"กิตติรัตน์" ประกาศดัน 3 มาตรการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม
สภาพัฒน์ฯ เปิดเวทีถกแนวทางขับเคลื่อนสังคมสีเขียว "กิตติรัตน์" จ่อคลอด 3 มาตรการเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม
วันที่ 6 กันยายน ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดการประชุมประจำปี 2555 “อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว” และมีการอภิปรายถึงแนวทางขับเคลื่อนการพัฒนาสังคมสีเขียว โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการ สศช. นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา ประธานกรรมการบริหารสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) ร่วมอภิปราย
นายอาคม กล่าวถึงการพัฒนาของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านว่า มีฐานมาจากการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน หรือคิดเป็น 5.6 ตันคาร์บอนต่อคนต่อปี การใช้พลังงานโดยขาดประสิทธิภาพ การปล่อยของเสียในทุกขั้นตอนการผลิต ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ขณะที่ความสามารถในการรีไซเคิลที่ทำได้น้อยมาก เห็นได้จากปริมาณขยะของประเทศไทยมีประมาณ 16 ล้านตันต่อปี แต่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้เพียง 20% จากที่ตั้งเป้าไว้ที่ 35%
อีกทั้งยังมีปัญหาในเรื่องความเท่าเทียมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร โดยเฉพาะการกระจุกตัวในการถือครองที่ดิน พบว่าคนรวยเพียง 10% เป็นเจ้าของที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ ปัญหาเรื่องการบุกรุกที่ดินเขตอนุรักษ์ ป่าสงวน ทำให้พื้นที่ลดลงจาก 53% เหลือเพียงประมาณ 30 %
“การพัฒนาต้องไม่ทำให้สูญเสียสมดุลของระบบนิเวศ การดำรงชีวิตและวิถีชีวิต ซึ่งหลักของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมสีเขียวกำลังกลายเป็นประเด็นท้าทาย และในแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ มองการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านกระบวนการสีเขียว ด้วยวิธีการมีส่วนรวมและกระจายผลประโยชน์ที่ได้รับจากการพัฒนาอย่างทั่วถึง สร้างกลไกและระบบให้เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสีเขียว เช่น ปรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนให้เอื้อสิทธิประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปรับพฤติกรรมผู้บริโภคให้ต้องการสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยกระตุ้นผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง รวมถึงต้องปรับเปลี่ยนเรื่องการขนส่งสีเขียว ปรับจากถนนขึ้นสู่ระบบรางให้เร็วที่สุด ตามนโยบายที่รัฐบาลเสนอ ซึ่งก็จะช่วยลดการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซคาร์บอนได้”
ทั้งนี้ นายอาคม กล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงเรื่องสังคมสีเขียว อย่างพึ่งงงไปว่า หมายถึง สิ่งแวดล้อม หรือความสะอาดเท่านั้น สีเขียวเป็นคำแทนเป็นสัญลักษณ์ของความยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงสติปัญญาความรู้ ดังนั้นการที่จะเป็นสังคมสีเขียวได้นั้นจะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของคนไทยทั้งด้านสุขภาพ ความรู้และคุณธรรมด้วย
ด้านนายกิตติรัตน์ กล่าวถึงบทบาทของนโยบายการเงินการคลังที่สนับสนุนการเข้าสู่สังคมสีเขียวว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การสร้างแรงจูงใจผ่านมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ ได้แก่ ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน หรือใช้บำบัดมลพิษ รักษาสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงอัตราภาษีอากรเพื่อส่งเสริมการใช้ก๊าซธรรมชาติในภาคการขนส่ง ปรับเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรสำหรับสารเคมีที่ทำลายชั้นโอโซน จัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อมฯ และยังมีการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย
นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริมการเป็นสังคมสีเขียว ยังมีแผนที่จะดำเนินการเพิ่มเติมในอีก 3 แนวทางหลักๆ คือ 1.มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยขณะนี้กระทรวงการคลัง ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม พ.ศ.... ซึ่งร่างกฎหมายขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา และเบื้องต้นได้มีการหารือไปยังส่วนราชการต่างๆ แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือร่วมกันถึงรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ก่อนที่จะนำเข้าสู่ การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งสาระสำคัญของร่างฉบับนี้ จะมีกำหนดมาตรการเรื่องภาษีสิ่งแวดล้อม กำหนดวงเงินประกันความเสี่ยงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ฯ ทั้งนี้เชื่อว่าหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านออกมาได้จะเกิดประโยชน์ การคลังเพื่อสิ่งแวดล้อมจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
“2.การปรับแนวทางเรื่องการจัดเก็บภาษีรถยนต์ โดยกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างกันตามขนาดซีซีของเครื่องยนต์ กรณีรถยนต์ที่มีซีซีสูงจะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่า รถยนต์ที่มีอัตราซีซีที่ต่ำและใช้พลังงานน้อยกว่า แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการกำหนดอัตราภาษีที่ชัดเจน เพราะต้องพิจารณาเรื่องอัตราการปล่อยสารคาร์บอนออกไซต์ด้วย ซึ่งต้องพิจารอย่างรอบคอบ
และ 3. ส่งเสริมเรื่องการวิจัยของภาคเอกชนในเรื่องการประหยัดพลังงาน ส่งเสริมการลงทุนเพื่อการดูแลสิ่งแวดล้อม วิจัยเรื่องคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ที่ดีขึ้น ขณะที่ปัจจุบันภาคเอกชนสามารถนำเงินที่ใช้ในการลงทุนวิจัย ไปคำนวณหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง”
ขณะที่นายปิติพงศ์ กล่าวถึงเส้นทางสีเขียวของไทยด้านการเกษตรว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาคการเกษตรพยายามปรับตัวอย่างมาก ทั้งการควบคุมให้การผลิต ให้สินค้าผลิตภัณฑ์ภาคเกษตรเป็นสีเขียว ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศไทยพึ่งการส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งสินค้าสีเขียวเหล่านี้จะต้องได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากผู้บริโภค แต่สิ่งที่เป็นห่วงก็คือ เศรษฐกิจในต่างประเทศกำลังมีปัญหา ผู้บริโภคค่อนข้างลังเล ทำให้ความต้องการสินค้าสีเขียวน้อยลง ดังนั้น จำเป็นที่ไทยต้องส่งเสริมการบริโภคสินค้าสีเขียวภายในประเทศให้มีมากขึ้น ไม่เช่นนั้นสินค้าสีเขียวจะไม่กระเตื้องมากนัก ขณะเดียวกันเห็นว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรต้องจัดสรรงบประมาณเข้ามาส่งเสริมในเรื่องการผลิตสีเขียว เพราะพบว่าบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังขาดศักยภาพในการพัฒนา ส่วนภาคประชาสังคม บริษัทขนาดใหญ่สามารถพยายามปรับตัวในเรื่องการผลิตสีเขียวได้ดี
นายปิติพงศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นประเทศที่มีโชคดี มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่สามารถสำรวจและศึกษาไปได้แค่เพียง 10% เท่านั้น ซึ่งหากประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพที่มีได้ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนา การสร้างมูลค่า ขณะเดียวกันต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสม เริ่มสร้างแบรนด์ใหม่ ขณะเดียวกันก็นำรายได้ส่วนหนึ่งย้อนกลับไปพัฒนาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะเป็นการพัฒนา ส่งเสริมการเป็นสังคมสีเขียวที่แท้จริงให้เกิดขึ้น
ส่วน ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า สังคมไทยใช้ทรัพยากรสิ้นเปลืองมาก และไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงไม่รู้ว่า การเป็นสังคมสีเขียวจะทำได้จริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องสังคมสีเขียวและพลังงานทนแทนนั้น เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องและใช้เวลาค่อยข้างนานกว่าจะเห็นผล รวมทั้งก็ต้องอยู่กับรัฐบาลด้วย เพราะเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็พบว่า นโยบายเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ซึ่งในจุดนี้เห็นว่า สภาพัฒน์ฯ ควรเข้ามามีบทบาทสำคัญ และเป็นแกนในการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพราะถึงรัฐบาลจะเปลี่ยนแต่สภาพัฒน์ฯ ก็ยังอยู่เช่นเดิม
"ส่วนการดำเนินการใช้เรื่องพลังงานทดแทนของรัฐบาลชุดนี้ก็ถือว่า มีความกล้าหาญ ประกาศยกเลิกเบนซิน 91 และหันมาส่งเสริมการไบโอดีเซล เอทานอล ซึ่งจะช่วยประมาณเงินได้ประมาณ 40,000 ล้านบาทต่อปี และในอนาคตอาจประหยัดเงินได้ถึง 100,000 ล้านบาทต่อปีก็เป็นได้ ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ปลูกอ้อยจะได้ประโยชน์ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย"