ดร.อานนท์ ยันจำเป็นซ้อมระบายน้ำหาจุดบอด 5 และ 7 ก.ย.นี้
'สุพจน์'เผยทดสอบระบายน้ำตามระบบปกติ เพื่อประเมินงบลงทุน-การทำงานกทม. ชี้น้ำมีน้อย อัตราการไหลไม่สูง ด้านอานนท์ คาด สสนก.มีโมเดลทางทฤษฎีแล้ว มั่นใจไม่ปล่อยท่วมแน่
เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาการเลขาธิการสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) กล่าวกับศูนย์ข่าวสารนโยบายสาธารณะ สำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีที่มีข้อกังวลและห่วงใยต่อการที่รัฐบาลเตรียมจะทดสอบการระบายน้ำใน กทม.ในวันที่ 5 และ 7 ก.ย.นี้ ว่า เป็นการระบายน้ำตามปกติที่ระบายจากเขื่อนอยู่แล้ว แต่เดิมยังไม่ได้ทำคันกั้นหรือขุดลอกคูคลอง แต่เมื่อระบบพร้อมก็ต้องมีการทดสอบระบบโดยใช้การระบายตามปกติ
"ที่เพิ่มจากเดิมมีเพียงการตรวจสอบเป็นจุดๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ประจำแต่ละจุด เพื่อประเมินว่าหากระบายน้ำแล้วจุดใดน้ำล้นหรือไม่ เนื่องจากบางจุดอาจมีคอขอดที่ทำให้น้ำล้นทุกปี แต่ปริมาณการระบายเป็นไปตามการระบายปกติ อัตราการไหลไม่สูงมาก เพราะตอนนี้น้ำน้อยมาก น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา โซนจังหวัดนครสวรรค์ ไหลประมาณ 600-700 ลบ.ม./วินาที ขณะที่ความสามารถที่รับได้ไม่ล้นตลิ่ง เกือบ 3,500 ลบ.ม./วินาที โดยจะระบายตั้งแต่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ไล่ลงมาตามปกติ จุดใดที่ล้นหรือท่วมเป็นฟันหลอก็จะไม่ท่วม"
นายสุพจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนการเชื่อมโยงระบบระบายน้ำที่ กทม.มีอุโมงค์ มีปั๊มอยู่แล้วนั้น ที่ทำเพิ่ม คือ ขุดลอกคูคลอง และติดตั้งปั๊มเพิ่ม และขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะอธิบายให้ประชาชนทราบเป็นจุดๆ ว่าน้ำจะไหลไปตามคลองใดบ้างหรือไม่ หรือจะอธิบายอย่างไร แต่มั่นใจได้ว่า ไม่มีอันตราย และประชาชนไม่ต้องเตรียมตัวอะไร เพราะเป็นเรื่องของเทคนิค เป็นการระบายน้ำตามระบบปกติ
"ภายหลังเสร็จสิ้นการทดสอบ จะทำการสรุปผล เพื่อให้ทราบว่าเงินงบประมาณที่ลงทุนไปเป็นหมื่นล้านคุ้มค่าใช้ได้หรือไม่ รวมทั้งเป็นการตรวจสอบระบบการดำเนินงานของ กทม.ด้วย อีกทั้ง จะได้รู้ว่าเมื่อขุดลอกคูคลองแล้วอัตราการไหลของน้ำเพิ่มขึ้นหรือไม่ เท่าใด"
ขณะที่ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยี อวกาศ และภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) กล่าวถึงการทดสอบระบบการระบายน้ำ เป็นการประเมินผลการทำงาน จากที่มีการรายงานว่า ได้ขุดลอกคูคลองไปแล้ว 1,500 กิโลเมตร แต่บางทีขุดลอกไปแล้ว อาจมีจุดคอขอดอยู่จุดเดียว ที่ขุดมาแล้วก็เสียเปล่า จึงมีความจำเป็นต้องทดสอบหาจุดบอด ซึ่งน้ำที่จะใช้ทดสอบการระบายจะมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีการระบายเป็นปกติอยู่แล้ว โดยอาจบังคับให้เพิ่มขึ้น เช่น ปรับที่เขื่อนชัยนาทให้เกินเจ้าพระยา แล้วผันไปตามคลองสายหลักๆ ที่สำคัญ เช่น คลองพระพิมล เพื่อทดสอบอัตราการไหลของน้ำว่าเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่ แต่ไม่ได้ปล่อยให้ท่วมแน่นอน
"หลักการในการทดสอบจะพิจารณาทั้งความเร็วและระดับน้ำ ในแต่ละจุดจะมีโมเดลแบบจำลองที่ทำไว้ก่อนแล้ว เช่น คลองทวีวัฒนา ระหว่างจุดตัดกับถนนทางไปมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปล่อยน้ำเข้ามาตามที่กำหนด ควรจะไหลเท่าใดในทางทฤษฎี แต่ถ้าไหลสูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นแสดงว่าต้องมีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็จะสามารถไปแก้เป็นจุดๆ ได้" ดร.อานนท์ กล่าว และว่า เชื่อว่าทาง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) จะจัดทำแบบจำลองทิศทางและจุดที่ไหลของน้ำไว้แล้ว ว่าจะผ่านไปยังคลองใดบ้าง เช่น ผันเข้าคลองรังสิตมาลงคลอง 2 คลองลาดพร้าว และระบายต่อไปตามระบบใยแมงมุม
"สสนก.น่าจะมีข้อมูลแล้วในทางทฤษฎีแล้วว่าในแต่ละจุดน้ำจะไหลในอัตราเท่าใด ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะอัตราการปล่อยน้อยมาก การขยับตัวเพียง 10-20 ซม.ระบบเซ็นเซอร์จับได้ เห็นตลอด ไม่ถึงขนาดล้นตลิ่งแน่นอน"