กมธ.ศก.สภาฯ เรียกชี้แจงจำนำข้าว ‘มนัส’ ยันไม่มียักยอกระบายแน่
กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ สภาฯ ย้ำมีสิทธิ์ลงพื้นที่ตรวจสอบข้าว 'ยรรยง' ชี้ต้องสร้างความรู้ก่อน หวั่นเป็นบรรทัดฐานต่อไป มั่นใจจำนำไม่ทำให้คุณภาพข้าวเสีย ด้าน 'มนัส' เผยเร่งจัดประมูลข้าว 5 แสนตันที่เหลือใน 2 สัปดาห์
เมื่อวันที่ 5 กันยายน คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายชนินทร์ รุ่งแสง ประธาน กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจฯ นัดประชุมเพื่อพิจารณา ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการจำนำข้าวและการระบายข้าวในสต็อกของรัฐบาล โดยมี นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดพิษณุโลก นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เงา ในฐานะ กมธ.ที่ปรึกษาฯ นายก่อแก้ว พิกุลทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะ กมธ. นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายสมศักดิ์ วงศ์วัฒนศานต์ รองผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า (อคส.), สำนักกฎหมาย สภาผู้แทนราษฎร, กรมการค้าภายใน และผู้เกี่ยวข้อง มาร่วมชี้แจง
ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้มาชี้แจงต่อ กมธ.ตามที่มีหนังสือเชิญไปถึง 2 ครั้ง โดยได้ทำหนังสือทำหนังสือชี้แจงว่า ติดภารกิจรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จึงยังไม่ต้องใช้กระบวนการตาม พ.ร.บ.ออกคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า 1 ชั่วโมงแรกของการชี้แจงเป็นการถกเถียงและชี้แจงกันเรื่องบทบาทหน้าที่และความเกี่ยวข้องของ นพ.วรงค์ ซึ่งประธาน กมธ.ยืนยันว่า มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากมธ. ขณะที่ นายยรรยง ไม่เชื่อเช่นนั้น และยืนยันที่จะไม่ตอบคำถามจาก นพ.วรงค์ จนทั้ง 2 ฝ่ายต่างกล่าวว่าจะยื่นฟ้องกัน
จากนั้นทางประธานกมธ. จึงพยายามชี้แจงและให้เป็นการตั้งคำถามผ่านประธานแทน โดยประเด็นพิจารณาแรกเรื่อง "กรณีที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านสื่อมวลชนว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพข้าว"
นายยรรยง กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การลงพื้นที่ของ กมธ.มีส่วนกระทบกับที่กระทรวงพาณิชย์รับผิดชอบอยู่ ทั้งนี้ การแบ่งอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายตุลาการมีชัดเจนอยู่แล้วตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ม.135 ให้อำนาจ กมธ.ในการเชิญบุคคลมาชี้แจงและเรียกข้อมูลเพิ่มเติม และอำนาจในการลงไปตรวจสอบนั้นเป็นของตุลาการ ที่ก็ไม่ได้ทำโดยพละการ โดยหาก กมธ.จะตรวจสอบก็ต้องสร้างความรู้ในด้านนี้เสียก่อน และเกรงว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในกรณีต่อๆ ไป ในส่วนของการดำเนินโครงการ ทั้งกระบวนการรับจำนำ และการระบายข้าวค่อนข้างบรรลุวัตถุประสงค์ เนื่องจากสามารถระบายได้ในราคาที่สูงตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้
ในประเด็นคุณภาพข้าวที่นักวิชาการและหลายฝ่ายห่วงกังวลนั้น นายยรรยง ชี้แจงว่า เรื่องคุณภาพข้าวไทยที่หลายฝ่ายเกรงว่าโครงการรับจำนำข้าวจะเป็นแรงจูงใจให้ชาวนาปลูกข้าวมากขึ้น โดยเน้นปริมาณผลผลิตมากกว่าคุณภาพของผลผลิตนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะราคาที่รัฐบาลกำหนดไว้ในการจำนำก็เป็นตัวประเมินคุณภาพอยู่แล้ว และตนก็ติดตามเรื่องการตรวจวัดความชื้นมาโดยตลอด ในภาพรวมประเมินได้ว่า คุณภาพข้าวดีขึ้นและชาวนาก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลิตมากนัก แต่โรงสีมีการปรับกระบวนการผลิตมากขึ้น ทั้งการอบความชื้นและการสีข้าว ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีกระบวนการที่ดีที่สุดในโลก
เปิด ๆ ปิดๆ สต็อกข้าว
ขณะที่นายมนัส กล่าวว่า แม้จะไม่สามารถระบายข้าวข้าวสารจากโครงการรับจำนำปีการผลิต 2554/2555 และข้าวเปลือกจากโครงการในอดีตรวม 7.5 แสนตันตามที่ประกาศได้ แต่ก็สามารถระบายได้รวม 229,661 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 3,973 ล้านบาท แบ่งเป็น ข้าวสารหอมมะลิ 100 เปอร์เซ็นต์ ชั้น 2 มีผู้ชนะการประมูล 3 ราย รวม 17,040 ตัน มูลค่า 508 ล้านบาท ขายได้ในราคาถูกสุดตันละ 30,000 บาท
ขณะที่ข้าวขาว 5% มีผู้ได้รับการประมูล 4 ราย รวมเป็นปริมาณข้าว 210,660 ตัน คิดเป็นมูลค่า 3,435 ล้านบาท ส่วนข้าวเปลือกหอมมะลิที่ค้างอยู่ในโครงการรับจำนำปีการผลิต 2548/2549 ได้อนุมัติขายข้าวให้ผู้ค้า 2 ราย รวมเป็นจำนวน 2,935 ตัน ราคาตันละ 5,300 บาท สำหรับข้าวที่เหลือจากการประมูลกว่า 5 แสนตัน จะเร่งระบายโดยให้ยื่นซองประมูลอีกครั้งภายใน 2 สัปดาห์
นายมนัส กล่าวเพิ่มเติมถึงวิธีการระบายข้าวว่าว่า มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การประมูลข้าว 2.การระบายแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G2G 3.ระบายในประเทศ โดยการทำข้าวถุงธงฟ้าราคาถูก และข้าวช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม อย่างกรณีการขายแบบรัฐต่อรัฐ ที่ขณะนี้ ได้ทำสัญญากับไอวอรี่โคสต์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย บังกลาเทศ และบรูไน แต่เหตุที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ทั้งหมด เนื่องจากเป็นข้อตกลงกับประเทศคู่ค้าที่ไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล เพราะจะทำให้ข้าวในตลาดโลกตกต่ำลง อาจมีการกดราคากัน และการเปิดเผยนั้นก็ไม่เป็นผลดีต่อโครงการ ดังนั้น จะเปิดเผยก็ต่อเมื่อผ่าน ครม.แล้ว
"การระบายข้าวจำเป็นต้องปกปิดข้อมูลส่วนหนึ่ง เช่น สต็อกข้าว ไม่ควรเปิดเผยให้ตลาดโลกรู้ เพราะเราก็ไม่รู้สต็อกข้าวของเวียดนามและอินเดียเช่นกัน มีหลายข้อมูลที่อยากเปิดเผย แต่ก็ไม่สามารถเปิดเผยได้ เป็นกลยุทธ์ในการเจรจาระหว่างประเทศ" อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าว และว่า ยืนยันได้ว่าเรื่องแอบระบายข้าว ไม่มีและเป็นไปไม่ได้ เพราะการระบายทุกครั้งผมต้องรู้ แต่ก็มีการเบิกข้าวออกอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการระบายในประเทศ การทำข้าวถุง ในส่วนข้อห่วงใยว่า เมื่อเปิดโครงการรับจำนำรอบใหม่จะไม่มีพื้นที่เก็บข้าวนั้น ไม่ใช่เรื่องน่าห่วง เพราะโกดังไซโลข้าวของไทยใหญ่กว้างขวางมาก