บอร์ดค่าจ้างเคาะ 300 บ. 70 จว. เริ่ม 1 ม.ค.56 โพลล์ชี้กระทบเลิกจ้าง-ราคาสินค้าพุ่ง
บอร์ดค่าจ้างเคาะขึ้น 300 บ.ต่อวันพร้อมกันทั่ว ปท. 1 ม.ค.56 ระบุไม่ส่งผลให้เลิกจ้าง-เอสเอ็มอีปรับตัวได้ หอการค้าโพลล์ชี้กระทบแน่ ราคาสินค้าขึ้น-ลดสวัสดิการ-เลิกจ้างคนไทยเอาต่างด้าว
วันที่ 5 ก.ย.55 ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวหลังประชุมคณะกรรมค่าจ้างว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทใน 70 จังหวัดทั่วประเทศวันที่ 1 ม.ค.56 และให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ที่วันละ 300 บาท เป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2558 ทั้งนี้ภายใน 2 สัปดาห์จะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
นพ.สมเกียรติ กล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการค่าจ้างยืนยันมติเดิมเพราะได้ติดตามสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจสังคมและแรงงาน หลังวันที่ 1 เม.ย.55 ที่ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในทุกจังหวัดขึ้นร้อยละ 39.5 โดยมี 7 จังหวัดที่อัตราค่าจ้างปรับเป็นวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม ภูเก็ต พบว่าไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆได้แก่
1.ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ขยายตัวต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 2 ถึงร้อยละ4.2 สูงกว่าไตรมาสแรกของปีนี้ เนื่องจากประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น 2.ผลกระทบจากการลงทุนของภาคเอกชนพบว่าในรอบ 7 เดือนที่ผ่านมามีนักลงทุนต่างชาติเสนอโครงการขอรับเงินส่งเสริมการลงทุน 829 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เงินลงทุนรวม 3.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 62 และ 3.อัตราเงินเฟ้อในรอบ7 เดือนที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.92 ต่ำกว่าที่บอร์ดค่าจ้างคาดการณ์ไว้ว่าอยู่ที่ร้อยละ 3.3-3.8
4.อัตราการว่างงานไม่ได้สูงขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ม.ค.-มิ.ย.55 อยู่ที่อัตราร้อยละ 0.8 ซึ่งถือว่าต่ำ 5.ส่วนการเลิกจ้างก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพบว่าสถานประกอบการ 9,098 แห่ง ลูกจ้างกว่า 3.5 แสนคน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมามีการเลิกจ้างเพียง 2 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 0.02 ลูกจ้าง144 คนคิดเป็นร้อยละ 0.04 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ผิดปกติ 6.ผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี) ร้อยละ 80 ได้รับผลกระทบ แต่จำนวนนี้ร้อยละ 99 ปรับตัวได้ซึ่งเป็นผลสำรวจจากกระทรวงแรงงานร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)
7.ผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะสั้นช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาผลิตภาพแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ8.7 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วง10 ปีย้อนหลังก่อนมีการปรับขึ้นค่าจ้าง ผลิตภาพแรงงานมีการปรับเพิ่มขึ้นต่ำอยู่ที่ร้อยละ2-3 เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าการปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ทำให้ผู้ประกอบการมีการกระตุ้นให้แรงงานปรับการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ส่วนระยะกลางทำให้มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารจัดการมากขึ้น ระยะยาวทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนแนวคิดการลงทุนและการผลิตจากประเทศที่กำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว 8.การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำช่วยลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้ที่เป็นธรรม 9.ทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ปลัดกระทรวงแรงงาน ยังกล่าวถึงมาตรการรองรับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างใน 70 จังหวัด ว่าจะรวบรวมข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งที่ผ่านมามีข้อเสนอต่างๆ เช่น ขยายเวลาลดเงินสมทบประกันสังคมออกไปอีก 1 ปี ขยายเวลาลดภาษีเงินส่วนต่างของค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นที่จะหมด ธ.ค.นี้ จัดตั้งกองทุนเงินกู้จำนวน 1-2 หมื่นล้านให้ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยข้อเสนอแต่ละเรื่องก็จะเสนอต่อไปยังกระทรวงที่เป็นเจ้าของเรื่องเพื่อพิจารณาต่อไป รวมทั้งจะรวบรวมมาตรการต่างๆเสนอเป็นแพคเกจเข้า ครม. ภายใน ธ.ค.นี้ เพื่อให้มาตรการรองรับออกมาทันกับการปรับขึ้นค่าจ้างวันที่ 1 ม.ค.56
ด้าน ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษบกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลสำรวจ"สถานภาพธุรกิจไทยในปัจจุบัน" ว่าหลังจากปรับขึ้นค่าแรง ผู้ประกอบการ 47.2% ปรับตัวโดยเพิ่มราคาสินค้า 34.2% ลดสวัสดิการ 32.1% ลดจำนวนแรงงาน 8.5% ใช้เครื่องจักร และ 7.6% จ้างแรงงานต่างด้าว ขณะที่การเยียวยาจากภาครัฐ ผู้ประกอบการ 94.5% ยังไม่ได้รับ มีเพียง 5.5% ได้รับการเยียวยา ส่วนมาตรการปรับลดภาษีนิติบุคคลผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี
ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ธุรกิจ 41%ตอบว่าได้รับผลกระทบปานกลาง 44.8%ตอบว่าได้รับผลกระทบน้อย 14%ตอบว่าได้รับผลกระทบมากและ0.1%ไม่มีเลย ถามถึงสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่ 62%ตอบว่าเหมาะสมปานกลาง 27.2% เหมาะสมน้อย 10.8%เหมาะสมมาก โดยรเดับอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ท32.2บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนใหญ่ตอบว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เหมาสมในปัจจุบันไม่ควรเกิน 7.5% ถามถึงราคาน้ำมันและพลังงานส่วนใหญ่ 46.9% ตอบว่าเหมาะสมปานกลาง 45.9% ตอบว่าเหมาะสมน้อย โดยระดับราคาน้ำมันดีเซลที่ไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ 28.82 บาทต่อลิตร ส่วนระดับเฉลี่ยที่ธุรกิจรับภาระได้ 30.03 บาทต่อลิตร .