรื่องนี้ก็คือ ไม่มีกำหนดการที่ประธานโอไอซีจะเดินทางมาประเทศไทยในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้หรือว่าช่วงไหนๆ เพราะต้องเข้าใจว่าตำแหน่งประธานโอไอซีนั้นใช้ระบบสลับกันระหว่างผู้นำประเทศสมาชิก 57 ชาติของโอไอซี โดยจะดำรงตำแหน่งเป็นวาระ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ผู้นำมาเลเซียก็เป็นประธานโอไอซี แต่ปัจจุบันวนไปประเทศอื่นแล้ว
ฉะนั้นหากประธานโอไอซีจะเดินทางเยือนไทย แถมลงไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย คงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะเท่ากับผู้นำประเทศใดประเทศหนึ่งในชาติสมาชิกโอไอซีเดินทางเยือนไทยเลยทีเดียว
และเมื่อประธานโอไอซีเป็นตำแหน่งที่ผู้นำแต่ละประเทศสลับกันทำหน้าที่ตามวาระ ฉะนั้นการขับเคลื่อนงานของโอไอซี จึงอยู่ที่ "เลขาธิการ" และ "สำนักเลขาธิการ" เป็นหลัก โดยเลขาธิการคนปัจจุบันคือ ดร.เอกเมเลดดิน อิซาโนกลู (Ekmeleddin Ihsanoglu) ดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2548 และจะหมดวาระ (รอบ 2) ในปี 2557 สำนักงานเลขาธิการตั้งอยู่ที่กรุงเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย
ทั้งนี้ ดร.อิซาโนกลู เคยเดินทางเยือนประเทศไทยมาแล้วเมื่อเดือน พ.ค.2550 และคณะเจ้าหน้าที่ระดับสูงของโอไอซี ซึ่งเป็นผู้แทนและที่ปรึกษาของ ดร.อิซาโนกลู นำโดย นายซาเยด คาสเซม เอล มาสรี (Sayed Kassem El Masry) ก็เพิ่งเดินทางเยือนไทยระหว่างวันที่ 7-12 พ.ค.ที่ผ่านมานี้เอง จึงเป็นไปได้ไม่ได้เลยที่โอไอซี (โดยเฉพาะประธาน) จะเดินทางเยือนไทยอีกในกลางเดือน ก.ย.
แต่ที่น่าสนใจก็คือ ผู้ที่จะเดินทางมาประเทศไทยในราววันที่ 17-19 ก.ย.นี้ คือ ศ.ดร.อับดุลเลาะห์ อัล-ตุรกี มุหซิน เลขาธิการสันนิบาตโลกมุสลิม เพื่อร่วมโครงการสัมมนานานาชาติกับผู้นำศาสนารวม 5 ศาสนาในอาเซียน ในหัวข้อ "ศาสนากับกระบวนการสร้างสันติภาพในอาเซียน" ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ และจะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อสัมมนากันที่มหาวิทยาลัยอิสลามยะลาด้วย
สันนิบาตโลกมุสลิมเป็นองค์กรทางศาสนา และเป็นคนละองค์กรกับ "โอไอซี" หรือองค์การความร่วมมืออิสลาม ซึ่งบ้านเราชอบเรียกว่า "องค์กรมุสลิมโลก" อันเป็นองค์กรทางการเมืองระหว่างประเทศและเป็นเวทีพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดของโลกมุสลิม ฉะนั้นประเด็นนี้จึงเป็น "คนละเรื่อง" กันอย่างสิ้นเชิง
เรื่องสุดท้าย จริงๆ ไม่ได้เป็นประเด็นสื่อสารผิดพลาดอะไร แต่อาจจะเป็นการ "พูดไปเรื่อย" หรือ "พูดเร็วไปนิด" (อีกครั้ง) ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ที่เสนอแนวทางดับไฟใต้ด้วยการให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ย้อนกลับไปปี 2551 เมื่อครั้งที่ ร.ต.อ.เฉลิม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ก็เคยเสนอให้ตั้ง "เขตปกครองพิเศษชายแดนใต้" จนเจอก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้มาครั้งหนึ่งแล้ว
การเสนอแนวคิดลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่คำถามคือเป็นการเสนอที่คิดมาอย่างดีแล้ว มีแผนการรองรับชัดเจนมากพอ หรือเป็นแค่การเสนอเพื่อสร้างข่าววูบวาบ จากนั้นก็เงียบหายไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ก่อนตั้งรัฐบาลชุดนี้ พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะสนับสนุนให้เกิดการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เรียกว่า "นครปัตตานี" แต่พอได้เป็นรัฐบาลแล้วทุกอย่างก็เงียบหายไปกับสายลม แกนนำรัฐบาลบางคน (นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย) ยังบอกด้วยซ้ำว่า "นครปัตตานี" ไม่ใช่นโยบายของพรรคและรัฐบาล
ต่อมาก็มีการพูดเฉียดไปเฉียดมาว่าด้วยเรื่องการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ และแนวทาง "จังหวัดจัดการตนเอง" แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม กระทั่งล่าสุดก่อนที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะออกมาพูดเรื่องนี้เพียง 1 วัน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รองนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่ง ก็ออกไอเดียว่าการคัดเลือกบุคคลไปทำหน้าที่ผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ น่าจะเป็นการเสนอมาจากหน่วยงานข้างล่าง คือ กอ.รมน.ภาค 4 และ ศอ.บต. (ซึ่งไม่ใช่รูปแบบเลือกตั้งผู้ว่าฯโดยตรงจากประชาชน)
ข้อเสนอรายวันเช่นนี้ สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความชัดเจนในนโยบายว่าจะเอาอย่างไรกับสถานการณ์ในภาคใต้...
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พูดเอาไว้อย่างน่าฟัง (ในช่วงที่เป็นฝ่ายค้าน) ว่า อยากให้ ร.ต.อ.เฉลิม (และรัฐบาล) ใจเย็นๆ เพราะการแก้ปัญหาความไม่สงบเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเสนอแนวทางหลายๆอย่างจะทำให้เกิดความสับสนและอาจกลายเป็นเงื่อนไขในอนาคตหากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติได้จริง
ข่าวเกี่ยวกับชายแดนใต้ที่สับสนตลอดสัปดาห์ ทั้งที่จงใจและไม่จงใจ เป็นการบ้านข้อใหญ่ของรัฐบาลและศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) ที่กำลังตั้งไข่ว่า แค่บูรณาการความคิดของคนในรัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันเสียก่อน ก็ยากมากแล้ว
ฉะนั้นอย่าได้ไปคาดหวังว่าจะมียุทธศาสตร์อะไรเพื่อเอาชนะกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : โรงเรียนอิสลามบูรพา ต้นตอของข่าววุ่นๆ เรื่องฟอกเงินก่อการร้าย (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)