คลังดันมาตรการช่วยเอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน 3 ล้านราย ชี้สัดส่วนจ้างงานถึง 90%
คลังวางแผนออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรอบใหม่ เสริมแกร่งด้านการแข่งขันสู่ AEC หลังพบเอสเอ็มอีทั่วประเทศกว่า 3 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการห้องแถวและวิสาหกิจชุมชนเกือบ 2.7 แสนราย อีก 3 แสนรายเป็นเอสเอ็มอีตัวจริง พร้อมหนุนกองทุนหมู่บ้านและออมสินลุยสินเชื่อรายย่อย
ปลัดคลังเผยเตรียมมาตรการการเงินอุ้มเอสเอ็มอี-วิสาหกิจชุมชน 3 ล้านรายโดยตรง หลังพบตัวเลขจ้างงานสูงถึง 90% กว่า 2.7 ล้านรายเป็นห้องแถว-วิสาหกิจชุมชน ชงกองทุนหมู่บ้าน-ธ.ออมสินปล่อยกู้
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) ว่าในอนาคตจะพุ่งไปที่เอสเอ็มอีที่มีขนาดเล็ก เช่น ธุรกิจห้องแถวและวิสาหกิจชุมชนที่มีมากกว่า 2.7 ล้านราย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 58
ทั้งนี้ที่ผ่านมากระทรวงการคลังมักผลักดันให้ธนาคารเฉพาะกิจออกมาตรการช่วยเหลือแต่ไม่ได้ผล ทำให้เอสเอ็มอีไทยไม่ประสบความสำเร็จ จึงสั่งรวบรวมข้อมูลเทียบกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม 4 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจ คือ สิ่งทอ ยางพารา รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ พบว่าสิ่งทอแม้สัดส่วนส่งออกไม่มาก แต่การจ้างงานมากสุด นายกรัฐมนตรีจึงเป็นห่วงแรงงานจะตกงานมากขึ้น กระทรวงการคลังจึงรือภาคเอกชนและสถาบันการเงินว่าเอสเอ็มอีต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เพราะมีอัตราจ้างงานมากที่สุด
“โครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งต้องมีสัดส่วนเอสเอ็มอีใกล้เคียงกับภาคผลิตภาพต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายประเทศ(จีดีพี) คือทุกวันนี้เศรษฐกิจไทยที่เติบโตได้ประมาณ 5% ของจีดีพีมาจากภาคการเกษตร อุตสาหกรรม บริการขนาดใหญ่ เช่น การเงิน การท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละภาคธุรกิจยังแบ่งย่อยเป็นขนาดเล็กๆกระจายทั่วประเทศ คือโรงงานห้องแถว และเกษตรกรรายย่อย ฯลฯ”
ปลัดกระทรวงการคลัง ยังกล่าวว่าถ้านับบริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีเพียงประมาณ 500 บริษัท มีการจ้างงานแค่ส่วนเดียว ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีถึง 3 ล้านรายทั่วประเทศซึ่งปัจจุบันจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลไม่ถึง 300,000 ราย ที่เหลือกว่า 2.7 ล้านรายเป็นผู้ประกอบการประเภทบุคคล เช่น ร้านขายก๋วยเตี๋ยว หาบเร่แผงลอย ธุรกิจห้องแถว โรงกลึง อีกประมาณ 70,000 รายเป็นวิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้ผลผลิตที่สร้างจีดีพีให้ประเทศไทยทุกวันนี้มาจากบริษัทขนาดใหญ่ถึง 63% มีเพียงประมาณ 37% จากธุรกิจเอสเอ็มอี แต่เอสเอ็มอีมีการจ้างแรงงานสูงถึง 80-90% ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ โครงสร้างผลผลิตเช่นนี้เองทำให้ที่ผ่านมาไม่สามารถยกระดับเอสเอ็มอีให้มีขนาดใหญ่ได้ จำเป็นต้องออกมาตรการใหม่มุ่งเน้นเพิ่มผลผลิตผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีสัดส่วน 50% เท่าผู้ประกอบการรายใหญ่
“พูดถึงเอสเอ็มอีก็จะบอกว่าเป็นบริษัทที่มีผลผลิตขนาดเล็กจะให้สถาบันการเงินเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อ แต่เป็นเอสเอ็มอีจริงมีเพียง 300,000 ราย ที่เหลือคือกลุ่มที่สถาบันการเงินเข้าไปไม่ถึงเช่นวิสาหกิจชุมชนก็ต้องใช้เครื่องมือกองทุนหมู่บ้าน หรือสถาบันการเงินชุมชนของธนาคารออมสิน” .
:: ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต