ภาคเอกชนรวมพลัง เปลี่ยนประเทศไทย ลุกขึ้นต้านคอร์รัปชั่น
'ประมนต์' ชี้ 1 ปีที่ผ่านมา ดัชนีคอร์รัปชั่นไทยยังไม่ดีขึ้น ได้คะแนนเพียง 3.4 จากเต็ม 10 ลั่นไม่พอใจมาตรการแก้ปัญหารัฐบาล ห่วงสุดงบฯ บริหารจัดการน้ำ ส่วนจำนำข้าว บอกยังฝืนทำต่อ สูญเงินหลายแสนล้านบาท
วันนี้ 6 กันยายน ศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นจัดงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชั่น 2555 : รวมพลังเปลี่ยนประเทศไทย” ขึ้น ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นร่วมกับ 42 องค์กรภาคี จัดงานขึ้นเพื่อปลุกระดมพลังสังคมร่วมแก้ไขปัญหาการโกงกินอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้วันที่ 6 กันยายนยังเป็นวันครบรอบ 1 ปีการจากไปของนายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า 1 ปีที่ผ่านมา ดัชนีคอร์รัปชั่นของไทยยังไม่ดีขึ้น จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ล่าสุดพบว่า ได้คะแนนเพียง 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 แต่แนวคิดต่อต้านคอร์รัปชั่นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพราะองค์กรต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญมากขึ้น นอกเหนือจากการขับเคลื่อนขององค์กรต่าง ๆ แล้ว ประชาชน คนทั่วไปต้องมามีส่วนร่วมขับเคลื่อนด้วย
"การขับเคลื่อนของภาคีฯ ที่เริ่มต้นไปแล้วจะทำอย่างต่อเนื่อง แต่จะเพิ่มให้เข้มแข็งขึ้น โดยได้ประสานงานกับองค์กรต่างประเทศเพื่อขอรับความรู้และรูปแบบการขับเคลื่อนดีขึ้น เชื่อว่า จะทำให้เกิดความเข้มแข็งตามมา"
นายประมนต์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมภาคีฯ ได้ติดตามโครงการใหญ่ ๆ หลายโครงการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งมีจุดที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตได้ โดยก่อนหน้านี้ทางภาคีฯ ก็ได้มีการเสนอรัฐบาลไปแล้วว่า ขอให้มีการเปิดเผยข้อมูลงบประมาณของโครงการใหญ่ๆ แต่ก็ยังไม่ได้รับการตอบสนอง เช่น เรื่องของราคากลาง เป็นประเด็นที่รัฐบาลน่าจะมีการเปิดเผย เพื่อให้ประชาชนที่อยากรู้ข้อมูลสามารถเข้ามาตรวจสอบได้ง่ายขึ้น
ส่่วนมาตรการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาลนั้น ประธานภาคีฯ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่เป็นที่พอใจ นอกเหนือจากโครงการบริหารจัดการน้ำแล้ว นโยบายการจำนำสินค้าเกษตร ซึ่งหากเป็นโครงการที่ทำทุกๆ ปี และทำต่อเนื่องไป ปีหนึ่งๆ เชื่อว่า รัฐบาลจะต้องสูญเสียงบประมาณไปหลายแสนล้านบาท
ขณะที่ศาสตราภิชาน ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการรวมพลังภาคธุรกิจ ต่อต้านคอร์รัปชั่น ว่า ภาคธุรกิจถือว่ามีบทบาทสำคัญ ในการลดการทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทย แต่จะต้องกล้าปฏิเสธการจ่ายเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ กล้าที่จะต่อต้านกลโกงของนักการเมือง เพราะจะทำให้ธุรกิจเติบโตแบบไม่ยั่งยืน ฉะนั้น ต่อจากนี้ไปควรกำหนดการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นให้เป็นพันธกิจองค์กร นอกจากนี้ต้องช่วยกันสร้างให้ภาคประชาสังคมมีความเข้มแข็ง ปลูกฝังตั้งแต่เยาวชนไม่ให้รู้สึกว่า การคอร์รัปชั่นแต่ประเทศได้ประโยชน์ เป็นสิ่งที่ไม่ผิด ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ควรระดมทุนและจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเปลี่ยนทัศนคติ ของเยาวชน เพราะหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ
ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมมีชัยพัฒนา หรือโรงเรียนไผ่นอกกอ อำเภอลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ กล่าวถึงการรวมพลังผลักดันการต่อต้านคอร์รัปชั่น ให้เป็นวาระแห่งชาติว่า ควรเริ่มปลูกฝังความรู้และทัศนคติต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นไว้ตั้งแต่เด็ก โรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศควรมีหลักสูตรต่อต้านคอร์รัปชั่น พร้อมกับยกตัวอย่างโรงเรียนไผ่นอกกอ เป็นโรงเรียนต้นแบบปฏิวัติรูปแบบการจัดการการศึกษาในหลายด้าน เช่น การให้เด็กมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกครู คณะกรรมการจัดซื้อสิ่งของ เพื่อให้การจัดซื้อมีความโปร่งใสมากขึ้น หรือการให้จ่ายค่าเทอมด้วยการปลูกต้นไม้และบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมแทนเงิน เน้นสร้างเด็กให้เป็นคนดีมากกว่าคนเก่ง
จากนั้น เยาวชนไทยร่วมกันออกแถลงการณ์ “รวมพลังคนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงประเทศ” ที่สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจด้วยการแสดงบทบาทสมมติจากเด็ก ๆ ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยการสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงพิษภัยอันใหญ่หลวงของการคอร์รัปชั่นที่เป็นตัวทำลายประเทศ ทิ้งท้ายด้วยการให้เด็ก ๆ ส่งเสียงตั้งคำถามถึง “ผู้ใหญ่” บางคนว่า ถ้าท่านเองเป็นคนที่ถูกคนอื่นโกงกินบ้าง จะรู้สึกอย่างไร และจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร
อย่างไรก็ตาม ในช่วงบ่ายมีการสัมมนากลุ่มย่อยใน 4 หัวข้อ หัวข้อที่น่าสนใจ ได้แก่ การจำนำพืชผลการเกษตร โดยเน้นโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาลที่ใช้งบประมาณสูงถึงปีละ 400,000 ล้านบาท พร้อมทั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นต้นเหตุของการเกิดทุจริตตามมามากมาย ส่วนหัวข้อที่เหลือมีอีก 3 เรื่องที่น่าสนใจ ได้แก่ หัวข้อ “รวมพลังภาคประชาชน สู้ด้วยเสียง” หัวข้อ “รวมพลังภาคธุรกิจ ริเริ่ม Clean & Clear Standard for AEC” เพื่อสร้างมาตรฐานธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นแก่ธุรกิจไทย รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2558 และหัวข้อสุดท้ายหัวข้อ “ตรวจแถวหมาเฝ้าบ้าน” เพื่อติดตามและพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการ สร้างเครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งในด้านการหาข้อมูลแจ้งเบาะแส กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และวิธีปฏิบัติการเฝ้าระวังครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ