เตรียมจัดงานไหมไทยเฉลิมพระเกียรติฯ ราชินี เรียกความเชื่อมั่นก่อนไหมจีนตีตลาดเออีซี
กรมหม่อนไหมเตรียมจัดงานไหมไทยเฉลิมพระเกียรติฯ ราชินี มอบรางวัลไหมท้องถิ่นดีเด่น โชว์ไหมไทยสร้างรายได้ 6 พันล. ไปโลดตลาดยุโรป ถกปัญหาไหมจีนแฝงเวียดนามแย่งตลาดเออีซี
เร็ว ๆ นี้ กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) แถลงข่าวจัดงาน ‘ตรานกยูงพระราชทาน สืบสานตำนานไหมไทย เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 ส.ค. 55’ ณ กระทรวงเกษตรฯ
นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ (รมว.กษ.) เปิดเผยว่า งานจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา กับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา โดยให้พสกนิกรทราบถึงพระปรีชาสามารถ พระอัจฉริยภาพ และพระมหากรุณาธิคุณต่อวงการไหมไทย อีกทั้งยังเผยแพร่เครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย ‘ตรานกยูงพระราชทาน’ สำหรับสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสินค้าไหมไทยระหว่างผู้ผลิตถึงผู้บริโภค และปลูกฝังให้ตระหนักถึงความสำคัญในอาชีพปลูกหม่อนไหมและทอผ้าไหมให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบไป
ด้านนายประเสริฐ โกศัลวิตร อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า ภายในงานจะมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณด้านหม่อนไหม ผลิตภัณฑ์จากรังไหมและผ้าไหม กองเชียร์สาวไหม นิทรรศการแสดงผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน ได้แก่ ผ้าไหมตรานกยูงสีทอง เป็นผ้าไหมที่ผลิตโดยใช้เส้นไหมและวัตถุดิบ ตลอดจนกระบวนการผลิตที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยต้องใช้เส้นไหมพันธุ์ไทยแท้ สาวด้วยมือผ่านพวงสาวลงภาชนะ ทอด้วยกี่ทอมือแบบพื้นบ้านชนิดกระสวยด้วยมือ ย้อมสีธรรมชาติ และผลิตในไทยเท่านั้น ผ้าไหมตรานกยูงสีเงิน เป็นผ้าไหมที่ผลิตขึ้นโดยอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านผสมกับใช้เครื่องมือในกระบวนการผลิตบางขั้นตอน โดยต้องใช้เส้นไหมพื้นบ้านหรือพันธุ์ไทยปรับปรุง ต้องสาวด้วยมือหรืออุปกรณ์มอเตอร์ไม่เกิน 5 แรงม้า ทอด้วยกี่ทอมือหรือกระตุก และผลิตในไทยเท่านั้น
ผ้าไหมตรานกยูงสีน้ำเงิน เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยภูมิปัญญาของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีในการผลิตเชิงธุรกิจ โดยต้องใช้เส้นไหมแท้ ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือสีเคมีไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทอกี่แบบใดก็ได้ แต่ต้องผลิตในไทยเท่านั้น สุดท้ายผ้าไหมตรานกยูงสีเขียว เป็นผ้าไหมที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ผสมผสานภูมิปัญญาไทยด้านลวดลายกับสีสัน โดยต้องใช้เส้นไหมแท้เป็นส่วนประกอบหลัก มีเส้นใยอื่นเป็นส่วนประกอบรอง ทอกี่แบบก็ได้ ย้อมด้วยสีธรรมชาติหรือเคมีไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ต้องผลิตในไทยและระบุส่วนประกอบของเส้นใยให้ชัดเจน
อธิบดีกรมหม่อนไหม ยังกล่าวว่า นอกจากนี้ยังจัดแสดงงานวิจัยและนวัตกรรมต่าง ๆ เช่นไหมอินทรีย์ของไทยที่ได้รับการรับรองจากกลุ่มประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ระบบตรวจสอบย้อนกลับกระบวนการผลิตผ้าไหม ระบบการเรียนการสอนการทอผ้าไหมผ่านอินเทอร์เน็ต (อี-เลิร์นนิ่ง) และร้านค้าจำหน่ายผ้าไหมทั่วทุกภาคทั้งสิ้น 120 ร้านด้วย
นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันผ้าไหมไทยสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 6 พันล้านบาทและเชื่อมั่นว่าตลาดผ้าไหมไทยจะไม่ได้ผลกระทบจากเออีซีมาก เพราะกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปให้การรับรองว่าผ้าไหมไทยมีคุณภาพและความงามมากกว่าชาติอื่น ส่วนราคานั้นจะคำนึงถึงการใช้วัตถุดิบและความประณีตเป็นหลัก โดยกำหนดมาตรฐานกลางของเออีซีไว้เพื่อให้ทุกชาติยอมรับได้
ขณะที่นายนิกร จำนง ที่ปรึกษารมว.กษ. กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีความกังวลตลาดผ้าไหมไทยเมื่อเข้าสู่เออีซีว่า ไม่มีประเทศใดในอาเซียนผลิตผ้าไหมได้ดีเทียบเท่าไทย แต่ที่กังวลและทราบปัญหามากว่า 1 ปี คือ ผ้าไหมจีนที่มีราคาถูกลักลอบขายในอาเซียนภายใต้สัญชาติเวียดนาม ซึ่งจะส่งผลกระเทือนถึงตลาดภูมิภาค จึงจำเป็นต้องตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าให้ดีด้วย
ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการเปิดงาน เเละพระราชทานโล่รางวัลเเก่ผู้ชนะเลิศการประกวดไหมไทยทุกประเภท ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-16 ก.ย. 55 เวลา 10.00-20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผู้สนใจสามารถเข้าชมงานและเลือกซื้อผ้าไหมได้.
ที่มาภาพ http://thailandexhibition.com/News/5357
ล้อมกรอบ
ผลการประกวดประเภทต่าง ๆ ด้านเส้นไหมไทย
1.เส้นไหมหลืบสาวมือ (ระดับประถม) ได้แก่ ด.ญ.จีรนันท์ จันทร์มาตร์ กับด.ญ.ไอริณ อุตโม ร.ร.บ้านชมพูพาน จ.สกนคร
2.เส้นไหมน้อยสาวมือ (ระดับประถม) ได้แก่ ด.ญ.อรพิณ โปรยไธสง กับด.ญ.อารยา อินโสม ร.ร.บ้านสวนสวรรค์ จ.ขอนแก่น
3.เส้นไหมหลืบสาวมือ (ระดับมัธยม) ได้แก่ น.ส.วินาพร มูลวันดี กับน.ส.อังสุมารินทร์ ไชยทองดี ร.ร.วังหลวงพัทยาสวรรค์ จ.หนองคาย
4.เส้นไหมน้อยสาวมือ (ระดับมัธยม) ได้แก่ น.ส.สาริณี นามวงศ์ กับน.ส.ปิยะนุช จันทะสิงห์ ร.ร.เหมือนแบ่งวิทยาคม จ.เลย
5.เส้นไหมหลืบสาวมือ (ประชาชนทั่วไป) ได้แก่ นางน้ำอ้อย เสกหล้า กับนางกัลยา สมานโสร จ.สุรินทร์
6.เส้นไหมน้อยสาวมือ (ประชาชนทั่วไป) ได้แก่ นางประหยัด นิลโสม กับนางสุภาพ เลิศสงคราม จ.ร้อยเอ็ด
7.ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีทอง ประเภทผ้าโฮล (สตรี) สีธรรมชาติ ได้แก่ นางจำนง อินทร์สระคู จ.ร้อยเอ็ด
8.ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีทอง ประเภทผ้าพื้น สีธรรมชาติ ได้แก่ นางก้านก่อง เสมามิ่ง จ.อุบลราชธานี
9.ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้าแพรวา สีเคมี ได้แก่ นายสุรินทร์ ปัสผล จ.กาฬสินธุ์
10.ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้ายก ได้แก่ น.ส.สุรีรัตน์ มาลาจำปี จ.ลำพูน
11.ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้าจก ได้แก่ นายฐิติรัตน์ ขิติคำ จ.แพร่
12.ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้าหางกระรอก ได้แก่ นางศุภางค์ ต่างกลาง จ.นครราชสีมา
13.ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีน้ำเงิน ประเภทผ้ามัดหมี่ สีเคมี ได้แก่ นายสุระมนตรี ศรีสมบูรณ์ จ.ขอนแก่น
14.ผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานสีเขียว ประเภทผ้าไหมเทคนิคสีผสม ได้แก่ นายสุระมนตรี ศรีสมบูรณ์ จ.ขอนแก่น
15.ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ประเภทของตกแต่งบ้าน/ของใช้ในบ้าน ระดับเยาวชน ได้แก่ น.ส.นวพร สมานพันธุ์นุวัฒน์ จ.เชียงใหม่
16.ผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ประเภทของตกแต่งบ้าน/ของใช้ในบ้าน ระดับมืออาชีพ ได้แก่ น.ส.สุภาพร อรรถโกมล
17.ผลิตภัณฑ์จากรังไหม ประเภทของตกแต่งบ้าน/ของใช้ในบ้าน ระดับเยาวชน ได้แก่ นายชลิตรัฐ สุรฤทธิพวศ์ จ.ชัยภูมิ
18.ผลิตภัณฑ์จากรังไหม ประเภทของตกแต่งบ้าน/ของใช้ในบ้าน ระดับมืออาชีพ ได้แก่ นางอรสา นัดใหม่ จ.นครราชสีมา
19.การออกแบบชุดผ้าไหม ประเภทชุดแต่งกายประจำวัน ระดับเยาวชน ได้แก่ นายสุไลมาน สัญญา จ.สตูล
20.การออกแบบชุดผ้าไหม ประเภทชุดแต่งกายประจำวัน ระดับมืออาชีพ ได้แก่ นายสัญญาลักษณ์ มีสวัสดิ์ จ.ลำปาง
21.การทำอาหารจากหม่อนไหม ระดับเยาวชน ได้แก่ ด.ช.เกรียงไกร ประแสนพันธ์ จ.อุบลราชธานี
22.การทำอาหารจากหม่อนไหม ระดับมืออาชีพ ได้แก่ นางต้อย ตู้จันทึก จ.อุบลราชธานี
23.การแข่งขันสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม ระดับเยาวชน ได้แก่ ด.ช.ณัฐพร บุตรน้ำเพชร จ.ชุมพร
24.การแข่งขันสิ่งประดิษฐ์จากรังไหม ระดับมืออาชีพ ได้แก่ นางไพจิตร สิทธิสาร จ.ศรีสะเกษ
25.การประกวดกองเชียร์สาวไหม ระดับเยาวชน ได้แก่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ อุบลราชธานี
26.การประกวดกองเชียร์สาวไหม ระดับประชาชนทั่วไป ได้แก่ ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติ สุรินทร์
: