เครือข่ายเกษตรชี้ยุคมืดมน จำนำข้าวทำประเทศเจ๊ง เสนอตลาดสีเขียว
เครือข่ายวิชาการเกษตร-เอ็นจีโอชี้ยุคมืดมน 1 ปี รบ. พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรล้มเหลว ทำกลไกตลาดพัง-ไม่โปร่งใส เชื่อทำปท.เจ๊ง-ชาวนาจนต่อ เสนอทางเลือกตลาดสีเขียว
วันที่ 31 ส.ค. 55 มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ร่วมกับสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างวิจัย “ทางเลือกทางการตลาดของชาวนา : ผลกระทบเชิงโครงสร้างต่อความไม่เป็นธรรมและการกระจายผลประโยชน์” ณ หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
น.ส.นริศรา สายสงวนสัตย์ นักวิจัยโครงการฯ เปิดเผยข้อมูลในรายงานบริบทการดำเนินธุรกิจโรงสีข้าวและรูปแบบความสัมพันธ์เดิมที่มีกับชาวนาว่า นโยบายรับจำนำข้าวเปลือกไม่มุ่งเน้นเพียงแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ แต่ยังใช้ราคาชี้นำตลาด จึงตั้งราคาให้สูงกว่าเดิมเกินกว่า 50% และยังรับจำนำข้าวทุกเมล็ด ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจัดการรูปแบบวงการค้าข้าวใหม่ให้มีการปรับฐานราคาสูงขึ้นโดยเกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากการขายข้าวให้โครงการรับจำนำสูงกว่ารายได้จากการขายให้โรงสีโดยตรง
ซึ่งจากการสำรวจการรับจำนำข้าวนาปี ฤดูการผลิต 54/55 พบโรงสีรับซื้อข้าวเปลือกราคา 8,000-10,000 บาท/ตัน แต่เกษตรกรไม่ได้รับเงินตามราคาที่ตั้งไว้ เนื่องจากมีการหักความชื้นคุณภาพข้าว ซึ่งมักโดนโกงจากโรงสี นอกจากนี้เกษตรกรที่ปลูกข้าวกินเองไม่ได้รับประโยชน์ ซึ่งมีถึง 2.8 ล้านครัวเรือนปลูกเลี้ยงชีพเท่านั้น เกิดการสวมสิทธิ์เพื่อนำข้าวขาย เพราะเกษตรกรบางรายจำเป็นต้องใช้เงินก่อนจำนำ จึงขายสิทธิ์ใบประทวนให้แก่โรงสีหรือนายทุนในราคาต่ำกว่าราคาจำนำ ที่สำคัญเกษตรกรไม่ได้รับการพัฒนาการผลิตพันธุ์ข้าว และไม่ส่งเสริมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อย่างไรก็ตามโรงสีสะท้อนมุมมองว่าปัจจุบันเกษตรกรมีแนวโน้มลดคุณภาพการปลูกข้าวลง เพราะมองว่าแม้คุณภาพต่ำแต่เมื่อขายให้โครงการรับจำนำยังได้ราคาดี
น.ส.ธนพร ศรีสุขใจ นักวิจัยโครงการฯ กล่าวนำเสนอรายงานทางเลือกทางการตลาดของชาวนาในจ.ยโสธร:กรณีศึกษาเครือข่ายเกษตรกรในระบบการผลิตแบบอินทรีย์ว่า หากชาวนาจะอยู่รอดต้องปรับกลยุทธ์โดยเน้นการขายในท้องถิ่นมากขึ้นเพื่อลดต้นทุนการขนส่งหรือขายแบบส่งตรงให้ผู้บริโภครายกลุ่ม นอกจากนี้การแปรรูปรำข้าวเป็นน้ำมันรำข้าวเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มอีกทางหนึ่งที่ดี ที่สำคัญการรวมกลุ่มตั้งตลาดสีเขียวเป็นพื้นที่ซื้อขายสินค้าที่สามารถต่อรองราคาได้ โดยราคาสินค้าจะถูกกำหนดโดยคณะกรรมการสอดคล้องกับต้นทุนและคุณภาพ เฉพาะข้าวนั้นจะสีแปรรูปและบรรจุลงถุงด้วยตนเอง ราคาข้าวสารทุกพันธุ์กก.ละ 40 บาท ยกเว้นข้าวหอมมะลิดำกก.ละ 55 บาท จึงถือว่าเป็นช่องทางเพิ่มมูลค่าราคาข้าวมากกว่าขายให้โรงสีที่มีราคาไม่แน่นอน เพราะต้องขึ้นอยู่กับความผันผวนทางเศรษฐกิจ
ด้านนายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย แสดงความเห็นเพิ่มเติมจากร่างวิจัยว่า ชาวนาส่วนใหญ่ชื่นชอบนโยบายโครงการรับจำนำข้าว เพราะขายผลผลิตได้ราคาสูง แต่นโยบายดังกล่าวกลับเป็นการแก้ปัญหาราคาตกต่ำเฉพาะหน้า หากอนาคตถูกยกเลิกอาจทำให้ชาวนาจนเหมือนเดิมได้ ฉะนั้นต้องพัฒนาขีดความสามารถของเกษตรกรควบคู่ด้วย โดยระดมนักวิชาการด้านเกษตรให้ความรู้ตลอดการดำเนินการ ผ่านงบประมาณด้วยเงื่อนเวลา 4 ปี เมื่อผลออกมาเชิงรูปธรรมให้วิเคราะห์ว่าสมควรยกเลิกโครงการฯ หรือไม่ แล้วเร่งพัฒนาด้านอื่นต่อ เช่น สวัสดิการชาวนา การลดต้นทุนการผลิต และช่องทางตลาดใน/นอกประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันชาวนาทำนาเพื่อขายมิใช่เพื่อดำรงชีพเหมือนอดีต ทั้งนี้ได้ให้คะแนนรัฐบาลด้านการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวรอบ 1 ปี เพียง 6 คะแนนเท่านั้น
รศ.ดร.สมพร อัศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโสสถาบันคลังสมองของชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบการค้าข้าวของไทยเข้าสู่ยุคมืดมน เพราะรัฐกำลังตั้งตนเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่แข่งกับเอกชน ทั้งที่ควรพัฒนาระบบการค้าข้าวเดิมให้ดีขึ้น ซึ่งภายหลังการขับเคลื่อนนโยบายทำให้ข้าวที่ซื้อเข้ามาในโครงการถูกคละพันธุ์ จึงทำลายความเชื่อมั่นของตลาดข้าวไทย และเสี่ยงต่อการหลุดเป็นครัวของโลก
น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยแถลงต่อรัฐสภาเมื่อ 23 ส.ค. 54 ว่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืช สร้างความเข้มแข็งภาคเกษตรและความมั่นคงทางอาหารเพื่อเผชิญกับวิกฤติอาหารโลก ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์และเกษตรทางเลือก และเรื่องอื่น ๆ แต่ไม่ได้ทำเลย รัฐบาลทำอย่างเดียวคือการยกระดับราคาข้าว ซึ่งการทำอย่างหนึ่งโดยละเลยอีกอย่างจะทำให้เกิดความเสียหายตามมาได้
นักวิชาการอาวุโส กล่าวต่อว่า ไทยได้รับความเสียหายจากตลาดค้าข้าวต่างประเทศ เนื่องจากไม่มีข้าวในราคาที่ตลาดส่วนใหญ่ต้องการได้ ที่สำคัญไม่สามารถแย่งตลาดข้าวเจ้าซึ่งโดนเวียดนามแซงหน้าได้ โดยเหลือเพียงข้าว 2 ชนิด คือ ข้าวหอมมะลิคุณภาพและข้าวนึ่งที่ยังได้เปรียบทางการตลาดโดยเฉพาะยุโรป ส่วนตลาดในอาเซียนเสียแชมป์ให้เวียดนามด้วยปริมาณการส่งออกปี 54 จำนวน 3.7 ล้านตัน ส่วนไทยส่งออกเพียง 1.2 ล้านตัน
“หากจะช่วยคนจนต้องทำโครงการรับจำนำข้าวตามกรอบ 20 ตัน/คน วงเงิน 3-5 แสนบาท ไม่ใช่จำนำทุกเมล็ด เพื่อให้กลไกตลาดข้าวเปลือกขับเคลื่อนได้ เพราะปัจจุบันตลาดเอกชนดำเนินการไม่ได้เลย ตลาดรัฐก็พิการ และเราจะไม่เสียหายได้อย่างไร” รศ.ดร.สมพรกล่าว
ขณะที่ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การลักลอบซื้อใบสวมสิทธิ์จำนำข้าวเกิดขึ้นจริงในจ.นครปฐมในราคาใบละ 1,500 บาท และจ.นครสวรรค์ ราคาใบละ 1,000 บาท.