นโยบายขึ้นค่าแรง 300 บ. นักวิชาการด้านแรงงาน ชี้ทำไม่ถูกเวลา
กรรมการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร ประเมินนโยบายค่าจ้าง 300 บาท รัฐบาลทำในจังหวะที่ไม่ค่อยสวย ย้ำดูตัวเงิน ขึ้นจริง แต่ค่าครองชีพกลับสูงกว่า จนกลายเป็นนโยบายที่ไม่มีประโยชน์
หลังจากที่กระทรวงแรงงาน โดยนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงผลงานในรอบ 1 ปีไปแล้ว โดยระบุว่า มีผลงานที่สามารถตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาล คือ การเพิ่มค่าจ้าง 40% ทั่วประเทศ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงาน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 เมษายน 2555 มีผลใน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต รับค่าจ้าง 300 บาท และอีก 70 จังหวัด รับค่าจ้าง 300 บาท ตั้งแต่ 1 มกราคม 2556 อีกทั้งยังได้มีมาตรการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของสถานประกอบการและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทแล้ว
นายโกวิทย์ บุรพธานินทร์ นักวิชาการด้านแรงงาน และกรรมการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายนี้ของรัฐบาล ที่ขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ วันละ 300 บาท ปรับทีเดียว 40% นั้น ทำให้เกิดอาการช็อค รวมทั้งเมื่อสถานประกอบขนาดเล็กยากจะปรับตัว จาก 241 บาท เป็น 300 บาท ทำให้บางแห่งถึงขั้นปิดกิจการ ซึ่งหากไม่ทำเช่นนั้น ก็ต้องไปตัดเรื่องสวัสดิการ จะยิ่งไปขัดกับกฎหมายเข้าไปอีก
นายโกวิทย์ กล่าวว่า นโยบายค่าจ้าง 300 บาท รัฐบาลทำนโยบายนี้ในจังหวะที่ไม่ค่อยสวย ซึ่งหากดูตัวเงิน แม้จะขึ้นจริง แต่ค่าครองชีพกลับสูงกว่า ทำให้ต้นทุนสินค้าตัวอื่นสูงขึ้นตามด้วย ดังนั้นนโยบายนี้จึงไม่มีประโยชน์
"ค่าแรง 300 บาท ที่ต้องเริ่มทำใน 7 จังหวัดนำร่อง ก็เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีทางเลือก ผมจึงมองว่า การขึ้นค่าแรงครั้งนี้เป็นเรื่องการเมืองไปหน่อย ซึ่งแท้จริงแล้ว ควรค่อยๆ ปรับ โดยมีการตั้งเป้าเอาไว้ ไม่ใช่ขึ้นทีเดียว 40% และยิ่งนโยบายค่าแรง ไปเน้นค่าจ้าง จึงเป็นโยบายการเมืองที่ไม่ถูกกับเวลา" นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าว พร้อมกับตั้งคำถามว่า เรื่องกฎหมายประกันสังคม ทำไมรัฐบาลไม่ทำ
ทั้งนี้ กรรมการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร กล่าวด้วยว่า คุณภาพชีวิตแรงงานจะดีขึ้น รัฐบาลต้องผลักดันเรื่อง "นโยบายสังคม" ให้มากกว่าเดิม แม้รัฐบาลจะพยายามทำเรื่อง 30 บาท รักษาทุกโรค รถเมล์ฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ อยู่แล้ว แต่ก็ควรถมเข้าไปอีก หลีกเลี่ยงทำนโยบายประชานิยม
"ผมอยากให้รัฐบาลทำนโยบายที่ยั่งยืน ให้ผู้ใช้แรงงานเข้ามามีส่วนรวม เช่น รัฐบาลออกเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมให้มากกว่านี้ได้หรือไม่ หรือทำนโยบายให้ผู้ใช้แรงงานสามารถลดหย่อนภาษีได้มากกว่านี้ได้หรือไม่ เพื่อได้มีเงินออมมากขึ้น เชื่อมั่นว่า คุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานจะดีขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็น นักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 27 แห่ง จำนวน 70 คน เรื่อง "นโยบายประชานิยมส่งผลดีหรือเสียต่อประเทศไทย" โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 21 - 28 ส.ค. โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้ประเมินนโยบายประชานิยมของรัฐบาลชุดปัจจุบัน 50% บอกว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็นโครงการที่ดี แต่ใช้วิธีดำเนินโครงการที่ไม่ถูกต้อง