ชาวบ้านร้องกสม.ผลกระทบเหมืองทุ่งคำ สช.พบสารอันตรายในเลือด
ชุมชนร้องกสม. ผลกระทบเหมืองทุ่งคำ-ถูกข่มขู่ สช.พบปรอท-ไซยาไนด์ในเลือดชาวบ้าน กพร.แจงชะลอประทานบัตรแล้วแต่ยังไม่สรุปสารพิษมาจากบริษัท นักวิชาการค้านร่างพรบ.แร่ลดขั้นตอน-เปิดช่องนายทุนใช้ป่าสมบูรณ์
วันที่ 4 ก.ย. 55 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มีการประชุมชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีราษฎรร้องเรียน การประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในพื้นที่ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง
นางสาวสมพร เพ็งค่ำ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาของ สช.โดยพบว่าราษฎรทั้ง 6 ชุมชนรอบพื้นที่เหมือง ได้แก่ บ้านห้วยผุก บ้านกกสะทอน บ้านนาหนองบง บ้านแก่งหิน บ้านโนนผาผุงพัฒนา และบ้านภูทับฟ้าพัฒนา ได้รับผลกระทบจากการรั่วซึมของสารพิษ โดยในปี51 ชาวบ้านรอบเหมืองแร่ทองคำเริ่มมีอาการผดผื่นคัน แสบตา แน่นหน้าอก และเสียงจากการระเบิดดังรบกวนจนต้องพึ่งยานอนหลับ ประสบปัญหาสุขภาพจิต ,ปี52 ชาวบ้านไม่สามารถใช้น้ำจากห้วยเหล็ก ห้วยผุก ประปาบาดาลบ้านนาหนองบงเหมือนที่ผ่านมา และในปี 53-54 พบว่า ปลาในลำห้วย ไก่ และสุนัขของชาวบ้านทยอยตายโดยไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้ผลการตรวจเลือดของประชาชน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ พบสารไซยาไนด์ ปรอทและตะกั่วในเลือดทั้งเกินและไมเกินค่ามาตรฐาน ขณะที่บางคนพบสารทั้ง 3 ชนิดในคนเดียว โดยมีความน่ากังวลอย่างมากหากชาวบ้านยังต้องหาอาหารจากแหล่งธรรมชาติ ซึ่งยังไม่หน่วยงานราชการเข้าไปฟื้นฟูและรักษาสุขภาพชาวบ้านอย่างจริงจัง
ขณะที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเลย เปิดเผยว่า ผลการสำรวจสารพิษในเลือดของชาวบ้าน 6 หมู่บ้านรอบเหมืองแร่ เมื่อเดือนมิ.ย.53 พบว่า จากการสุ่มตรวจชาวบ้าน 758 คน มี 50 คนพบสารปรอทในเลือดเกินค่ามาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 6.6 พบไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐาน คิดเป็นร้อยละ 17.1 โดยชาวบ้านที่มีค่าปรอทในเลือดสูงสุด คือ 1,700 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร(ค่ามาตรฐานคือ 35 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร )
ด้านกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ยืนยันว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ชะลอการขอประทานบัตรของบริษัทตามมติของครม.ไว้แล้ว อย่างไรก็ดียังไม่ได้ข้อสรุปว่าสาเหตุของการเกิดสารปนเปื้อนในพื้นที่มาจากการทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัทฯแน่ชัดหรือไม่ ทั้งนี้ได้สั่งการให้บริษัทฯหาสาเหตุและแก้ไขปัญหา โดยให้ตรวจสอบการรั่วซึมของคันเขื่อน พร้อมทั้งเสริมความแข็งแรงคันเขื่อนแล้ว
ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า ในรายงานการไต่สวนประกอบคำขอประทานบัตรบริษัท ทุ่งคำที่ระบุว่าไม่พบทางหลวงและทางน้ำสาธารณะในพื้นที่ประทานบัตรใหม่นั้นไม่เป็นความจริง แท้จริงแล้วในรัศมี 50 เมตรยังมีทางน้ำสาธารณะที่ช่วยบ้านใช้เพื่อการเกษตรด้วย โดยชาวบ้านมีความวิตกกังวลอย่างมากต่อการปนเปื้อนของสารพิษที่อาจส่งผลกระทบต่อสตรีมีครรภ์ คนชราและเด็ก นอกจากนี้แล้วการแก้ไขหลักเกณฑ์การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) และเกณฑ์ค่ามาตรฐานสารไซยาไนด์ของสำนักงานนโนบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.)ตามที่บริษัทฯร้องขอยังขาดการรับรู้จากชาวบ้าน
ขณะนี้ปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้น คือ ชาวบ้านรอบเหมืองแร่โดยเฉพาะในพื้นที่ขอประทานบัตรถูกข่มขู่คุกคาม อันเนื่องมาจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่บริษัททุ่งคำต้องทำเพื่อประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ(อีเอชเอไอ)ในการเสนอขอประทานบัตร โดยมีการจ้างวานมวลชนให้แสดงความคิดสนับสนุนโครงการของบริษัทฯด้วย จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลและระงับการขยายพื้นที่ดังกล่าว
ด้านนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. กล่าวว่า จากการพิจารณาแผนงานด้านมวลชนของบริษัททุ่งคำพบว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนของบริษัทเป็นไปในลักษณะสร้างความแตกแยกในพื้นที่ และมีเนื้อหาแสดงให้เห็นว่ามองชาวบ้านที่ออกมาปกป้องสิทธิของตนเป็นศัตรู โดยไม่เข้าใจการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยแท้จริง นอกจากนี้เมื่อดูจากรายชื่อของผู้ดูแลมวลชนในแผนงานแล้วพบว่าส่วนใหญ่มีชื่อเป็นกองกำลังทหารอีกด้วย จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องและอาจละเมิดสิทธิชุมชนตามหลักรัฐธรรมนูญ จึงขอให้กพร.และผส.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการขอประทานบัตรตรวจสอบและดูแล
ต่อประเด็นดังกล่าว กพร. ชี้แจงว่า ไม่ทราบข้อมูลในแผนงานด้านมวลชนของบริษัททุ่งคำมาก่อน เนื่องจากแผนงานดังกล่าวไม่มีคำสั่งให้ส่งมายังหน่วยงาน ขณะที่สผ.ระบุว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการ(คชก.)ในสผ.จะนำเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาประกอบการประเมินผลอีเอชเอไอต่อไป
นพ.นิรันดร์ กล่าวสรุปว่า กสม.เห็นควรให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งสรุปสาเหตุที่แน่ชัดของการปนเปื้อนของสารพิษในชุมชน ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 ก.พ. 2554 (ให้ชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัททุ่งคำ แปลงที่ 104/2538 จนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุสารปนเปื้อน)โดยด่วน ซึ่งขณะนี้มีหลักฐานจากทั้งกรมควบควมมลพิษและสช.ที่แน่ชัดแล้วว่ามีการแพร่กระจายของสารพิษที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากธรรมชาติ นอกจากนี้ กพร. ผส. และหน่วยราชการในจังหวัดที่เกี่ยวข้องต้องสอดส่องดูแลอย่าให้มีการคุกคามชาวบ้านจากการทำสำรวจความคิดเห็นประชาชน โดยกพร.ควรประสานความเข้าใจต่อกรณีดังกล่าวกับบริษัทให้ถูกต้อง มิเช่นนั้นควรระงับกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นไว้
โดยกระทรวงต่างๆได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรฯ และกระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดเลยต้องร่วมมือกันตรวจสอบและป้องกันการรั่วซึมของสารไซยาไนด์ให้สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐาน ทั้งนี้หน่วยงานต้องรายงานผลการศึกษาต่างๆ เช่น ผลการศึกษาด้านสุขภาพ ให้ประชาชนในพื้นที่รับรู้ รวมทั้งจัดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นในการแก้ปัญหาดังกล่าวด้วย
สำหรับขั้นตอนต่อไปกสม.จะรายงานผลประชุมเสนอไปยังอธิบดีกพร. และให้ทำหนังสือชี้แจงกลับมา พร้อมทั้งรายงานไปยังรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราถึงร่างพรบ.แร่ฉบับใหม่ของกพร.ว่า ขณะนี้เสร็จร่างพรบ.เสร็จเรียบร้อยแล้วโดยเตรียมนำเข้ากระทรวงกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาต่อไป ซึ่งนักวิชาการและภาคประชาชนมีข้อคัดค้านในประเด็นหลัก เช่น การลดขั้นตอนและระยะเวลาของการขอประทานบัตรทำเหมืองทองและการเปิดช่องทางการอนุญาตให้นายทุนเข้าไปทำเหมืองแรงในเขตป่าสมบูรณ์ได้
ที่มาภาพ :: http://prachatai.com/journal/2010/12/32161