นายกฯเยือนนราธิวาส...เยี่ยมชาวบ้านหรือกลัวฝ่ายค้านซักฟอก
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเดินทางลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งที่ 2 ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ (5 ก.ย.2555) โดยมีเป้าหมายที่ จ.นราธิวาส ซึ่งเพิ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างซุปเปอร์ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ ห้างสรรพสินค้าชื่อดังกลางเมือง เมื่อคืนวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา
การเดินทางลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งแรกของ "นายกฯยิ่งลักษณ์" คือเมื่อวันที่ 29 เม.ย.2555 หลังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 ของประเทศไทยนานถึงเกือบ 9 เดือน ซึ่งนับว่าทอดเวลายาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ ที่ต้องเผชิญกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ซึ่งยืดเยื้อมานานร่วม 9 ปี
การลงพื้นที่ครั้งที่แล้วของ "นายกฯยิ่งลักษณ์" ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย เพราะเลือกเดินทางไปในช่วงที่สถานการณ์ไม่มีความรุนแรง ทั้งๆ ที่มีเสียงเรียกร้องให้นายกฯลงพื้นที่ช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์คาร์บอมบ์ใน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.ยะลา เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 อันเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงทั้งชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของภาคใต้ตอนล่าง แต่นายกฯกลับไม่ลงพื้นที่ในช่วงเวลาดังกล่าว
ที่สำคัญการเดินทางเยือนชายแดนใต้ครั้งแรกของ "นายกฯยิ่งลักษณ์" ไม่ได้ออกพบปะเยี่ยมเยียนพี่น้องประชาชน แต่เลือกนั่งประชุมอยู่ในค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อันเป็นฐานบัญชาการใหญ่ที่สุดของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แล้วใช้วิธีนัดหมายชาวบ้านและผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงกรณีต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มสตรี ให้เข้าพบนายกฯที่ค่ายสิรินธร
กำหนดการลงพื้นที่ชายแดนใต้ของ "นายกฯหญิง" เที่ยวนี้ถูกปิดเป็นความลับ แม้แต่เจ้าตัวเองก็ไม่ยอมเปิดเผยกับผู้สื่อข่าว โดยเมื่อถูกสอบถามเมื่อวันที่ 4 ก.ย. นางสาวยิ่งลักษณ์ บอกเพียงว่า "เดี๋ยวจะแจ้งรายละเอียดให้ทราบ"
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบของ "ทีมข่าวอิศรา" ทำให้ทราบว่าเป้าหมายของนายกฯ คือการลงพื้นที่ จ.นราธิวาส โดยมีกำหนดการประชุมกับหน่วยงานด้านความมั่นคง รวมทั้งเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่ศาลากลางจังหวัด แต่ยังไม่ชัดว่าจะออกจากศาลากลางเพื่อพบปะเยี่ยมเยียนประชาชนที่เฝ้ารอการลงพื้นที่ของนายกฯมานานหรือไม่
ข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงระบุว่า นายกรัฐมนตรีต้องการติดตามความคืบหน้ามาตรการการจัดให้มีเขตรักษาความปลอดภัย หรือ "เซฟตี้โซน" (Safety Zone) จำนวน 13 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่เศรษฐกิจในเมืองสำคัญและชุมชนสาธารณะ 7 พื้นที่ คือ อ.เมือง จ.ปัตตานี อ.เมือง จ.ยะลา อ.เบตง จ.ยะลา อ.เมือง จ.นราธิวาส อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา กับพื้นที่ที่มีสถานการณ์และเหตุการณ์ความรุนแรงบ่อยครั้งอีก 6 พื้นที่ คือ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี อ.ธารโต จ.ยะลา อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา
ทั้งนี้ เป็นไปตามนโยบายที่ได้มอบหมายเอาไว้เมื่อวันพุธที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนรอมฎอน โดนเฉพาะเหตุยิงทหารเสียชีวิต 4 นายที่ อ.มายอ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ก.ค.และคาร์บอมบ์โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี เมื่อวันที่ 31 ก.ค.
ขณะที่เหตุเพลิงไหม้ใหญ่เที่ยวล่าสุดซึ่งมีเป้าหมายคือห้างสรรพสินค้าชื่อดังของ จ.นราธิวาส เกิดขึ้นในเขตเมือง อันเป็นหนึ่งในพื้นที่เศรษฐกิจที่กำหนดให้เป็น "เซฟตี้โซน"
นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรียังต้องการทราบความคืบหน้าโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (ซีซีทีวี) ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันและป้องปรามการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มก่อความไม่สงบ อันเป็นนโยบายสำคัญที่มอบไว้ในการประชุมเพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.จชต.) เมื่อวันพุธที่ 8 ส.ค.เช่นกัน
กระนั้นก็ตาม หลายฝ่ายได้ออกมาตั้งคำถามถึงการเดินทางลงพื้นที่ จ.นราธิวาส ของนายกรัฐมนตรี ว่ามีเป้าหมายเพื่อเยี่ยมเยียนประชาชน ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบ หรือมีเป้าประสงค์ทางการเมืองกันแน่...
เพราะต้องยอมรับว่าตั้งแต่สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ปะทุร้อนแรงขึ้นมาอีกระลอกตั้งแต่ช่วงเดือนรอมฎอน (เดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม 20 ก.ค.ถึง 18 ส.ค.) "นายกฯยิ่งลักษณ์" และรัฐบาลพรรคเพื่อไทยถูกโจมตีอย่างหนักในแง่ประสิทธิภาพและความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี (ซักฟอก) ในประเด็นนี้ด้วย
การเดินทางลงพื้นที่น้อยครั้งของนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะช่วงหลังเกิดเหตุการณ์รุนแรงครั้งใหญ่ และการไม่ยอมลงพื้นที่เลยของรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบปัญหาอย่าง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดของฝ่ายค้านตลอดมา และเสียงจากประชาชนในพื้นที่ก็ค่อนข้างผิดหวังกับรัฐบาล เมื่อผนวกกับราคายางพาราที่ดิ่งเหวอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลเสียแต้มไปไม่น้อย ทั้งๆ ที่ในพื้นที่นี้ก็ไม่มี ส.ส.พรรคเพื่อไทยแม้แต่คนเดียวอยู่แล้ว
ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ชิงจังหวะลงพื้นที่ต่อเนื่อง ล่าสุดหลังเกิดเหตุการณ์ป่วน 296 จุดด้วยการวางวัตถุต้องสงสัยและติดธงมาเลย์ทั่วพื้นที่ รวมทั้งเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าชื่อดังกลางเมืองนราธิวาส เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายอภิสิทธิ์ก็เดินทางลงพื้นที่ทันทีในวันรุ่งขึ้น
แต่กลับไร้เงาของนายกฯยิ่งลักษณ์ และบุคคลสำคัญในรัฐบาล มีเพียง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เท่านั้นที่เดินทางเข้าพื้นที่ตามบัญชาของนายกรัฐมนตรี
ทว่า พล.ต.อ.วิเชียร เป็นข้าราชประจำ อารมณ์ความรู้สึกที่ประชาชนสัมผัสได้จึงไม่เหมือนกับฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะระดับผู้นำประเทศ
แม้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะไม่มี ส.ส.ของพรรคเพื่อไทย แต่ "นายกฯยิ่งลักษณ์" ก็เป็นนายกรัฐมนตรีของทุกคนในประเทศนี้ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ที่ตนเองมีผู้แทนอยู่เท่านั้น การไม่ยอมลงพื้นที่จึงทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง...
การเดินทางไป จ.นราธิวาส ของ "นายกฯยิ่งลักษณ์" ในวันนี้จึงถูกตั้งคำถามว่า เป็นการแก้เกมทางการเมือง หรือห่วงใยสถานการณ์และความเป็นอยู่ของชาวบ้านอย่างแท้จริง เพราะทีมงานของนายกรัฐมนตรีเพิ่งแจ้งกำหนดการให้ ศอ.บต.ทราบเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 ก.ย. และแจ้งฝ่ายความมั่นคงในวันจันทร์ที่ 3 ก.ย.
อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นความงดงามของระบอบประชาธิปไตยที่ฝ่ายบริหารย่อมถูกตรวจสอบจากฝ่ายค้าน ผู้แทนราษฎร สื่อมวลชน และคนไทยทุกคน ทำให้คนระดับผู้นำประเทศไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อประชาชนในทุกพื้นที่ของประเทศได้
เพียงแต่ความจริงใจของการกระทำเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงจังของการแก้ไขปัญหา อันจะส่งผลถึงความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการสร้างสันติสุข ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวาน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เที่ยวล่าสุดของนายกฯยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2555 (ภาพโดย สุเมธ ปานเพชร)