"รอยล" ปลื้มผลทดสอบระบายน้ำฝั่ง ตต.ดีเกินคาด-บอกน้ำท่วมอยุธยา ไม่เกี่ยวกัน
"รอยล" ยิ้มร่า ผลทดสอบการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตกผ่านฉลุย มั่นใจปีนี้ไทยไม่เจอวิกฤตน้ำ พร้อมแจงชัดน้ำท่วมอยุธยา แผน กบอ.ไม่มีเอี่ยว
วันที่ 5 กันยายน ที่ศูนย์ปฏิบัติการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) (สสนก.) ผศ.ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ ในคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เปิดเผยผลดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำพื้นที่ฝั่งตะวันตก ตั้งแต่เวลา 14.02 น. โดยประสานงานผ่านไปทางสำนักการระบายน้ำ กทม. ให้เปิดประตูระบายน้ำที่คลองทวีวัฒนาความสูง 50 เซนติเมตร และทุก 30 นาทีจะขยายบานประตูเพิ่มขึ้น 50 เซนติเมตร จนกระทั่งยกลอยสุดบานที่ความสูง 1.5 เมตร ทดสอบเดินเครื่องผลักดันน้ำเต็มศักยภาพ ก่อนยุติการทดสอบในเวลา 17.00 น.ว่า ผลจากการทดสอบในวันนี้ได้ผลดีเกินกว่าที่คาดไว้ พิจารณาจากอัตราการไหลของน้ำ เปรียบเทียบกับเมื่อวันที่ 4 กันยายน ทดสอบโดยไม่มีเครื่องผลักดันน้ำ พบว่า ที่ประตูทวีวัฒนา ระดับน้ำสูง 70 ซม. ที่คลองภาษีเจริญบริเวณจุดตัดระดับน้ำอยู่ที่ 30 ซม. อัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 10 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนการทดลองในวันนี้ได้นำเครื่องผลักดันน้ำมาใช้ พบว่าที่คลองทวีวัฒนา ระดับน้ำสูง 77 ซม. น้ำไหล 20 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่พื้นที่ปลายน้ำมีระดับความสูงที่ 20 กว่า ซม.เท่านั้น
“สรุปก็คือ เมื่อเดินเครื่องผลักดันบางส่วน ทำให้ประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองฝั่งตะวันตกเพิ่มขึ้น จาก 7 ลบ.ม.ต่อวินาที เป็น 11 ลบ.ม.ต่อวินาที และเมื่อเดินเครื่องผลักดันน้ำเต็มศักยภาพ พบว่า ประสิทธิภาพการระบายน้ำอยู่ที่ 17 ลบ.ม.ต่อวินาที นอกจากนี้แม้ในช่วงระหว่างการทดสอบจะมีฝนตกมาในระดับปานกลาง แต่ทุกจุดก็ไม่พบรายงานการล้นตลิ่ง ดังนั้นจึงเป็นบทพิสูจน์ที่เห็นชัดแล้วว่า ต่อไปต้องวางเครื่องผลักดันเต็มหน้าคลอง ไม่ใช่วางหลวมๆ ขณะที่ใบพัดต้องอยู่ต่ำกว่าระดับผิวน้ำประมาณ 50 ซม.ถึงจะได้ผลดี”
ผศ.ดร.รอยล กล่าวว่า การดำเนินการผลักดันน้ำครั้งนี้ เปรียบเหมือนกับการจัดจราจรทางน้ำ ยิ่งถ้าเรามีความรู้มีข้อมูลล่วงหน้าประมาณ 40-50 วันก่อนที่น้ำมาถึง ก็แค่เปิดให้น้ำออกไปก่อน ไม่ใช่ให้รอจนติดขัดหนักแล้วถึงเปิดไฟเขียว เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น จะติดเป็นงูกินหาง
ขณะที่ผลการทดสอบครั้งนี้ ผศ.ดร.รอยล กล่าวว่า จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับทุกภาคส่วน ปรับเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการเปิดประตูระบายน้ำ เนื่องจากปีก่อนเราไม่กล้าที่จะทำ ทุกพื้นที่ใช้มาตรการปิดประตูระบายน้ำกันทั้งนั้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติก็ได้รู้ข้อเท็จจริง ข้อจำกัดว่าเกิดขึ้นที่ไหนอย่างไรบ้าง
“เรื่องนี้ไม่ได้น่ากลัว ไม่ได้มีอะไรเลย เป็นเรื่องทางวิชาการและภาคปฏิบัติจริงๆ อีกทั้งยังช่วยให้หมดความสงสัยในหลายเรื่อง เพราะได้พิสูจน์กันไปแล้ว มั่นใจว่าการทดสอบครั้งนี้ ช่วยตอบคำถามได้ 100 % และในปีนี้เชื่อว่าจะไม่มีมีวิกฤตเรื่องน้ำเกิดขึ้นอย่างแน่นอน”ผศ.ดร.รอยล กล่าวอย่างยิ้มแย้ม พร้อมเปิดเผยด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจ ซึ่งตนได้รายงานไปแล้วว่าได้ผลดีเกินคาด และนายกฯ ได้ฝากขอบคุณทุกหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีด้วย
เมื่อถามถึงกรณีเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และมีหลายฝ่ายมองว่าเป็นความผิดพลาดจากการทดสอบระบบระบายน้ำในครั้งนี้ ผศ.ดร.รอยล กล่าวว่า ข้อเท็จจริงที่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่ต้นก็คือ จะหรี่น้ำตรงประตูพระราม 6 เอาน้ำเข้ามาทางคลองระพีพัฒน์แยกใต้ ซึ่งห่างจากพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 20 กิโลเมตร อยู่บริเวณคลอง 13 พื้นที่น้ำท่วมอยู่บริเวณคลอง 2 ตอนบน น้ำจะส่งมาทางคลอง 6 วา เพราะฉะนั้นคิดว่าอยากให้เข้าใจข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และที่แล้วมาฝนตก 20 มิลลิเมตรติดต่อกันน่าจะเกิน 1 สัปดาห์ในพื้นที่ประตูน้ำพระอินทร์ คงต้องกลับไปดูว่าตำบลต่างๆวางกำแพงกันอย่างไร จนน้ำไม่สามารถระบายได้ หรือบางทีอาจสร้างกำแพงจนลืมสนใจเรื่องท่อระบายน้ำ