ศาลปกครองเผย 125 คดีท้องถิ่น ส่วนใหญ่ใช้งบไม่โปร่งใส
‘ดร.สุเมธ’ แนะนักปกครองที่ดีต้องยึดหลักทศพิธราชธรรม เลขาฯ เทศบาลชี้รบ.ปล่อยกู้พร่ำเพรื่อ ยกกรณีกทบ.-กองทุนสตรี ทำชาวบ้านเสพติดหนี้ ศาลปกครองเผย 125 คดี ส่วนใหญ่ปัญหาเงิน
วันที่ 7 ก.ย. 55 สถาบันพระปกเกล้า จัดประชุมท้องถิ่นไทยประจำปี 55 เรื่อง ‘ท้องถิ่นไทย Out of the Box’ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยดร.สุเมธ ตันติเวชกุล แสดงปาฐกถาพิเศษเรื่อง คัมภียร์ชนะใจประชาชน ใจความตอนหนึ่งว่า อยากให้นักปกครองท้องถิ่นเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม จะเห็นว่าประโยคดังกล่าวแสนเรียบง่ายที่ทรงรับสั่งว่า ‘เราจะครองแผ่นดิน’ มิใช่ ‘เราจะปกครองแผ่นดิน’ นั้นหมายถึงการครองสถานะโดยใช้สติปัญญาและระมัดระวังโดยไร้อำนาจ ยึดหลักประโยชน์สุขก็จะซื้อใจคนทั้งชุมชนได้ แต่หากนำเงินซื้อเสียงเพื่อตำแหน่งทางการเมืองสุดท้ายต้องซื้อตลอด
นอกจากนี้หลักทศพิธราชธรรมที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยึดปฏิบัติมาช้านานเป็นอีกหนึ่งวิธีการชนะใจประชาชน ดังนี้ 1.ทาน ต้องรู้จักให้ทาน ซึ่งนับว่าเป็นวัฒนธรรมของคนไทย 2.ศีล ต้องรักษาศีล 5 ให้ได้ 3.บริจาค รู้จักให้สิ่งของที่เล็กเพื่อสร้างประโยชน์ที่ใหญ่กว่า 4.อาชวะ ต้องซื่อสัตย์สุจริต เพราะทุกวันนี้เกิดคอรัปชั่นกันมา พระองค์เคยแช่งไว้ว่า ใครทุจริตขอให้มีอันเป็นไป 5.มัททวะ รู้จักถ่อมตน แม้จะตำแหน่งใหญ่โตเพียงใดจะต้องรับใช้ประชาชนด้วยความสุภาพ 6.ตบะ ต้องมีความเพียรสร้างเจตนารมณ์ให้ได้ว่าอยากปฏิบัติ 7.อักโกธะ รู้จักระงับความโกรธ 8.อวิหิงสา อย่าเบียดเบียนหรือสร้างทุกข์ให้ผู้อื่น 9.ขันติ ต้องมีความอดทนต่อการว่าร้าย และ10.อวิโรธนะ ยึดถือความถูกต้อง ในที่นี้มิได้หมายถึงกฎหมาย แต่คำนึงถึงความเหมาะสมในบริบทแวดล้อม หากปฏิบัติได้ครบ 10 ข้อ ชนะใจประชาชนในท้องถิ่นแน่นอน
ขณะที่เวทีสัมมนา ถอดรหัสการก่อหนี้และการบริหารงานคลังท้องถิ่น : กรณีอบต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความเป็นมาว่า การกู้เงินของอบต.น้ำก่ำจากธนาคารกรุงไทยตั้งแต่ปี 48 โดยผ่านความเห็นชอบจากสภาตำบลและนายทะเบียนท้องถิ่น จำนวน 14 ล้านบาท โดยนายกอบต.ให้ความเห็นว่าการก่อหนี้มีความจำเป็นสำหรับการจัดทำโครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเร่งด่วน และอบต.สามารถก่อหนี้ได้ตามม.83 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 จนกระทั่งภรรยานายกฯ รับตำแหน่งแทน ซึ่งต้องรับช่วงภาระหนี้ต่อ แต่แล้วปี 49 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภาค 5 ตรวจพบการก่อหนี้ของอบต. และแจ้งว่าไม่สามารถตั้งงบประมาณผูกพันเพื่อชำระหนี้ได้ ทำให้อบต.น้ำก่ำหยุดการส่งเงินงวดที่ 2 ภายหลังส่งงวดแรกล้านกว่าบาท
แม้จะหาวิธีการไกล่เกลี่ยสุดท้ายคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสรุปว่า อบต.น้ำก่ำไม่ได้ดำเนินการตามเงื่อนไขการก่อหนี้ ซึ่งก็คือไม่มีระเบียบกระทรวงมหาดไทย กำหนดเรื่องการกู้เงินของอบต. ดังนั้นจึงไม่มีอำนาจกู้เงิน ฉะนั้นการก่อหนี้ในอดีตเป็นการกระทำเกินอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคล แต่มีผลผูกพันเฉพาะตัวบุคคล แม้จะยกฐานะเป็นเทศบาลตำบล ภาระหนี้ก็มิได้โอนไปเป็นของเทศบาลตำบลน้ำก่ำ
จะเห็นว่าการก่อหนี้ของอบต.น้ำก่ำขาดการกำกับดูแลของหน่วยงานภาครัฐและประชาชนอย่างเป็นระบบ และอีกหลายสาเหตุ โดยเฉพาะการเกิดช่องว่างในระบบการบริหารการเงินการคลัง การบัญชี และการงบประมาณท้องถิ่นในปัจจุบัน ระบบบัญชีไม่ได้มาตรฐานสากล (GGAP) ขาดการสนับสนุนการก่อหนี้ที่ดีขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะแนวทางวิเคราะห์โครงการ ความคุ้มค่าลงทุน ขีดความสามารถก่อหนี้ และการจัดทำงบประมาณอย่างมีส่วนร่วมผ่านประชาคมหมู่บ้าน
“สนับสนุนอบต. กู้เงินได้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เจริญตามความจำเป็น แต่ต้องมีหลักการในการกู้ชัดเจน โดยหลีกเลี่ยงตัวอย่างการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล เพราะเละกว่าเยอะ” นักรัฐศาสตร์กล่าว
ด้านนายทะนงศักดิ์ ทวีทอง เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เตือนว่ายุคเศรษฐกิจที่ไม่มั่นคงท้องถิ่นไม่ควรกู้เงินมาพัฒนา เพราะยังไม่มีรายรับที่มากพอจะใช้หนี้ได้ แต่ถามว่าจำเป็นหรือไม่ ขอตอบว่าจำเป็น แต่ต้องเข้าใจว่าตอนนี้ไทยเราน่าสงสารเพราะกองทุนต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้แก่ กองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีทำให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มขึ้น จึงกังวลว่าหากสถานการณ์การใช้เงินยังเป็นเช่นนี้ชาติอาจวิกฤตเหมือนยุโรปได้
นอกจากนี้อ.อนุชา ฮุนสวัสดิกุล ตุลาการศาลปกครอง กล่าวถึงปัญหาการฟ้องร้องเรื่องท้องถิ่นต่อศาลปกครองว่า ตั้งแต่ปี 54-55 มีคดีปกครองเกี่ยวกับเทศบาล อบต. และอบจ. จำนวน 125 คดี แบ่งเป็น 11 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ คดีเลือกตั้ง การบริหารงานบุคคล สัญญา การสอบขึ้นบัญชี การสั่งพ้นจากตำแหน่ง การโอน การพัสดุ การละเมิด การจัดจ้างพนักงานภารกิจ การควบคุมอาคาร การตราข้อบัญญัติงบประมาณ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าส่วนใหญ่การพิจารณาคดีของศาลปกครองนั้นปัญหาจะมีส่วนพัวพันในการใช้งบประมาณมหาศาลไม่โปร่งใส ซึ่งเกิดจากผู้ปฏิบัติหน้าที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะหลักการด้านการพิจารณาจัดสรรงบประมาณท้องถิ่นและการคอร์รัปชั่น.