เปรียบทดสอบระบายน้ำ เหมือนซ้อมหนีไฟ โดยไม่จุดไฟจริง
คณะทำงานฯ เผยขีดความสามารถคลองจริงระบายได้มากกว่า 10 เท่า ชี้ทดสอบทางคอมพิวเตอร์ ซิมูเลชั่นอย่างเดียวไม่พอ ลั่นเตรียม จนท.-เครื่องเซ็นเซอร์พร้อม มั่นใจไม่มีอันตราย
นายสุทัศน์ วีสกุล นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ปรึกษาคณะทำงานทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ(ครม.ได้แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมี ผศ.ดร.รอยล จิตรดอน เป็นประธานคณะทำงาน) กล่าวกับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ถึงการที่รัฐบาลเตรียมจะทดสอบการระบายน้ำใน กทม.ในวันที่ 5 และ 7 ก.ย.นี้ ว่า เป็นการทดสอบทางเทคนิคว่าประสิทธิภาพการระบายน้ำเทียบกับปีก่อนดีขึ้นหรือไม่ หากดีขึ้นคนใน กทม.และสำนักระบายน้ำก็จะอุ่นใจได้ว่าดำเนินการมาถูกทางแล้ว
ที่ปรึกษาคณะทำงานฯ กล่าวว่า การทดสอบเรื่องการระบายน้ำไม่สามารถทดสอบทางทฤษฎีในระบบคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวได้ เนื่องจากต้องดูสภาพจริง เช่น การกีดขวางทางไหลในคลอง เพื่อจะได้วางแผนและประสานกับกองทัพเรือและสำนักระบายน้ำได้ ทั้งนี้ จะไม่ปล่อยให้น้ำท่วมกรุงเทพฯ อย่างแน่นอน
"การดำเนินงานขุดลอก ซ่อมแซมและปรับปรุงคันระบายน้ำที่ผ่านมาเป็นแนวคิดที่น่าจะถูก แต่ก็ต้องประเมินว่า ในทางปฏิบัติจริงสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายได้เท่าไหร่ เพราะอุปสรรคของคลองในกรุงเทพฯ ไม่เหมือนคลองที่อื่นๆ เนื่องจากมีการรุกล้ำมาก จึงมีความจำเป็นต้องทดสอบจริง"
เมื่อถามว่าได้มีการทดสอบทางทฤษฎีโดยการทำแบบจำลองก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ นายสุทัศน์ กล่าวว่า เป็นความรับผิดชอบของทาง กทม.ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ แต่เนื่องจาก กทม.มีคลองจำนวนมาก ก็น่าจะมีแบบจำลองไว้แล้ว ทาง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และการเกษตร (สสนก.) ก็มีการจัดทำแบบจำลองเช่นกัน แต่เป็นเฉพาะพื้นที่นอกเขต กทม.
"การทดสอบซิมูเลเตอร์ หรือแบบจำลองในทางทฤษฎีอย่างเดียวไม่เพียงพออย่างแน่นอน เราต้องการนำผลที่วัดได้ เช่น ความเร็วระดับน้ำ ไปใส่ในคอมพิวเตอร์ เพื่อปรับให้ระบบใช้งานได้ถูกต้อง แม่นยำขึ้น แต่แนวคิดดังกล่าวนี้ยังไม่เกิดขึ้น"
นายสุทัศน์ กล่าวถึงการทดสอบการระบายน้ำ ก่อนวันที่ 5 และ 7 ซึ่งเป็นวันก่อนจะทดสอบจริง ในวันที่ 4 และ 6 จะมีการซ้อมการทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกตามลำดับ โดยในวันทดสอบจริง จะมีเจ้าหน้าที่จากสำนักการระบายน้ำ ไปประจำจุดที่จะปล่อยน้ำ เพี่อตรวจสอบปริมาณและระดับน้ำ เช่น ฝั่งตะวันตกในพื้นที่ปากคลองทวีวัฒนา คลองทวีวัฒนา-ภาษีเจริญ และคลองทวีวัฒนา-เพชรเกษม ฝั่งตะวันออก คลอง 2 คลองบางบัวและคลองลาดพร้าว ที่จะแยกไปยัง คลองบางเขน คลองเปรมประชากร ซึ่งทาง สสนก.จะหนุนทางเทคนิค และนำข้อมูลความเร็ว อัตราการไหลและกระแสน้ำ มาประเมินทำรายงาน
"เจ้าหน้าที่ประจำจุดจะเฝ้าติดตามระดับน้ำไม่ให้เกินจนประชาชนมีปัญหา และมีวิทยุส่งข้อมูล โทรเช็ค ตรวจสอบได้ตลอดเวลา โดยก่อนหน้าที่ทางเขตทวีวัฒนาและเขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ได้เตรียมการระบายน้ำ และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ส่วนสถานการณ์ฝน หากในวันทดสอบมีฝนตกเกิน 30 มิลลิเมตร/ชั่วโมง ก็จะหยุดระบายทันที ทางเทคนิคต้องดูระดับน้ำให้สอดคล้องกัน แต่ขณะนี้มีตัวเลขคร่าวๆ เป็นเกณฑ์ไว้แล้วทุกพื้นที่ ทั้งนี้ กรมชลประทาน และทหารเรือได้ติดตั้งเครื่องเซนเซอร์วัดระดับน้ำ อัตราการไหลและวัดความเร็วกระแสน้ำในแต่ละพื้นที่ด้วย"
ซ้อมระบายน้ำเหมือนซักซ้อมการหนีไฟ
ขณะที่ น.อ.ดร.สมัย ใจอินทร์ ที่ปรึกษาคณะทำงานทดสอบประสิทธิภาพการระบายน้ำในพื้นที่ปลายน้ำ โพสต์ข้อความในเฟชบุค ถึงกรณีการทดสอบระบายน้ำด้วยว่า การทดสอบ Computer Simulation นั้นเป็นส่วนหนึ่ง แต่ระบบปั๊มต้องทดสอบเดินเครื่องว่า คลองทั้งหมดมีขีดความสามารถในการระบายมากกว่าที่จะทดลองเป็นสิบเท่า
" วันที่ 5 นี้ก็จะเพียงทดสอบระบบ ไม่มีทางท่วมแน่นอน แต่ถ้ารอไปจนน้ำหลากมาถึง วันนั้นจะไม่มีโอกาสทดสอบเลย ปกติระบบงานช่างต้องทำแบบนี้"
น.อ.ดร.สมัย เปรียบเทียบการทดสอบระบายน้ำเหมือนการซักซ้อมการหนีไฟ หากเราไม่มีการทดสอบ หรือฝึกระบบที่มีคนจำนวนมากเกี่ยวข้อง ในเวลาฉุกเฉินจะโกลาหล ทำอะไรไม่เป็น
"การทดสอบระบบระบายน้ำก่อนเหตุการณ์จริงเป็นเรื่องปกติของเทคนิคทางวิศวกรรม เหมือนกับการซ้อมหนีไฟที่เราเคลื่อนย้ายคนโดยไม่จุดไฟจริง ส่วนน้ำเราจะเคลื่อนย้ายน้ำโดยไม่ให้ท่วม จะได้รู้ขั้นตอน จุดคอขวด หรือสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการไหลของน้ำ จุดไหนที่เป็นคอขวดน้ำไหลไม่สะดวกเพราะสะพาน หรือ คลองแคบและตื้นเขิน จะใช้เรือผลักดันน้ำและระบบผลักดันน้ำให้มีความเร็วสูงขึ้นเพื่อรักษาอัตราการไหลให้คงเดิม"
น.อ.ดร.สมัย กล่าวถึงแผนในการผลักดันน้ำเข้าระบบด้วยว่า จะผลักดันน้ำประมาณ 6-7 ลบ.ม./วินาที ระบบสูบน้ำของอุโมงค์ยักษ์ออกแบบไว้ที่ 60 ลบ.ม./วินาที ไม่มีทางที่น้ำจะท่วมได้ เพราะอัตราการระบายเต็มที่มีถึง 10 เท่า แม่น้ำเจ้าพระยาและทะเลอ่าวไทยช่วงนี้เป็นช่วงน้ำตาย ระดับน้ำลงต่ำสุดแล้ว ส่วนอุโมงค์ยักษ์ออกแบบไว้ที่ 60 ลบม.ต่อวินาที 10 เท่าของการไหลในคลองลาดพร้าว
"ทางน้ำเดิมในการระบายคือคลองแนวตั้งและแนวขวางที่ขุดกันไว้ตั้งแต่สมัยอยุธยาและตอนต้นรัตนโกสินทร์ พอเมืองขยายก็มีแต่การถมคลองทำถนน ส่วนใหญ่ก็ระบายผ่านลำน้ำสายหลัก น้ำหลากมากขึ้นก็เป็นคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตผ่านคลองด่าน ในยุคก่อนจะมีการไหลผ่านที่ลุ่มต่ำธรรมชาติที่เรียกว่า ฟลัดเวย์ตะวันออก เดี๋ยวนี้กลายเป็นบ้านจัดสรรราคาแพง นิคมอุตสาหกรรมสำคัญ รวมไปถึงการสร้างถนนขวางทางน้ำจนไม่มีที่ไป แต่ระบบที่วางไว้ถ้าสามารถใช้เต็มประสิทธิภาพ และ พ่อเมืองทุกเมืองที่สร้างขวางทางน้ำให้ความร่วมมือ ก็จะพอระบายน้ำได้ทัน"
คลิ๊กอ่าน : คู่มือซ้อมการระบายน้ำ พื้นที่ปลายน้ำ ฝั่งตะวันตก-ฝั่งตะวันออก ของ กทม. ฉบับเต็ม