"ทีดีอาร์ไอ"เสนอเก็บภาษีน้ำท่วม เริ่มต้นที่เศรษฐีย่านสุขุมวิท-สีลมก่อน
“อดิศร์” เสนอรัฐจัดเก็บภาษีน้ำท่วม เริ่มต้นที่คนรวยย่านเศรษฐกิจก่อน ชี้เป็นช่องทางหาเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ดี หวั่นมาตรการโอนหนี้-ออกพระราชกำหนดกู้เงิน สร้างภาระหนี้ระยะยาวให้ประเทศ
เมื่อเร็วๆ นี้ นายอดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาฝ่ายวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการประชุมประจำปีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หัวข้อ “ภัยพิบัติทางธรรมชาติและความอยู่รอดของเมือง” ตอนหนึ่งถึงแนวคิดเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีน้ำท่วม (Flood Tax) ในประเทศไทย โดยเสนอให้ สศช. พิจารณาแนวทางดังกล่าว เนื่องจากพบว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ที่อยู่ในพื้นที่รับน้ำ หลังแนวบิ๊กแบ็ก น้ำท่วมสูงหลายเมตร ขณะที่ผู้ที่อยู่ในเมือง ซึ่งได้รับการปกป้อง พื้นที่บางน้ำท่วมน้อยมาก และถึงขั้นไม่ท่วมเลย อีกทั้งภายหลังเกิดอุทกภัย ผู้ประสบภัยยังพบปัญหาในเรื่องขั้นตอนการรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลที่ความซับซ้อน
“ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย มีการจัดเก็บภาษีน้ำท่วม ส่วนบ้านเราคงต้องมาคิดกันจะใช้แนวทางดังกล่าวดีหรือไม่ อย่างไร หรือจะใช้วิธีโอนหนี้ไปไว้ที่โน้นที่นี่ แล้วออกพระราชกำหนดกู้เงินมาใช้ช่วยเหลือ ฟื้นฟูเยียวยาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการสร้างภาระหนี้ต่อไปในอนาคต ดังนั้น ตนจึงอยากเสนอให้นำโมเดลการจัดเก็บภาษีน้ำท่วมมาใช้ แต่อย่างไรก็ตามจำนวนเงินที่เก็บนั้นคงมีจำนวนไม่มากนัก และอาจเริ่มเก็บจากคนรวย ที่อยู่ในย่านเศรษฐกิจที่มีความสำคัญเช่น สุขุมวิท สีลม ซึ่งปีก่อนไม่ถูกน้ำท่วม"
นายอดิศร์ กล่าวต่อว่า ส่วนอีกหนึ่งแนวคิดที่ตนเห็นว่าควรนำมาใช้คือการจัดรูปแบบเมืองให้มีขนาดเล็ก เป็นเมืองที่มีประสิทธิภาพ หรือ Compact city ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากในอนาคต เพื่อให้การปกป้องเมืองจากภัยพิบัติทำได้ง่าย และใช้เงินน้อย
“เหตุการณ์น้ำท่วมปีที่ก่อน กรุงเทพฯ มีความพยายามจะปกป้องน้ำท่วม ขีดเส้นพื้นที่เป็นวงใหญ่มาก สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องออกมาประกาศลดเขตพื้นที่น้ำแห้ง ปลอดน้ำท่วมลดลงเรื่อยๆ อีกทั้งยังใช้งบประมาณจำนวนมากในป้องกันน้ำท่วม ดังนั้น จะเห็นว่าหากเมืองสามารถมีขนาดเล็กลง การปกป้องเมืองจากภัยพิบัติจะทำได้ง่าย ใช้งบประมาณน้อย แต่ปัญหาของประเทศไทยคือ เมืองมีการขยายออกไปเรื่อย ซึ่งเกิดจากการใช้ประโยชน์ที่ดินผิดรูป ซึ่งสุดท้ายคงต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป และเรื่องนี้คงต้องฝากให้เป็น สศช.รับไปพิจารณาต่อไป”