กษ. ถกเอกชนดันไทยผู้นำข้าว-ยาง-ปาล์มรับมืออาเซียน
กษ. ถกส.อ.ท.-หอการค้า ผลัก 16 ชนิด 7 กลุ่มเกษตรไทยสู่ผู้นำเออีซี เร่งพัฒนาข้าวพื้นเมือง เอกชนร้องเปิดเสรีน้ำยาง-ร่วมทุนยางพาราระหว่างปท. ดันตั้งกลุ่มปาล์มอาเซียน
วันที่ 5 ก.ย. 55 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) นายธีระ วงศ์สมุทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (รมว.กษ.) เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐ เอกชน ด้านการเกษตร (กรอ.กษ.) ว่า ได้มอบหมายให้นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกษ. ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาการผลิตเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการประชุมสถานภาพของสินค้าเกษตรอันดับต้นที่จะทำตลาดในอาเซียน โดยร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าทางเศรษฐกิจหลัก 16 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรด ข้าวโพดหวาน ลำไย ปาล์มน้ำมัน ยางพารา สุกร โคเนื้อ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ กุ้งทะเล และทูน่า เพื่อรับฟังแนวทางความต้องการของภาคเอกชนในการเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยเอกชนได้เรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาจุดแข็งของสินค้าเกษตรและคงการเป็นผู้นำอาเซียนไว้
ด้านนายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกษ. เปิดเผยว่า ขณะนี้กษ. กับเอกชนไทยได้กำหนดแนวทางดำเนินการในสินค้าแต่ละชนิดแล้ว โดยพิจารณาจากสถานภาพการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรไทย ประกอบด้วย 1.กลุ่มสถานภาพสินค้าที่ไทยเป็นผู้ค้าและเป็นผู้นำในเออีซี ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดหวาน และทูน่า โดยข้าว รัฐและเอกชนได้วางแผนพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองกับข้าวหอมมะลิให้มีความหลากหลายและลักษณะเฉพาะ กำหนดยุทธศาสตร์ตลาดใหม่ ส่วนมันสำปะหลัง เสนอให้นำเข้าชนิดดิบ/เส้นจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลิตและแปรรูปเชิงมูลค่ามากขึ้น 2.กลุ่มสินค้าที่ไทยเป็นผู้นำการผลิต ส่งออก และศูนย์กลางการค้าของเออีซี ได้แก่ ยางพารา อ้อยโรงงาน สับปะรด ปาล์มน้ำมัน โคนม และกุ้งทะเล โดยเอกชนเสนอให้ ยางควรเปิดให้มีการนำเข้าน้ำยางข้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้รัฐต้องเป็นผู้นำผลักดันให้ทุกประเทศของเออีซีเป็นสมาชิกบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (ไออาร์ซี) โดยไทยเป็นศูนย์กลางบริหาร เพื่อให้เกิดเวทีเจรจาด้านยางพาราที่ส่งผลต่อการทำตลาดที่ดี ขณะที่ปาล์มน้ำมัน ไทยต้องเป็นผู้นำจัดตั้ง ASEAN Palm Oil Federation โดยมีศูนย์กลางบริหารที่ไทยเช่นกัน
3.กลุ่มสินค้าที่ไทยคงสภาพการผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ ได้แก่ ไก่ไข่กับสุกร โดยเอกชนเห็นว่าประเทศในอาเซียนเป็นผู้ผลิตที่ผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศ ทำให้ไม่สามารถทำตลาดในกลุ่มเดียวกันได้ ขณะเดียวกันผลผลิตของไทยอยู่ในระดับที่มากกว่าความต้องการของตลาดจึงควรเน้นมาตรการให้การผลิตมีเสถียรภาพและทำตลาดนอกกลุ่มประเทศเออีซี 4.กลุ่มสินค้าที่ไทยคงสภาพการเป็นประเทศคู่ค้า ได้แก่ ไก่เนื้อ ซึ่งไทยอยู่อันดับ 2 ของเออีซี รองจากอินโดนีเซีย ปัญหาคือกลุ่มเออีซียังผลิตบริโภคในประเทศอยู่ รัฐจึงต้องหาวิธีการให้เกิดการส่งออกมากขึ้น 5.กลุ่มสินค้าที่ไทยคงสภาพการเป็นประเทศนำการผลิตและผู้ค้า ได้แก่ ลำไย ซึ่งไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกอันดับ 1 ของภูมิภาค แต่ควรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพ รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และตลาดใหม่ ๆ 6.กลุ่มสินค้าที่ไทยยังคงสถานะผู้นำเข้า ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เอกชนเสนอให้เน้นเพิ่มการผลิตในประเทศ และส่งเสริมให้เอกชนไทยตั้งฐานการผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำเข้าสินค้ามาแปรรูปในไทยได้ในราคาถูก และ7.กลุ่มสินค้าที่ไทยจะก้าวสู่การเป็นฐานการผลิต ได้แก่ โคเนื้อ โดยเร่งวางแผนเป็นผู้ส่งออกเนื้อคุณภาพภายใน 5 ปี
อย่างไรก็ตามข้อเสนอภาคเอกชนนั้น กระทรวงเกษตรฯ จะไปกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ภาคการเกษตรเพื่อเตรียมพร้อมสู่เออีซีปี 58 โดยเร่งด่วนต่อไป.