‘ยงยุทธ’ ชี้ 1 ปี รบ.ปู นโยบายการศึกษาไม่น่าประทับใจ ยึด รมต.เป็นศูนย์กลาง
ดร.ยงยุทธ เผย 1 ปี รบ.ยิ่งลักษณ์ นโยบายการศึกษาเน้นแท็บเล็ต ชี้ไม่ยึด นร.เป็นศูนย์กลาง แนะเร่งลดช่องว่างด้านคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์-ภาษาอังกฤษ วอนอย่าผูกการศึกษาไว้กับการเมือง
วันที่ 4 กันยายน คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ จัดประชุมทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เรื่อง "1 ปี กับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล : นโยบายด้านการศึกษา" ณ ห้องเมจิก 2 ชั้น 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โดยมี รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ รองประธานกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ดร.สุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ และพระธรรมภาวนาวิกรม วิ. ผช.เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม พระนักพัฒนาการศึกษา ร่วมอภิปราย
รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า การศึกษาไทยในปัจจุบันเปลืองทั้งคนและงบประมาณค่อนข้างมาก แต่ผลลัพธ์กลับตรงกันข้าม ผลงานที่มาไม่น่าประทับใจ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ติด 100 อันดับแรกของโลก ทั้งๆ ที่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ในประเทศไทยใช้งบประมาณค่อนข้างมากในแต่ละปี ประกอบกับผลการศึกษาของธนาคารโลก ยังระบุว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาและเทคโนโลยีระดับปานกลาง แต่คุณภาพอาจารย์และบัณฑิตต่ำ การวิจัยค่อนข้างจำกัด และขาดการเชื่อมโยงทักษะด้านการวิจัยและพัฒนา แนวโน้มประเทศไทยในขณะนี้จึงไปในทิศทางที่เรียนมากขึ้น โง่มากขึ้น
"เนื่องจากโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนกว่าเก่า มีความจำเป็นต้องเชื่อมโยงการศึกษาทั้งระบบ โดยเฉพาะในยุคที่ใกล้เข้าร่วมกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โจทย์นี้ทำให้ระบบการศึกษาในปัจจุบันต้องบวกการก้าวไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเข้าไปด้วย ต้องปรับตัว ปรับบุคลากรในตลาดแรงงานให้ขึ้นกับการพัฒนาของประเทศ และธุรกิจที่จะสามารถแข่งขันได้"
รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวถึงนโยบายด้านการศึกษาในของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยว่า มีถึง 31 เรื่อง แต่ที่มุ่งเน้นจะเป็นนโยบายแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย และนโยบาย จบ ม.6 ภายใน 8 เดือน แต่นโยบายดังกล่าวยังไม่ได้ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ยังมีลักษณะรัฐมนตรีเป็นศูนย์กลาง ในส่วนนโยบายที่ดี ได้แก่ การให้ความสำคัญกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และการขจัดการไม่รู้หนังสือ
"ผลการศึกษาวิจัยของทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การศึกษาในระดับอาชีวะ มีความสามารถเรื่องสมรรถนะ ความรู้ ความเข้าใจในทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับที่เรียนมา มีทักษะในการใช้เครื่องมือ แต่ด้านภาษาอังกฤษไม่เอาอ่าว จิตวิทยาการพูด การสื่อสารไม่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ ในระดับมัธยม ความรู้ด้านภาษาไทย ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และความซื่อสัตย์สุจริต ถือว่าใช้ได้ แต่ทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศ และความคิดริเริ่มในสิ่งใหม่ๆ ยังไม่มี ทั้งนี้ สิ่งผู้ประกอบการให้ความสำคัญประการแรก คือ ตรงต่อเวลา" รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว และว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข คือ ลดช่องว่างทางความรู้ด้านคณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ และทักษะการจับใจความจากการฟัง รวมทั้งทบทวนด้วยว่า นโยบายที่เพิ่มเงินเดือนให้ครู เป็นการเพิ่มคุณภาพด้วยจริงหรือไม่ และหลักสูตรการศึกษาเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางจริงหรือไม่
วอนหยุดนำเรื่องการศึกษาของชาติ มาเล่นการเมือง
ขณะที่ดร.สุนทร กล่าวว่า ยุคที่ผ่านมานโยบายการศึกษาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล และรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลกระทบต่อการศึกษาในประเทศไทยมาก สมัยก่อนการศึกษาในประเทศไทยไม่แพ้ใครในแถบเอเชียอาคเนย์ และประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่มีรายได้สูงกว่าสิงคโปร์ แต่วันนี้เราแพ้ เราล้าหลังมาก เนื่องจากไม่ได้เน้นการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ
"ประเทศที่พัฒนามาก ทุ่มการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และจัดกระบวนการศึกษาพิเศษด้านนี้มาก ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศจีน วิธีการสอนในทุกระดับการศึกษา แตกต่างกับเราอย่างสิ้นเชิง เน้นสอนให้รู้จัดค้นคว้า และคิด มากกว่าการจำแล้วมาสอบ และไม่มีนักเรียนต้องไปเรียนพิเศษ นี่คือข้อแตกต่าง ที่สำคัญเขาพัฒนาครู ให้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ ไม่เป็นหนี้ อย่างประเทศเวียดนาม ครูมีเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ ฉะนั้น หากจะพัฒนาประเทศไทย ต้องพัฒนาครูให้มีคุณภาพ อย่าพัฒนาแค่จำนวน เร่งสร้างครูอาชีพ ไม่ใช่อาชีพครู ไม่ต้องมาลดหนี้ แจกของให้ครู แต่ควรเพิ่มทักษะในการสอนให้ครูมากกว่า"
ดร.สุนทร กล่าวต่อว่า การจะแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ ภาคธุรกิจจะต้องเติบโต ซึ่งต้องมาจากบุคลากรที่ดี และการศึกษาที่ดี ดังที่ได้ทุ่มงบประมาณด้านการศึกษาไปสูงกว่า 20% ของงบทั้งหมด ซึ่งสูงกว่างบของกระทรวงกลาโหม แต่การทุ่มต้องพิจารณาด้วยว่าทุ่มไปทางไหน ได้ผลหรือไม่ และมีการรั่วไหหรือไม่
"การศึกษาไทยต้องจัดเป็นระบบ ระบบที่รัฐบาลชุดไหนหรือนักการเมืองคนไหนจะมาแก้ไม่ได้ นักการเมืองไม่ควรนำเรื่องการศึกษาของชาติ มาเป็นเรื่องของการเมือง ทำการเมืองได้ แต่อย่าขายอนาคตการศึกษาของชาติ ด้วยการทำการเมืองเฉพาะหน้า เพราะนักการเมืองอยู่ได้อย่างมาก 4 ปี คนเป็น รัฐมนตรีจะโดนเปลี่ยนเมื่อใดไม่รู้ ดังนั้น อย่าเอาการศึกษาไปผูกไว้"
ด้านพระธรรมภาวนาวิกรม กล่าวว่า การศึกษาของชาติวันนี้ ถือว่า ล้มเหลว ต่างจากประเทศเวียดนาม และประเทศญี่ปุ่น ที่แม้จะมีสงคราม แต่ก็เน้นพัฒนาการศึกษาก่อน สิ่งที่น่าห่วงใยขณะนี้ คือ ภาษาไทย ที่เป็นภาษาเอกราช และเอกลักษณ์ของประเทศไทย เด็ก ป.6 หรือ กระทั่ง ม.3 บางส่วนตอบคำถามได้ แต่ไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยอย่างถูกต้องได้ แสดงให้เห็นว่ากระบวนการสอนล้มเหลว
"การปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็กวันนี้ขาดแคลนมาก การส่งสารและรับสารระหว่างครูและนักเรียนบกพร่อง ทั้งนี้ เพราะประเทศไทย ให้คำนิยาม การศึกษา ว่าเป็นการลงทุนชนิดหนึ่ง จึงทำให้การศึกษาประเทศไทย แม้ในจังหวัดเดียว แต่มีเกณฑ์มาตรฐานที่ต่างกัน เนื่องจากมีการลงทุนทางทรัพยากรไม่เท่ากัน" พระธรรมภาวนาวิกรม กล่าว และว่า การจะแก้ปัญหาไม่ว่าจะปฏิรูป หรือเปลี่ยนนโยบายก็ไม่สำคัญ หากไม่มีการติดตามประเมินผลที่ดี เรื่องการศึกษาของชาติไม่ควรฝากไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการเพียงกระทรวงเดียว ควรเชื่อมโยงกันทุกกระทรวง