ดร.สมคิด ถาม... เพื่อหาคำตอบ 'คอร์รัปชั่น' เป็นปัญหาที่ขจัดไม่ได้จริงหรือ?
"ถึงเวลาเปลี่ยนองค์กรสมาคมทั้งหลายทางธุรกิจ
ที่เคยถูกประมาทเป็น 'เสือกระดาษ' ให้กลายเป็น 'เสือลายพาดกลอน'
สามารถทำงานได้อย่างจริงจัง"
วันที่ 6 กันยายน ศาสตราภิธาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บรรยาย เรื่อง "รวมพลังภาคธุรกิจ ต่อต้านคอร์รัปชั่น" ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น : รวมพลังเปลี่ยนประเทศ ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์
ศาสตราภิธาน ดร.สมคิด กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่สั่งสมและเรื้อรังในประเทศไทยมานาน ทั้งๆ ที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา ต่างก็ถือนโยบายคอร์รัปชั่นว่าสำคัญที่สุดในประเทศ ทั้งๆ ที่เครื่องมือและกลไกในการป้องกัน ปราบปรามของประเทศไทยมีอยู่ค่อนข้างพร้อมพอสมควร และทั้งๆ ที่เราเป็นสังคมเมืองพุทธ บอกว่า การทุจริตเป็นสิ่งต้องห้าม เป็นบาป แต่ก็ดูเหมือนว่าคอร์รัปชั่นกลับยิ่ง 'เบ่งบาน' และ 'ฝังลึก'
หากจะถามว่า 'คอร์รัปชั่น' เป็นปัญหาที่ขจัดไม่ได้จริงหรือ?
ผมยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ ที่เคยมีปัญหาการคอร์รัปชั่น แต่ขณะนี้นี้ เขาเป็น 1 ใน 5 ประเทศสุดยอดของโลกที่ได้รับความเชื่อถือว่า 'ปลอดคอร์รัปชั่น' แล้วเขาทำได้อย่างไร?
สิงคโปร์ทำได้ ด้วยสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ความมุ่งมั่น เอาจริงเอาจัง ของเหล่าผู้นำสิงคโปร์ ตั้งแต่ยุคนายลี กวนยู ไล่มาจนถึงยุคปัจจุบัน ทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง
"เขากล้าขึ้นเงินเดือนข้าราชการ นักการเมือง เพื่อไม่ต้องอ้างว่าปัญหารายได้ที่ทำให้เกิดคอร์รัปชั่น เขาแต่งตั้งรัฐมนตรีหรือคนที่กุมตำแหน่งสำคัญๆ ไม่ใช่เลือกแค่ความสามารถ แต่ต้องเป็นคนที่สะอาดหมดจด และมีความซื่อสัตย์เป็นที่ตั้ง"
หลาย 10 ปีที่ผ่านมา ผมจึงไม่เคยได้ยินว่า มีรัฐมนตรีจากสิงคโปร์ที่คอร์รัปชั่น เพราะเขากล้าปฏิวัติกลไกรูปแบบการทำงานของภาครัฐ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ส่วนใดไม่มีความจำเป็น รัฐก็ไม่เข้าไปแทรกแซง เพื่อกระชับพื้นที่ เพื่อลดโอกาส และลดสิ่งเย้ายวนที่จะเกิดคอร์รัปชั่น เขาปราบปรามอย่างจริงจัง ให้อำนาจอย่างสูงสุด กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถตรวจสอบทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนสามัญ หรือนักการเมืองผู้มีอำนาจ
หลายประเทศพยายามที่จะเรียนรู้และเอาอย่าง แต่ความมุ่งมั่น ทางการเมืองที่เอาจริงนั้น ไม่ใช่เพียงเหตุเดียว ปัจจัยสำคัญอีกประการ คือ มีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง
ภาคประชาชนที่สิงคโปร์ ไม่ยินยอมให้ 'รากเหง้า' ของคอร์รัปชั่นได้เกิดและเติบโตบนแผ่นดินของเขา และไม่ยอมทนนิ่งดูดาย ให้ใครมากินมาโกงในบ้านเมืองของเขา และยึดเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องรายงานและต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ
สำหรับประเทศไทย ความมุ่งมั่นทางการเมืองเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่สามารถหยุดยั้งคอร์รัปชั่นได้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยังไม่สามารถปิดกั้นเส้นทางไต่เต้าของนักการเมืองบางประเภท ที่เติบใหญ่ขึ้นมาได้ ด้วยเครือข่ายเงินสินบน หรือคอร์รัปชั่น
"จะทำอะไรก็ยาก ลูบหน้าปะจมูก หรือไม่กล้าฆ่าห่านทองคำ ที่จะออกไข่ทองคำ เกื้อกูลอำนาจในอนาคตข้างหน้า แยกไม่ออกระหว่างประโยชน์ส่วนตัว กับประโยชน์ของประเทศ ทั้งที่ดูห่างไกล"
แล้วเราจะสามารถสร้างประชาสังคมที่เข้มแข็งอย่างสิงคโปร์ ในบ้านเราได้หรือไม่?
ในบ้านเราขณะนี้ เริ่มมองเห็นการทุจริต โกงกินว่า เป็นเรื่องปกติ เริ่มเห็นการจ่ายเบี้ยบ้ายรายทางเป็นธรรมเนียมปฏิบัติวิถี การทุจริตเริ่มกระจายจากส่วนกลางไปสู่ท้องถิ่น ชาวบ้านในชนบท และในบ้านเรา ที่ทำโพลล์แล้ว 60% คิดว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นแล้วประเทศได้ประโยชน์ก็ยอมรับได้ และ 70% ของคนที่คิดเห็นเช่นนี้ เป็นเด็กเยาวชน อายุต่ำกว่า 20
ถ้าเราปล่อยให้ 'บ้านเรา' เป็นเช่นนี้ ในไม่ช้าสังคมจะพลิกเปลี่ยน เพราะค่านิยมมาจากความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ หากคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นสิ่งที่ถูก ค่านิยมก็เปลี่ยน และถ้าปล่อยให้เกิดนานไป ความไม่ดี ความผิด ความไม่ถูกต้อง ที่เคยเป็นส่วนน้อยของสังคม จะกลายเป็นส่วนใหญ่ และเป็นวิถีชีวิตที่ทดแทนสิ่งดีงามที่มีอยู่
"วิถีชีวิตแบบผิดๆ นี้ สามารถกลืนกินได้ไม่เฉพาะแค่ภาคเศรษฐกิจและการลงทุน แต่สามารถกลืนกินได้ทั้งสังคม กลืนกินความดี ความถูกต้อง จริยธรรมและคุณธรรม"
วันนี้ต้องถามตัวเราเองว่า พอใจหรือไม่ ที่จะเลี้ยงลูกของเราให้เติบโตในสังคมแบบนั้น?
ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้คนในสังคมเป็นแบบนั้น ฉะนั้น ต้องมารวมกันคนละไม้ คนละมือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็น 'ข้อต่อ' สำคัญที่สุดของคอร์รัปชั่น
ประการหนึ่ง หากภาคธุรกิจไม่ยินยอมและไม่จ่าย คอร์รัปชั่นก็ยากที่จะเกิดขึ้น แต่ที่เกิดขึ้นเพราะมีคนส่วนน้อยคิดหาความสำเร็จทางลัด โดยไม่คิดถึงอนาคตข้างหน้า ขณะเดียวกัน คอร์รัปชั่นก็ไม่สามารถขจัดได้ หากไม่มีภาคเอกชน เพราะต้องยอมรับว่าภาคประชาชนของเรายังอ่อนแอ คนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจน ยังถูกชี้นำได้ง่าย
ภาคธุรกิจเอกชน จึงเป็นข้อต่อที่สำคัญ ที่จะช่วยประสานกับทั้งรัฐบาล ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน สื่อมวลชนและเอ็นจีโอให้รวมพลังกัน
หากถามว่าภาคธุรกิจเอกชน สามารถทำอะไรได้บ้าง ในการต่อต้านคอร์รัปชั่น?
ผมรู้สึกว่า มีอยู่มากทีเดียว ดังที่ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นได้ดำเนินการมาแล้ว ประการแรกต้องเริ่มจากตัวเราเองที่เป็นนักธุรกิจ เริ่มต้นจากคำว่า 'ไม่' ทั้งไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่เข้าใกล้ และไม่ลองคอร์รัปชั่น ไม่ว่ามันจะเย้ายวนเพียงใดก็ตาม
ทำไมคนดีๆ จึงกลายเป็นคนไม่ดีได้ เพราะไม่มีเส้นแบ่ง ทนความเย้ายวนไม่ได้ เมื่อลองครั้งแรกก็จะมีครั้งต่อๆ มา เหมือนการ 'เสพติด' เพราะมันทำได้ง่าย กลายเป็นเรื่องปกติที่หากไม่ทำก็โง่เขลา ทั้งที่ในทางธุรกิจ ความคิดที่ว่า "หากเราไม่คอร์รัปชั่น คนอื่นก็ทำนั้น"
ผมว่า...นั่นเป็นการฆ่าตัวตาย เพราะธุรกิจไม่สามารถเติบโตและยั่งยืนได้ หากขาดหลัก 3 ประการ คือ 1.มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีที่สุด เพื่อผู้บริโภค 2.สามารถดึงดูดคนดีๆ เข้ามาร่วมในองค์กร 3.ได้รับความมั่นใจ ไว้ใจจากสาธารณะ
แต่หากธุรกิจคอร์รัปชั่น จะบ่อนทำลายทั้ง 3 เสาหลักนี้ บริษัทธุรกิจที่ทุจริตคงจะดึงดูดได้เฉพาะคนที่มีความคิดเห็นคล้ายๆ กัน เมื่อสาธารณะชนไม่ยอมรับ การสนับสนุนจากสาธารณะต่อสินค้าและบริการก็จะหมดไป
ธุรกิจใดส่งเสริมการจ่ายใต้โต๊ะ คนในวงการจะรู้ เพียงแต่ไม่ได้พูดออกมา ฉะนั้น เรื่องของการยึดมั่น มั่นคงกับคำว่าไม่ เป็นสิ่งสำคัญ
รวมถึงต้องปลูกฝังไว้ในกิจการและ 'ในใจ' ของพนักงาน กำหนดให้เป็นพันธกิจ สร้างเป็นวัฒนธรรม และพยายามทำให้ทุกๆ ธุรกรรมในบริษัทมีความโปร่งใส จึงจะเป็นตัวปิดกั้นการทุจริตได้
ถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนองค์กรสมาคมทั้งหลายทางธุรกิจ ที่เคยถูกประมาทว่าเป็น 'เสือกระดาษ' ให้กลายเป็น 'เสือลายพาดกลอน' ที่สามารถทำงานได้อย่างจริงจัง เช่น การประมูล ก่อสร้าง เรื่องราคากลาง
ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมถึงไม่สามารถทำราคาที่เป็นมาตรฐานทั้งระบบแต่ละเรื่องของประเทศได้แต่ละสมาคมสามารถทำและผลักดันให้รัฐบาลช่วยออกเป็นกฎหมายบังคับเหมือนในต่างประเทศ ผมเห็นว่า มีการผลักดันแล้ว แต่ยังไม่เกิดผล
สมาคมองค์กรต้องเป็นที่พึ่ง ดูแลผู้ที่ให้ข้อมูล กล้าเปิดเผยเบาะแสของคอร์รัปชั่น ต้องไม่เป็นแค่ watchdog แต่มีมาตรการที่จะปกป้องสุนัขตัวนั้นได้ด้วย ไม่เช่นนั้น ก็จะไม่มีเสียงร้องออกมา
ทั้งนี้ เมื่อรู้ว่าเยาวชนเริ่มเห็นด้วยกับคอร์รัปชั่น ก็เป็นหน้าที่ของเอกชน ที่ต้องรวมทุน สร้างกองทุนสนับสนุนไปต่อต้านในจุดนั้นๆ อย่าให้เด็กรุ่นใหม่ๆ เกิดความรู้สึกเช่นนี้ และมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป เพราะคนกลุ่มนั้น คือ อนาคตของประเทศไทย
ในประเทศเกาหลีใต้ที่เคยมีการคอร์รัปชั่นสูง แต่สามารถผลักดันภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม จนกระทั่งปฏิรูปกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เคยมีอำนาจเหนือรัฐบาล รวมทั้งผลักดันในอีกหลายๆ เรื่องได้ แม้กระทั่งปฏิรูปการเมือง
ขณะที่การปฏิรูปการเมือง ซึ่งเป็นหัวใจของประเทศไทย กลับหยุดอยู่ที่ 'การจัดตั้งคณะปฏิรูป' แล้วก็จบ มันสะท้อนอะไรบางอย่าง!!
ผมไปพบเว็บไซต์ของคนฟิลิปปินส์ ระบุว่า ฟิลิปปินส์เคยเป็นชาติที่มั่งคั่งที่สุดชาติหนึ่งในเอเชีย รองจากญี่ปุ่น แต่วันนี้ทุกอย่างเป็นอดีต ประเทศถูกลืม เศรษฐกิจล้าหลัง ประชาชนยากจน เพราะนักการเมืองหลอกลวง ทุจริต ขโมย เพราะเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการมีเป้าหมายที่ของสินบนและคอร์รัปชั่น เพราะถ่ายเทเงินสาธารณะมาเป็นเงินส่วนตัวในกระเป๋า คนฟิลิปปินส์ก็เริ่มตระหนักว่าทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุดในประเทศ
วันนี้ฟิลิปปินส์ กำลังเป็นประเทศที่เปลี่ยนแปลง แต่เปลี่ยนไปในทางที่ 'เลวลง' เพราะมีคอร์รัปชั่นที่หยั่งลึก ฝังรากและกระจายตัวอย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ เชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากให้ประเทศไทยเป็นเช่นนั้น และภาคเอกชนก็ต้องเป็นพลังสำคัญ เพราะภาคอื่นนั้น 'ขาดผู้นำ'
เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ว่าใครบังคับใครให้ทำได้ และเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ว่าทำแล้วต้องมีรางวัล แต่เป็นเรื่องของจิตสำนึก หน้าที่ และความรับผิดชอบ เป็นเรื่องของโชคชะตาของบ้านเมือง ที่ถูกส่งผ่านมา 'รุ่นต่อรุ่น' และวันนี้ถูกส่งผ่านมายังมือของท่าน ให้ท่านเป็นผู้กำหนด อยู่ที่ท่านจะว่ายังไง...
ผมเห็นป้ายชื่องานที่ว่า 'รวมพลังเปลี่ยนแปลงประเทศไทย' แล้วนึกถึงที่ มหาตมะ คานธี เคยบอกว่า จะเปลี่ยนประเทศ คุณต้องเปลี่ยนชนบทหมู่บ้าน จะเปลี่ยนชนบทหมู่บ้าน คุณต้องเปลี่ยนคนในหมู่บ้าน การเปลี่ยนทัศนะคติของคนในหมู่บ้านทั้งประเทศเป็นพลังที่ต้องอาศัยพลังที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งมีภาคเอกชนเท่านั้นที่เป็นแกนนำทำได้
ผมเชื่อว่า องค์กรธุรกิจสามารถขับเคลื่อนได้ หากเอาจริงเอาจัง หัวใจทั้งหมดอยู่ที่ การผลักดันความคิด การผลักดันแนวทางและการขับเคลื่อนภาคประชาชนร่วมกับรัฐบาลและทุกๆ ฝ่าย สิ่งเหล่านี้ล้วนทำได้ทั้งสิ้นหากจะทำ
ขอทิ้งท้ายไว้ว่า บ้านเมืองทุกวันนี้ต้องการความช่วยเหลือจากนักธุรกิจทั้งหลาย...