วุฒิฯพิจารณร่างงบฯ 56 หวั่นขาดดุล 3 แสนล้าน-งบน้ำ-ประชานิยม คนไทยแบกหนี้อ่วม
ประชุมวุฒิฯ พิจารณาร่างงบฯ สว.หวั่นงบน้ำ 3.5 แสนล้านตรวจสอบยาก ห่วงประชานิยมผ่าน ธกส. 6.9 หมื่นล้าน งบขาดดุล 3 แสนล้านคนไทยแบกหนี้อ่วม คลังแจงปี 59 จัดงบสมดุลปลดหนี้สาธารณะ
วันที่ 3 ก.ย.55 ที่รัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุมวุฒิสภา ซึ่งมีการพิจารณาเรื่องด่วนคือร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ซึ่งวุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่สภาผู้แทนราษฎเห็นชอบแล้ววันที่ 20 ส.ค. โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมตตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วม
ม.ล.ปรียาพรรณ ศรีธวัช ส.ว.สรรหา ตัวแทนคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญและการบริหารงบประมาณ อภิปรายว่าในปี 2556 รัฐบาลประมาณการรายได้สุทธิ 2.11 ล้านล้านบาทหรือร้อยละ 16.7 ของจีดีพี ทั้งนี้เมื่อมาหักลบกับงบประมาณฯปี 2556 ที่อยู่ 2.4 ล้านล้านบาท แล้วจะเป็นงบฯขาดดุล 3 แสนล้านบาท กังวลว่าหากรัฐบาลขาดการจัดการที่ดีอาจกลายเป็นหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น
และยังพบว่ากรณีที่รัฐบาลจัดสรรเงินช่วยเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 6.9 หมื่นล้านบาท ทำให้ต้องแบกรับภาระการขาดทุนปีละ 1 แสนล้านบาท แม้เป็นมาตรการที่จำเป็น แต่รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายให้รอบคอบเพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นภาระกับการบริหารงบประมาณรัฐบาลในปีต่อๆไป และกลายเป็นหนี้ผูกพันที่รัฐบาลต้องหาเงินมาใช้หนี้ในอนาคต
ม.ล.ปรียาพรรณ ยังกล่าวว่างบประมาณลงทุนป้องกันอุทกภัยจากการกู้ 3.5 แสนล้านบาทไม่มีการแสดงรายละเอียดต่อรัฐสภา ดังนั้นหากรัฐบาลบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพจะไม่เกิดประโยชน์กับประเทศ ซ้ำยังจะกลายเป็นหนี้สาธารณะที่ประชาชนทุกคนต้องแบกรับ โดยรัฐบาลต้องกันเงินส่วนหนึ่งเพื่อนำไปชำระหนี้ดังกล่าวทุกปีส่งผลกระทบต่อการพัฒนา ทั้งนี้ในเดือน พ.ค. 55 รัฐบาลมีหนี้สาธารณะคงค้าง 3.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 1.7ล้านล้านบาท และเพิ่มเรื่อยๆแต่ละเดือน ทั้งนี้รัฐบาลควรวางแผนบริหารงบประมาณอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้แบกรับภาระหนี้เกินกำลัง และป้องกันไม่ให้ประเทศเจอปัญหาเศรษฐกิจเพราหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น .
ด้านนายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา และกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิฯ) อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณในส่วนของรัฐสภา 8.5 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา 1,497,959,100 บาท สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 6,658,982,900 และสถาบันพระปกเกล้า 396,426,400 บาท โดยตั้งข้อสังเกตถึงการตั้งสำนักงานรัฐสภาประจำจังหวัด 6 แห่ง 18 ล้านบาท ซึ่งมีภารกิจงานซ้ำซ้อนกับหน่วยงานที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ประชาธิปไตย ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม การรับเรื่องราวร้องทุกข์ ดังนั้นจึงอยากให้ทบทวนโครงการดังกล่าว เพราะงบดังกล่าวแค่เป็นโครงการนำร่องหากกระจายทั่วประเทศจะต้องใช้งบถึง 100-1000 ล้านบาท
นอกจากนี้การตั้งงบประมาณรายการเดียวกันที่สภาผู้แทนราษฎรขอไปได้รับการอนุมัติ ขณะที่วุฒิสภากลับถูกตัดงบฯกว่า 28 ล้านบาท ไมรู้ว่าใช้หลักการใดพิจารณา ขนาดวุฒิสภายังไม่ได้รับความเป็นธรรมแล้วประชาชนจะหาความยุติธรรมได้อย่างไร ประธานวุฒิสภา
นายทนุศักดิ์ ได้ชี้แจงโดยยืนยันว่ารัฐบาลมีแผนงานทำให้เกิดความสมดุลเรื่องงบประมาณ โดยในปี 2556 ที่จัดสรรงบแบบขาดดุล 3 แสนล้านบาทโดยปีต่อๆไปจะลดการขาดดุลลงปีละ 1 แสนล้านบาท โดยตั้งเป้าว่าจะมีการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลได้ในปี 2559 ซึ่งจะทำให้ขาดจากการเป็นหนี้สินในปีเดียว นอกจากนั้นแล้วรัฐบาลมีการใช้จ่ายงบประมาณด้วยความระมัดระวัง อย่างไรก็ตามขณะมีร่าง พ.ร.บ. ให้เอกชนมีส่วนร่วมในโครงการลงทุนภาครัฐ (พีพีพี) ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กมธ.วิสามัญฯ โดยคาดว่าอีก 2 สัปดาห์จะพิจารณาเสร็จ เพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน .
:: ขอบคุณภาพประกอบจาก http://www.mcot9725.com