นโยบายป้องกันภัยพิบัติ นักวิชาการชี้ เป็นไปไม่ได้ทุกอย่างดึงเงินจากภาษี
ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด ถอดบทเรียนอุทกภัยปี 2553 ย้ำชัด ไทยจำเป็นต้องมีมาตรการระดมทุน เก็บภาษีน้ำท่วมจากผู้ได้รับประโยชน์จากมาตรการป้องกัน หรือคิดเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์อื่นๆ ในการจัดการภัยพิบัติ
วันที่ 4 กันยายน คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดประชุมวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "1 ปี กับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล:นโยบายด้านการป้องกันภัยพิบัติ" ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดี โดยดร.นริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวเปิดการประชุม ถึงการใช้แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์มาบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะบริเวณน้ำท่วมซ้ำซาก มีความเป็นไปได้หรือไม่ อาจใช้วิธีการผันคนหนีน้ำ ให้คนไม่ไปตั้งถิ่นฐานในที่ที่น้ำท่วมซ้ำซาก หรือแม้แต่การสร้างบ้านเรือน ก็อาจต้องมีการสร้างบ้านลักษณ์หนีน้ำ ขณะเดียวกัน อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนการทำนาปรัง เพื่อปัญหาการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
ด้านศ.ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสะอาด กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวถึงมหาอุทกภัยปี 2554 ของไทยที่ถูกจัดอันดับเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหาย 4.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับ 3 ของโลก ว่า เกิดขึ้นในหลายจังหวัดตั้งแต่เจ้าพระยาตอนบน และเจ้าพระยาตอนล่าง ดังนั้นสังคมไทยควรนำสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วมาเป็นบทเรียน มาถอดบทเรียนว่า ปัญหาอยู่ตรงไหน จะแก้ไขอย่างไร อีกทั้งควรมีการทำการศึกษาวิจัย เช่น ขณะนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็กำลังทำวิจัยเรื่องภาษีน้ำท่วม และการชดเชยความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัยปี 2554
ศ.ดร.มิ่งสรรพ์ กล่าวถึงการทำสำรวจความเห็นคนกรุงเทพฯ กว่า 3,000 คน ถามถึงกรณีรัฐบาลออกพระราชกำหนด 3 ฉบับ เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถกู้เงินไม่ต่ำกว่า 350,000 ล้านบาท มารองรับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยนั้น เราควรนำเงินมาจากไหน ซึ่งส่วนใหญ่ตอบว่า ไม่ควรต้องเสียภาษีเลย และในจำนวนนี้มีถึง 10% ตอบว่า ควรใช้เงินจากการบริจาค ทั้งๆ ที่ เงินบริจาคน้ำท่วมปี 2554 ได้แค่ประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่รัฐบาลต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 350,000 ล้านบาท
"เป็นไปไม่ได้ที่ทุกอย่างจะดึงเงินจากผู้เสียภาษี ฉะนั้นเราจำเป็นที่ต้องมีมาตรการระดมทุน มีมาตรการทางภาษีจากผู้ได้รับประโยชน์ คนที่ได้รับการป้องกัน ซึ่งต้องจ่ายภาษีมากกว่าคนอื่น มีเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการภัยพิบัติ ที่ต้องคิดขึ้นมาอีกหลายเรื่อง หรือเมื่อจะมีการลงทุนทำฟลัดเวย์ ก็ควรทำให้เป็น Truck route โดยเหตุการณ์ปกติก็เป็นเส้นทางเดินรถ แต่พอน้ำท่วมก็กลายเป็นเส้นทางปล่อยน้ำ เป็นต้น"
กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้สิ่งที่รัฐบาลยังทำไม่ได้จากนโยบายป้องกันภัยพิบัติ คือ การจัดการกับสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ อีกทั้งยังไม่เห็นนโยบายด้านการบังคับใช้แผนการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณที่ราบน้ำท่วม แต่กลับไปเน้นมาตรการลงทุนที่ใช้สิ่งก่อสร้างมากเกินไป ขาดทางเลือกการระดมทุนจากผู้ได้รับการป้องกัน ที่สำคัญขาดการให้ข้อมูลประชาชน ว่า "ท่านเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา ประชาชนไม่ควรเข้าไปรุกล้ำที่สาธารณะ ไม่ควร ทิ้งขยะไปในแม่น้ำลำคลอง"