เอกชนชี้คอร์รัปชั่น 'เนื้อร้าย' ทำประเทศง่อยเป็นที่โหล่ใน AEC
กานต์ ตระกูลฮุน ประกาศ SCG ไม่มีเรื่องใต้โต๊ะ ชี้ผลดีต้นทุนเราจะต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป ขณะที่ปธ.หอการค้าสงขลา หมูไม่กลัวน้ำร้อน โอดดำเนินธุรกิจยากลำบาก เจอ 2 เด้ง ทั้งความไม่สงบ -คอร์รัปชั่น บอกยังไม่รวมปัญหายาเสพติด ค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อน
เมื่อเร็วๆ นี้ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น 42 องค์กร จัดงาน "วันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2555 : รวมพลังเปลี่ยนประเทศไทย" ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยในห้องเสวนากลุ่มย่อยในหัวข้อ "รวมพลังภาคธุรกิจ ริเริ่ม Clean & Clear Standrad for AEC" โดยมีองค์กรธุรกิจต่าง ๆ จากแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างคับคั่ง
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (บลจ.บัวหลวง) กล่าวว่าประเทศที่มีคอร์รัปชั่นจะทำให้ประเทศล้าหลัง เพราะคอร์รัปชั่นจะทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น ผลกำไรที่ดีของบริษัทต้องถูกตัดทอนลงด้วยการเรียกร้องคอร์รัปชั่น ซึ่งมีแต่จะมากขึ้นทุกที ซึ่งเมื่อเปิดประเทศเข้าสู่เออีซี เราจะเป็นประเทศที่ไม่น่าลงทุนเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ดังนั้นการจะให้สิ่งเหล่านี้หมดไปจากประเทศไทย เราต้องเริ่มต้นที่ตัวเราก่อน
ขณะที่นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวผ่านคลิปวิดีโอบันทึกการสัมภาษณ์ว่า การคอร์รัปชั่นเป็นเนื้อร้ายที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลง SCG เราไม่มีเรื่องใต้โต๊ะ ไม่มีเรื่องที่เขาต้องมา "เผื่อ" เยอะ ๆ ผลที่เกิดกับเราจากการที่เรามีจริยธรรม มาก ๆ โปร่งใสถูกต้อง ต้นทุนเราจะต่ำเสมอกว่ามาตรฐานทั่วไป แล้วคู่ค้าาก็อยากจะทำธุรกิจต่อ เรื่องความถูกต้อง โปร่งใสพวกนี้ ถ้าองค์กรของไทยเตรียมตัวได้ก่อน เราจะได้เปรียบ
ส่วนนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การคอร์รัปชั่นทำให้ความน่าเชื่อถือหายไป วันนี้เราอยู่ในขั้นอันตรายเพราะเราแข่งกันโกง ก็เลยดูเหมือนน่าเชื่อถือหมด เพราะต่างเก่งในการโกงกันทุกคน อาเซียนที่เราจะเข้าไปร่วมกัน 10 สิบประเทศ และอาจบวกอีก 6 ประเทศ ถ้าเรายังหนีออกจากวงจรคอร์รัปชั่นไม่ได้ เราก็จะอยู่ในสภาพที่แข่งกับใครไม่ได้
ขณะที่นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ออฟฟิศเมท กล่าวว่าบริษัทเอกชนไทยส่วนใหญ่มักจะมองการแข่งขันแค่ตลาดภายในประเทศ ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นราชการหรือเอกชน วิธีที่ง่ายที่สุดที่เราจะได้งานก็คือการจ่ายใต้โต๊ะ แต่ในอนาคตอีกไม่กี่ปี เราต้องแข่งกับประเทศที่ไม่ได้มีระบบจ่ายใต้โต๊ะเยอะเหมือนเรา ซึ่งหลายประเทศเหล่านี้เขาพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันหรือนวัตกรรมสินค้าไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันเรายังเคยชินที่จะให้ใต้โต๊ะ แล้วไม่ต้องแข่ง แล้วมันชนะ
" วิธีแบบนี้ทำให้เราอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถแข่งขันกับใครได้ใน วิธีจ่ายค่าคอมมิสชั่นให้ฝ่ายจัดซื้อ แล้วได้งาน โดยไม่หันไปพัฒนาเรื่อง R&D หรือ Production development ของตัวเอง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชนไทยในอนาคตไม่เหลือเลย ซึ่งแนวโน้มอย่างนี้ผมเห็นว่า มันรุนแรงและชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราเข้า AEC เราต้องแข่งกับอีก 10 ประเทศ และแข่งกับทวีปอื่น ถ้าเรายังไม่หลุดจากบ่วงการคอร์รัปชั่น มันจะเป็นปัญหาที่หนักหนาสาหัสมากสำหรับประเทศไทย" นายวรวุฒิ กล่าว
ธุรกิจใต้อ่วมสู้หนัก 2 เรื่อง
ดร.สุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในส่วนของภาคใต้การดำเนินธุรกิจเป็นไปด้วยความยากลำบากมาก เพราะปัญหาหลักคือความไม่สงบ นั่นคือต้นทุนที่สูงมากของคนที่ดำเนินธุรกิจในภาคใต้ สมมติว่าจะจัดงานสัมมนาหรืองานแสดงสินค้า อีกต้นทุนที่จะตามมาก็คือการรักษาความปลอดภัย คนภาคใต้จึงต้องต่อสู้สองเรื่อง ทั้งกับปัญหาความไม่สงบและปัญหาการคอร์รัปชั่น สาเหตุที่สำคัญหนึ่งของปัญหาภาคใต้คือ การไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อมีการช่วยเหลือจากภาครัฐลงไปสู่ภาคเอกชนหรือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่สงบ เงินนั้นมันถูกเบียดบังไปจากการคอร์รัปชั่น เงินไปไม่ถึงมือผู้ที่ควรจะได้รับ ได้น้อยลงเพราะถูกหักหัวคิวออกไป นี่คือปัจจัยสำคัญมากที่สร้างความเสียหายต่อธุรกิจในภาคใต้ อีกทั้งปัญหายาเสพติด การค้าของเถื่อน โดยเฉพาะน้ำมันเถื่อนเป็นปัญหาเพราะมีการจ่ายใต้โต๊ะมาก
"การจะลดปัญหาคอร์รัปชั่นได้ก่อน ตัวเราเองต้อง clean และ clear ก่อน เคยปรึกษากันว่า ถ้าเราไปขัดขวางข้าราชการที่เรียกร้องเงินใต้โต๊ะ แล้วท่านจะทำอย่างไร ถ้าไม่ให้เขาก็แกล้งเรา ผมขอเรียนว่า ประเทศนี้มันต้องเจอหมูไม่กลัวน้ำร้อนอย่างเรา ผมอยู่สงขลาผมกล้าร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดเลยว่า ข้าราชการคนนี้ ๆ มีการเรียกร้องแบบนี้ ๆ ทำแบบนี้แล้วชีวิตผมไม่ปลอดภัย แต่จำเป็นต้องทำอย่างนี้ นี่คือสิ่งที่ทำให้รู้สึกว่า ภาคใต้น่าสงสาร การนำเข้าและส่งออกสินค้าของสงขลาตอนนี้ มูลค่าห้าแสนกว่าล้านบาท มากที่สุดในภูมิภาค เพราะด่านชายแดนที่สะเดาเป็นนำสินค้าเข้า-ออกมากมาย ซึ่งทำให้เรามีความสำคัญต่อ AEC ในอนาคต แต่ผมอยู่สงขลามา 30 ปี ประตูเข้าออกที่ด่านก็ยัง 10.5 เมตรเท่าเดิม ถนนก็ยังเท่าเดิม แต่จำนวนรถเพิ่มขึ้นมาก แล้วเราจะไปสู้เขาได้ยังไง รวมกับปัญหาคอร์รัปชั่นการจ่ายเบี้ยบ้ายรายทาง นี่คือปัญหา ดังนั้นเราต้องการคนที่กล้าที่จะพูด" ประธานหอการค้าสงขลา กล่าว
นายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การคอร์รัปชั่นทำให้สิทธิ์ของความเป็นมนุษย์ถูกรุกล้ำ และสร้างความเหลื่อมล้ำ เพราะคนที่กล้าที่จะคอร์รัปชั่น ได้ถีบตัวเองให้ขึ้นสูงกว่าคนอื่นที่พยายามประพฤติตัวอยู่ในกรอบจริยธรรมที่ดีของสังคม การได้สิทธิพิเศษจากการคอร์รัปชั่นทำให้รายได้กระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นการล้ำสิทธิของคนอื่นที่จะเข้าถึงทรัพยากร
นางสาวดวงกมล โชตะนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สาเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผู้คอร์รัปชั่นยังลอยนวล เกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ คดีคอร์รัปชั่นจำนวนมากใช้เวลานานกว่าจะตัดสินยุติ แสดงให้ให้เห็นว่าการคอร์รัปชั่นมีต้นทุนต่ำ กฎกติกาต่าง ๆ ก็สับสนวุ่นวาย การปรามปรามคอร์รัปชั่นปัจจุบันจึงยังเหมือนแมวไล่จับหนู ดังนั้นต้องแก้ปัญหานี้ด้วยการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งขึ้น
เสนอออกกม.นิรโทษภาษีให้นักธุรกิจชี้ช่องคอร์รัปชั่น
จากนั้น ผู้เข้าร่วมอภิปรายมีการนำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น 1. ให้รัฐบาลแก้กฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นให้เข้มงวด และให้แยกส่วนงานที่ดูแลเรื่องนี้ให้เป็นอิสระจากการเมืองโดยเด็ดขาด 2. ขอให้รัฐแสดงความจริงใจโดยกัน 1% ของทุก ๆ งบประมาณรัฐให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 3. ให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้านภาษีให้นักธุรกิจที่ชี้ช่องเรื่องคอร์รัปชั่น เพื่อให้มีคนกล้าพูด กล้าชี้ช่อง
พร้อมกันนี้ บริษัทเอกชนก็ต้องรวมกลุ่มกันภายใต้เจตนารมณ์ต่อต้านคอร์รัปชั่นและเพิ่มจำนวนผู้มีส่วนร่วมให้มากขึ้น และสร้างมาตรฐานการทำธุรกิจร่วมกันขึ้นมา เช่น ร่างข้อกำหนดยกเลิกสัญญาการทำธุรกิจหากพบการคอร์รัปชั่นในกระบวนการทำธุรกิจ และอยากให้ขยายมาตรการนี้ไปถึงระดับอาเซียนในอนาคตถ้าเป็นไปได้ โดยมีคนไทยเป็นคนนำ
นอกจากนี้ผู้ร่วมสัมมนา ยังได้ร่วมกันแสดงความเห็นเพิ่มเติม เช่น เอกชนไม่ควรสนับสนุนทางการเงินให้แก่พรรคการเมืองที่ไม่ดี เรื่องการฮั้วกันเป็นปลายเหตุ เพราะพรรคการเมืองที่ไม่ดีก็จะมาสร้างระบบราชการที่ไม่ดี ในทางปฏิบัติ ควรยกระดับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นภายในองค์กรขึ้นมาเป็นนโยบายขององค์กรนั้น ๆ ถ้าเป็นไปได้ ควรสามารถตั้งคณะกรรมการป้องกันการทุจริตในองค์กรขึ้นมาได้ด้วย