นักวิชาการดันท้องถิ่นสร้างเมืองคาร์บอนต่ำ - ติงรวมศูนย์น้ำกบอ. ทำขรก. เหยียบเท้ากันเอง
นักวิชาการดันท้องถิ่นสร้างเมืองสีเขียวคาร์บอนต่ำลดภัยพิบัติ-โลกร้อน ตำหนิรัฐบาลรวมศูนย์ข้อมูลน้ำกบอ. ระวังเหยียบเท้าขรก. กันเอง กระทบประชาชนเดือดร้อน
วันที่ 6 ก.ย. 55 สถาบันพระปกเกล้า จัดประชุมท้องถิ่นไทยประจำปี 55 เรื่อง ‘ท้องถิ่นไทย Out of the Box’ ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ โดยผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อสัมมนาท้องถิ่นเตรียมรับสารพัดภัยพิบัติว่า ปัจจุบันหลายประเทศในโลกประสบภาวะภัยพิบัติมากมาย ซึ่งไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องดังกล่าวตั้งแต่สึนามีปี 47 ที่ผ่านมา แต่เหตุการณ์กลับไม่ทำให้เกิดความพร้อมในการป้องกันภัย โดยเห็นได้ชัดในมหาอุทกภัยปี 54 เพราะคนไทยชอบเรียนรู้จากบทเรียนเก่า ๆ พยายามคิดว่าการเตรียมรับมือปัญหานั้นเพียงพอแล้ว ทั้งที่ความจริงสถานการณ์ในแต่ปีไม่เหมือนกัน ฉะนั้นท้องถิ่นจึงต้องทำแผนจัดการภัยพิบัติชุมชนที่คำนึงถึงบริบทสภาพแวดล้อมของตนเอง โดยให้หลุดกรอบจากแผนระดับชาติและหมั่นฝึกซ้อมให้สมจริงบ่อยครั้ง
นอกจากนี้ควรเริ่มปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของคนในชาติที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการภัยพิบัติ ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในชุมชนมากขึ้น เช่น เมื่อเกิดน้ำท่วมหากต่างคนต่างยกพื้นสร้างกำแพงกั้นน้ำโดยไม่วางแผนร่วมกัน สุดท้ายน้ำอาจมุดลงท่อใต้ดินโผล่ท่วมได้ หรือกรณีการกักตุนน้ำเปล่าเก็บไว้ อีกทั้งต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของข้าราชการที่มักทำงานตามกรอบภาครัฐมากเกินไป จนแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นไม่ได้ ที่สำคัญต้องแก้ระเบียบท้องถิ่นด้านการจัดสรรงบประมาณที่ยืดหยุ่นกว่านี้
“ดิฉันพูดอย่างคนเป็นกลาง เมื่อท้องถิ่นอยากได้ความยืดหยุ่นในการใช้งบประมาณที่สูง แต่กลับใช้ไม่ได้ เพราะระเบียบระบุไว้ว่างบฉุกเฉินหรืองบบรรเทาทุกข์จะใช้ได้ต่อเมื่อเกิดเหตุแล้วเท่านั้น และขอบอกว่าไม่มีการจัดการภัยพิบัติใดที่ดำเนินการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุแล้ว ดังนั้นจึงควรวางแผนจัดการชุมชนไว้ล่วงหน้า”
นักวิชาการรัฐศาสตร์ยังตำหนิการทำงานของรัฐบาลเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยน้ำท่วมเกิดจากการเปลี่ยนขั้นตอนหลายครั้งจนชาวบ้านสับสนและคาดหวังว่าสุดท้ายจะได้รับเงิน 20,000 บาท ทั้งที่ก่อนหน้าควรกำหนดหลักเกณฑ์ให้แน่ชัดและเป็นธรรม ส่วนการประสานงานทำงานภาครัฐเป็นสาเหตุหลักการแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่มีประสิทธิภาพ แม้ขณะนี้รัฐบาลจะสั่งการให้ทุกภาคส่วนส่งข้อมูลเรื่องน้ำมาที่คณะกรรมการจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เพื่อเป็นศูนย์กลางขับเคลื่อนนั้น ขอเตือนว่าต้องระวัง เพราะเมื่อตั้งองค์กรใหม่ขึ้นโดยไม่ผ่านขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจนจะเกิดอาการเหยียบเท้าได้หรือเกิดอาการไม่มีใครเหยียบซึ่งอันตรายกว่า เพราะทุกหน่วยออกช่วยเหลือหลายทีมดีกว่าไม่มีใครให้ความช่วยเหลือเลย
ขณะที่การสัมมนาหัวข้อท้องถิ่นสีเขียวกับความคิด Low carbon city อ.ธารี กาเมือง ผู้จัดการโครงการเทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ กล่าวว่า ทั่วโลกกำลังประสบภาวะโลกร้อน โดยมีเมืองเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นจึงมุ่งมั่นผลักดันให้สังคมไทยเป็นเมืองคาร์บอนต่ำภายใต้ ‘หลักเศรษฐกิจพอเพียง’ คณะอนุกรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมืองและโยธา สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย จึงเริ่มโครงการ เทศบาลไทยมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 84 พรรษา โดยได้รับงบประมาณร้อยละ 90 จากสหภาพยุโรป อีกร้อยละ 10 ได้รับอุดหนุนจากสมาคมสันนิบาตฯ ซึ่งได้เปิดดำเนินการแล้วเมื่อก.ค. 55 ทั้งนี้ โครงการฯ ตั้งเป้าหมายให้กิจกรรมที่เทศบาลขับเคลื่อนนั้นจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ไม่ต่ำกว่า 84,000 กิโลกรัมคาร์บอน ภายใน 36 เดือน ตั้งแต่ก.พ. 55-ม.ค.58
ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนโครงการนั้นจำเป็นต้องอาศัยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ 1.เมืองแห่งต้นไม้ เน้นให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวยั่งยืน โดยต้องปกคลุมด้วยไม้ยืนต้นเป็นหลัก มีขนาดลำต้นสูงไม่น้อยกว่า 5 ม. เรือนพุ่มไม่น้อยกว่า 5 ตร.ม. และเส้นรอบวงรอบโคนต้นไม่น้อยกว่า 50 ซม. ผ่านโครงการอนุรักษ์ต้นไม้ที่มีอยู่เดิมกับโครงการเพิ่มต้นไม้ขึ้นใหม่ 2.เมืองไร้มลพิษ เน้นให้เทศบาลจัดการขยะและน้ำเสียให้ดี จะยิ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้ ผ่านโครงการลดปริมาณของเสียให้เหลือน้อยที่สุดก่อนนำไปกำจัด เช่น คัดแยกขยะ ลดใช้น้ำ กับโครงการใช้ประโยชน์จากก๊าซเรือนกระจก เช่น นำของเสียทำเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซหุงต้มหรือนำมาผลิตไฟฟ้า 3.เมืองพิชิตพลังงาน เน้นการลดใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ผ่านโครงการลดการใช้ไฟฟ้าหรือน้ำมันกับโครงการใช้พลังงานอื่นทดแทนไฟฟ้าและน้ำมัน 4.เมืองที่มีการบริโภคอย่างยั่งยืน เน้นการบริโภคอาหารในท้องถิ่นผ่านโครงการส่งเสริมการบริโภคน้อยลง ใช้นาน ใช้ซ้ำ กับโครงการส่งเสริมการผลิตและบริโภคสินค้า/บริการในชุมชน
ด้านนายสมชาย จริยเจริญ นายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกลง จ.ระยอง กล่าวยกตัวอย่างการขับเคลื่อนเมืองสีเขียวในชุมชนแกลงมากมาย เช่น การคัดแยกขยะ การส่งเสริมให้นักเรียนนำขยะมาแลกเงิน การผลิตพลังงานใช้เอง การปลูกต้นไม้ พร้อมแสดงความเห็นการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่สามารถขับเคลื่อนชุมชนสู่เมืองสีเขียวได้ เพราะยึดติดการทำงานตามกรอบกฎหมายมากเกินไป ทั้งที่ควรพัฒนาตามบริบทท้องถิ่น โดยอิงกฎเกณฑ์บางส่วนเท่านั้น นอกจากนี้การดำเนินการโครงการต่าง ๆ ยังขาดการติดตามประเมินผล ทำให้สูญเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์.