"อภิสิทธิ์-มหาธีร์" : สันติวิธีดับไฟใต้ยั่งยืน
เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ก.ย.2555 ที่หอประชุมนานาชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้มีเวทีพูดคุยนานาชาติในหัวข้อ "กระบวนการสันติภาพปาตานีในบริบทของอาเซียน" จัดโดยเครือข่ายภาคประชาสังคมชายแดนใต้
ทั้งนี้ การสร้างกระบวนการสันติภาพที่ปัตตานี หรือ Patani Peace Process (PPP) ริเริ่มจากเครือข่ายภาคประสังคมชายแดนใต้ หัวใจสำคัญคือการเปิดพื้นที่การพูดคุยระหว่าง "คนใน" ที่จะนำไปสู่การวิเคราะห์ความขัดแย้ง การวิเคราะห์สันติภาพ และการเสนอแผนที่เดินทางไปสู่สันติภาพ (Roadmap for Peace) อย่างเป็นรูปธรรม ท่ามกลางบริบทใหม่ของการก้าวสู่ความเป็นสากล อิทธิพลของปัจจัยระหว่างประเทศที่เด่นชัดขึ้น โดยเฉพาะการก้าวไปสู่ยุคของความเป็นชาติอาเซียน
ไฮไลท์สำคัญของงานคือปาฐกถาพิเศษเรื่อง "วิสัยทัศน์ผู้นำว่าด้วยการเมือง ความขัดแย้ง และสันติภาพในประเทศสมาชิกอาเซียน" โดย ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย
อภิสิทธิ์: ใช้กำลังทหารดับไฟใต้ไม่ยั่งยืน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวในการปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้น การแก้ปัญหาต้องมองย้อนไปถึงรากเหง้าของปัญหาว่าแท้จริงแล้วเกิดขึ้นมาจากความแตกต่างหลากหลาย แต่การแก้ปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างหลายหลายไม่ใช่การใช้วิธีการไปขจัดความแตกต่างเหล่านั้น ทว่าต้องทำอย่างไรให้ความแตกต่างที่มีอยู่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ การแก้ปัญหาลักษณะนี้ไม่มีวิธีการที่เป็นสูตรสำเร็จที่จะใช้ได้กับทุกปัญหาความขัดแย้ง ฉะนั้นต้องแก้ไขปัญหาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะเมื่อความหลากหลายกลายเป็นความไม่ไว้วางใจ นำไปสู่ความอยุติธรรม ก็จะเกิดการเสียสมดุล นำไปสู่ความแปลกแยก ความวุ่นวาย แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งการใช้ความรุนแรงของภาครัฐไม่ใช่แนวทางการแก้ปัญหา
"อย่างปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยต้องย้อนมองถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา ซึ่งในปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) ปัญหาได้คลี่คลายลงไปด้วยดี มีการใช้ความรุนแรงน้อยมาก แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย มีการใช้อำนาจรัฐมากขึ้น ทำให้สถานการณ์พลิกกลับ จนเกิดการใช้ความรุนแรงกลับมาอีก ซึ่งการใช้กำลังทหารอย่างเดียวในการแก้ปัญหาไม่ใช่แนวทางการหาข้อยุติที่ยืนยาว ท้ายที่สุดแล้วการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต้องมาจากการเมืองและกระบวนการทางการเมือง ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขและหากระบวนการที่นำมาซึ่งข้อยุติ"
เปิดพื้นที่สร้างสมดุลการมีส่วนร่วม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญรัฐต้องเปลี่ยนนโยบายโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนา พิจารณาความต้องการจากพื้นที่ชั้นใน ยกระดับรายได้ของประชาชน ข้าราชการต้องมีความรับผิดชอบ และเปิดพื้นที่ทางการเมืองในการบริหารจัดการปัญหา ให้ผู้นำในพื้นที่เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการร่วมแก้ปัญหา วิธีการเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการที่ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความสมดุลในการอยู่ร่วมกันท่ามกลางความหลากหลาย
อดีตนายกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในรัฐบาลชุดที่แล้วมีความชัดเจนในแนวทางการแก้ไขปัญหาภาคใต้ โดยต้องแก้ในทุกมิติ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและเรื่องความยุติธรรมเป็นหัวใจสำคัญ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้นจำเป็นต้องมีการพูดคุยกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พูดคุยกับคนที่คิดแตกต่างกับรัฐ ซึ่งกระบวนการนี้จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และคงไม่สามารถไปจำกัดหรือตีกรอบรูปแบบการแก้ปัญหาในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพียงเรื่องเดียวได้ในขณะนี้
"เราต้องยอมรับว่าสภาพปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้แตกต่างจากหลายแห่งในโลก เพราะเวลาเกิดเหตุรุนแรงขึ้นไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบว่าเป็นผู้กระทำ ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าข้อเรียกร้องคืออะไร ฉะนั้นคงต้องใช้ระยะเวลาในการทำให้เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน กระทั่งทุกฝ่ายสามารถพูดคุยกันได้จริง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
มหาธีร์: ต้องใช้คนกลางแก้ขัดแย้ง
ส่วนการปาฐกถาพิเศษของ ดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกฯมาเลเซีย เขากล่าวตอนหนึ่งถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ผ่านมา โดยได้ยกตัวอย่างข้อพิพาทระหว่างประเทศในเรื่องการแย่งชิงและครอบครองพื้นที่ ซึ่งหากเป็นปัญหาระหว่างประเทศต้องเริ่มจากการเจรจาของคู่พิพาท หากไม่เป็นผลก็ต้องให้คนกลางเข้าไปตัดสินปัญหาให้ อย่างเช่นการนำข้อพิพาทเข้าสู่ศาลโลก โดยคู่พิพาททั้ง 2 ต้องหาข้อเท็จจริงต่างๆ ไปอธิบาย แล้วคนกลางจะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งกระบวนการการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศด้วยวิธีนี้เป็นแนวทางสันติและมีอารยธรรม
"หากคู่พิพาทใช้กำลังในการแก้ไขและตัดสิน ก็จะเป็นการเพิ่มหรือขยายข้อพิพาทออกไปจนเกิดการต่อสู้และทำลายกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นำไปสู่สงครามและความสูญเสียของประชาชนทั้งสองฝ่าย สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น เมื่อปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทเกิดขึ้น ต้องพูดคุยกันอย่างสันติ ไม่ควรใช้กำลังในการแก้ไขปัญหา การใช้สงครามและความรุนแรงไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีอยู่ในขณะนี้ไม่มีอาวุธนิวเคลียร์"
ยันร่วมมือไทยดับไฟใต้-ปัดแทรกแซง
ส่วนปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยนั้น อดีตผู้นำมาเลย์ กล่าวว่า เป็นปัญหาภายในประเทศของไทยที่ทางอาเซียนคงจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว และก็เป็นมติของทุกประเทศอาเซียนที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงปัญหาภายในของสมาชิก ยกเว้นแต่ได้รับคำเชิญให้เข้าไปช่วยเหลือในการแก้ปัญหาจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆ
"ที่ผ่านมาปัญหาภาคใต้ของไทย มาเลเซียไม่เคยเข้าไปแทรกแซง มีเพียงที่ทางผ่านรัฐบาลไทยขอความช่วยเหลือด้านการข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ซึ่งมาเลเซียก็ได้ให้ความช่วยเหลือและแนะนำให้แก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เพราะไม่ใช่เรื่องที่ฉลาดนักหากเราเข้าไปแทรกแซงปัญหาภายในของประเทศอื่น" อดีตผู้นำมาเลย์ ระบุ
---------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพถ่ายจากเวทีโดย นครินทร์ ชินวรณ์โกมล ช่างภาพจากศูนย์ภาพเนชั่นประจำจังหวัดยะลา