อปท.อ่วมรับอาเซียน ทรัพยากรท้องถิ่นถูกดูด
นักวิชาการชี้ อปท.อ่วมรับอาเซียน ห่วงเอสเอ็มอีแพ้ทุนข้ามชาติ หวั่นทรัพยากรท้องถิ่นถูกดูด แนะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรับการลงทุน
วันที่ 6 ก.ย.55 ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ สถาบันพระปกเกล้าจัดงานเวทีท้องถิ่นไทยประจำปี 2555 โดยมีการสัมมนาในหัว ‘ไม่รู้ไม่ได้แล้ว...ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับท้องถิ่นไทย’
รศ.ดร.ขจิต จิตตเสวี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการรับมือของท้องถิ่นเมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 58 ว่า รัฐบาลส่วนกลางมักไม่ได้นึกถึงปัญหาของส่วนท้องถิ่นเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นส่วนท้องถิ่นจึงต้องมีกระบวนการที่เรียกว่า ‘ถิ่นฐานาภิวัฒน์’ เพื่อสร้างวาระของอาเซียนในรูปแบบของตนขึ้น ไม่ให้ส่วนกลางมีอำนาจในการตัดสินใจอย่างเดียว เนื่องจากเคลื่อนย้ายของทุน ฐานการผลิตและบริการของประเทศอื่นในอาเซียนจะลงสู่ท้องถิ่นโดยตรง นอกจากนี้ประเทศไทยไม่ควรให้ความสนใจเพียงเรื่องเศรษฐกิจและการเมืองเมื่อเข้าสู่อาเซียน โดยหลงลืมปัจจัยทางสังคมวัฒนธรรมซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงแก่ท้องถิ่น
ด้านผศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับท้องถิ่นไทยภายหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่ 1.การเคลื่อนย้ายของการค้าการลงทุนที่เสรีมากยิ่งขึ้น ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ในท้องถิ่นอาจถูกทุนจากต่างประเทศเข้าไปซื้อหรือร่วมกิจการ 2.การเคลื่อนย้ายของแรงงานต่างประเทศมายังไทยและไทยไปต่างประเทศ ท้องถิ่นอาจขาดแรงงานวิชาชีพฝีมือดีเช่น แพทย์อาจไปทำงานในประเทศที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาโรคระบาดและอาชญากรรมที่มาพร้อมกับแรงงานอพยพ 3.การเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรที่จำเป็นต่อการผลิต เมื่อมีการขยายการลงทุนเสรีทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น ป่าไม้ จะถูกใช้มากขึ้น และ4.การเปลี่ยนแปลงทางภาษาและวัฒนธรรม ท้องถิ่นต้องเตรียมความพร้อมเมื่อภาษาอังกฤษกลายเป็นภาษาในการสื่อสาร ขณะที่ภาษาและวัฒนธรรมของประเทศอาเซียนอื่นก็จำเป็นต้องเรียนรู้ด้วย
โดยอปท.มีภารกิจที่ต้องทำเพื่อรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดังนี้ 1.อปท.ต้องเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนในท้องถิ่น เช่น ระบบคมนาคม ไฟฟ้า 2. อปท.ต้องทบทวนบทบาทในการช่วยเหลือดูแลธุรกิจเอสเอ็มอีในท้องถิ่น รวมถึงวิสาหกิจชุมชน เช่น กลุ่มเกษตรกรที่แปรรูปสินค้าจำหน่ายในท้องถิ่นให้สามารถดูแลตนเองได้ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของกลุ่มทุนต่างชาติ 3.อปท.ต้องมีบทบาทในการเฝ้าระวังการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากทรัพยากรอาจหมดไปเพราะถูกใช้เป็นปัจจัยการผลิตตามการขยายตัวของการลงทุน
4.อปท.ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่อพยพมาในท้องที่ เช่น การสาธารณสุขขั้นมูลฐาน การศึกษาของลูกหลานแรงงานต่างชาติ และสวัสดิการ เป็นต้น 5.อปท.ต้องมีบทบาทในการเฝ้าระวังอาชญากรรมมากขึ้น โดยอาจพัฒนาระบบและจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานอพยพเพื่อใช้ตรวจสอบในยามจำเป็น และ6.อปท.ต้องจัดทำข้อมูลและอำนวยความสะดวกด้านเอกสาร(แบบฟอร์ม)ต่างๆสำหรับแรงงานต่างชาติเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอาเซียนอื่นๆ รวมทั้งต้องส่งเสริมในชุมชนเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่อาศัยในท้องถิ่นด้วย
ทั้งนี้อปท.ควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจอื่นๆเพื่อให้ท้องถิ่นมีแนวทางในการรับมือกับปัจจัยรอบด้านเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้ดียิ่งขึ้น
ที่มาภาพ :: http://pongsongsai.exteen.com/20110819/entry