โครงการพระราชดำริ ปิดทองหลังพระฯ เร่งแก้ปัญหาคนกับป่า บ้านโป่งลึก-บางกลอย
มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ดึงหน่วยงานร่วมแก้ด่วนปัญหาทำกินชาวกระหร่างบ้านโป่งลึก-บางกลอยพื้นที่แก่งกระจาน อุทยานฯแก้ต่างชาวบ้านไม่เคยทำลายป่า วอนสำรวจจำนวนประชากรให้ชัดหวั่นสวมรอย
วันที่ 31 ส.ค. 55 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จัดประชุมการรับความก้าวหน้าการดำเนินงาน แผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ ประยุกต์ตามพระราชดำริ และให้ข้อคิดเห็นเรื่องทางออกในการจัดการพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย แบบบูรณาการ โดยมี ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เป็นประธาน ณ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุม มีตัวแทนหน่วยงานกว่า 19 หน่วยงานเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น อาทิ นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย, นายสุรพล ปัตตานี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, นายวิจักร อากัปกริยา ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, พล.ต.ภานุวัชร นาควงษ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9, นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี, นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน, นายจอนิ โอโอเชา ประธานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย และตัวแทนชาวกะหร่างบ้านโป่งลึก-บางกลอย เกือบ 20 คน
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวว่า ขณะนี้ชาวกระหร่างบ้านโป่งลึก-บางกลอยกว่า 1 พันคน กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและอาหารในการดำรงชีพ เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่สูงกว่าต้นแม่น้ำเพชรบุรีเกือบ 10 เมตรทำให้ประสบความลำบากในใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ตลอดจนขาดแคลนอาหารในการดำรงชีพ ดังนั้นมูลนิธิปิดทองหลังพระฯจึงจะเข้าไปเป็นหน่วยงานกลางระหว่างภาคส่วนต่างๆในการประสานความช่วยเหลือไปยังหมู่บ้านและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยที่ผ่านมาได้มีการขึ้นไปสำรวจและศึกษาปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวมาระยะหนึ่งแล้ว
สำหรับแนวทางการช่วยเหลือในระยะแรกและเร่งด่วนนั้น ได้แก่ การสร้างระบบท่อส่งน้ำจากลำห้วยบางยายโป่งซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านขึ้นไป 14 กิโลเมตร กระจายมายังทุกครัวเรือนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ, จัดตั้งกองทุนข้าวเพื่อให้ชาวบ้านยืมข้าวกิน เมื่อมีรายได้จากการขายผลผลิตแล้วจึงทยอยจ่ายเงินคืน โดยจัดตั้งคณะกรรมการในชุมชนขึ้นมาดูแล, สนับสนุนการปลูกพืชสวนครัวระยะสั้นเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร
อย่างไรก็ดีต้องอาศัยความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ อาทิ กองทัพบกในการขนส่งลำเลียงข้าวขึ้นไปยังหมู่บ้าน, กระทรวงเกษตรฯ และสำนักงานเกษตรจังหวัดในการส่งเสริมเมล็ดพันธุ์และการเพาะปลูก, ส่วนราชการจังหวัดเพชรบุรีและอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการผลักดันการดำเนินงาน และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องด้วย
ด้านผู้ว่าราชการจ.เพชรบุรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาจังหวัดเพชรบุรีร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้ดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยมาบางส่วนแล้ว อาทิ การจัดทำฟาร์มตัวอย่าง การก่อสะพานคนเดินข้ามแม่น้ำเพชรบุรีระหว่างสองหมู่บ้านการแก้ปัญหาโรคมาลาเรีย และการจัดหาที่ดินทำกิน 2 ไร่ต่อครัวเรือน โดยแผนงานต่อไปในระยะยาวจะพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวบ้านตามแนวพระราชดำริใน 6 มิติ คือ น้ำ เกษตร ดิน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต และความมั่นคง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงท้ายของการประชุมหน่วยงานต่างๆได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นต่อแผนการดำเนินงาน โดยทุกหน่วยงานและตัวแทนชาวบ้านมีมติเห็นชอบในการให้ความร่วมมือกับแนวทางของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ อย่างไรก็ดีนายพระนาย ได้แสดงความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวต้องอาศัยความร่วมมือของทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เพียงแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งจึงจะสำเร็จอย่างยั่งยืนได้
ด้านพล.ต.ภานุวัตร กล่าวว่า กองทัพบกยินดีให้การอำนวยความสะดวกทุกด้านเพราะการช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยเกี่ยวพันกับความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ดียังมีความไม่มั่นใจต่อความสำเร็จของโครงการเนื่องจากความสำเร็จส่วนหนึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านด้วย
ขณะที่นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า อุทยานฯพร้อมให้ความร่วมมือต่อแผนการพัฒนาดังกล่าว อย่างไรก็ดีขอเน้นย้ำว่าชาวบ้านทั้ง 2 หมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์ที่สร้างความเดือดร้อนบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่อุทยานฯ และขอให้มีการสำรวจเรื่องจำนวนประชากรในหมู่บ้านให้แน่ชัด เนื่องจากที่ผ่านมาตัวเลขการสำรวจประชากรแต่ละครั้งของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน เพราะมีการเคลื่อนย้ายคนนอกจากชายแดนพม่าไปมายังหมู่บ้านเสมอ ทั้งนี้เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวน ซึ่งการดำเนินการของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯจะอยู่ภายใต้ มาตรา 19 ของพรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
ม.ร.ว.ดิศนัดดา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับขั้นตอนต่อไปมูลนิธิปิดทองหลังพระฯจะนำแนวทางการพัฒนาเข้าไปขอความเห็นชอบจากชาวบ้านในพื้นที่เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือทันที
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยเป็นกรณีศึกษาที่น่าติดตามเรื่องหนึ่งจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่รัฐ โดยที่ผ่านมามีตัวแทนชาวกะเหรี่ยงและตัวแทนภาคประชาชนฟ้องร้องอุทยานฯกรณีไล่เผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านเป็นระยะ สำหรับความคืบหน้าล่าสุด(24ส.ค.55)มีตัวแทนชาวบ้านแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวนหนึ่ง เข้ายื่นหนังสือกล่าวโทษหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยนำเอกสารสำเนาภาพข่าวการรื้อ ทำลายและเผาบ้านเรือนชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ยื่นต่อพ.ต.อ.ปิยะ สุขประเสริฐ รองผบก.จ.เพชรบุรี อย่างไรก็ดีในเบื้องต้นนายชัยวัฒน์ได้ปฏิเสธกับผู้สื่อข่าวต่อกรณีดังกล่าวว่า การเผา รื้อถอนของเจ้าหน้าที่ดำเนินการภายใต้กฎหมาย โดยเป็นการเผาทำลายเพิงพักที่ไร้คนอาศัยและเป็นที่เก็บยาเสพติด ไม่ใช่บ้านเรือนของชาวบ้าน