ธ.ก.ส. แถลง 1 ปีประชานิยมเกษตรกระเป๋าฉีกกว่า 7 เเสนล..
ธ.ก.ส.แถลง 1 ปีประชานิยมภาคเกษตรเทกระเป๋าจำนำ-พยุงราคาพืชผล 3 เเสนล้าน พักหนี้เกษตรกร 4 เเสนล้าน เดินหน้าต่อบัตรเครดิต-ประกันภัยข้าวนาปี
วันที่ 31 ส.ค. 55 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) แถลงสรุปผลงานการดำเนินงานโครงการตามนโยบายของรัฐบาลและรายละเอียดการเปิดดำเนินงานโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 55 ณ กระทรวงการคลัง
ดร.บุญไทย แก้วขันตี รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ขณะนี้ธ.ก.ส. เปิดโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 55 แล้ว ตั้งแต่ส.ค. โดยมีเกษตรกรสนใจเข้าซื้อประกันภัยแล้ว 10,129 ราย พื้นที่ 205,005ไร่ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 8 ล้านไร่ เกษตรกรจึงควรเข้าร่วมโครงการ เนื่องจากเบี้ยประกันภัยกว่าครึ่งได้รับสนับสนุนจากรัฐบาล อีกทั้งลดความเสี่ยงหากเกิดปัญหาภัยพิบัติ เกษตรกรจะได้รับเงินส่วนหนึ่งมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนโดยไม่ต้องกู้หนี้ใหม่มาลงทุน
โดยโครงการประกันภัยข้าวนาปีมีอัตราค่าเบี้ยประกัน 129.47 บาท/ไร่ ซึ่งเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะจ่ายเพียง 60 บาท/ไร่ และรัฐเป็นผู้จ่ายสมทบให้ 69.47 บาท/ไร่ ส่วนกรณีเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. ธนาคารจะจ่ายสมทบให้อีก 10 บาท/ไร่ ดังนั้นเกษตรกรจึงจ่ายเพียง 50 บาท/ไร่ ซึ่งการประกันภัยจะคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย ฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือไต้ฝุ่น อากาศหนาว ลูกเห็บ ไฟไหม้ ศัตรูพืชและโรคระบาด โดยจ่ายชดเชยในอัตรา 1,111 บาท/ไร่ ยกเว้นศัตรูพืชและโรคระบาดจ่ายชดเชยอัตรา 555 บาท/ไร่ ทั้งนี้เกษตรกรสามารถติดต่อทำประกันภัยดังกล่าวได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขา ตั้งแต่บัดนี้จนถึง 26 ต.ค.55 ยกเว้นภาคใต้ถึงวันที่ 26 พ.ย. 55
รองผู้จัดการธ.ก.ส. กล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ดังนี้ 1.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 54/55 ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อ 7 ต.ค. 54 และสิ้นสุดโครงการ 29 ก.พ. 55 ยกเว้นภาคใต้สิ้นสุด 31 ก.ค. 55 มีจำนวนข้าวเปลือกที่เข้าร่วมโครงการ 6.95 ล้านตัน จำนวน 118,562 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 1,142,511 ราย 2.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง ปีการผลิต 55 ซึ่งดำเนินการเมื่อ 1 มี.ค. 55 สิ้นสุด 15 ก.ย. 55 ยกเว้นภาคใต้สิ้นสุด 31 ต.ค. 55 มีปริมาณข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการแล้ว 10.03 ล้านตัน จำนวน 148,629 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 948,426 ราย ทั้งนี้ข้าวเปลือกที่รับจำนำดังกล่าวสีแปรสภาพเป็นข้าวสารแล้ว 10.68 ล้านตัน
3.โครงการรับจำนำมันสำปะหลัง ดำเนินการระหว่าง 1 ก.พ. – 30 มิ.ย. 55 มีจำนวนมันสำปะหลังที่เข้าร่วมโครงการ 9.73 ล้านตัน จำนวน 27,836 ล้านบาท จำนวนเกษตรกร 214,466 ราย 4.โครงการชะลอขุดหัวมันสำปะหลัง ดำเนินการระหว่างวันที่ 1 มี.ค. – 31 พ.ค. 55 มีการจ่ายเงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไปแล้ว 462 ราย เป็นเงิน 18.02 ล้านบาท 5.โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง ดำเนินการระหว่าง 1 ม.ค. 55 – 31 มี.ค. 56 โดยธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินกู้ให้กับองค์การสวนยางและสถาบันเกษตรกร เพื่อรับซื้อยางตามราคาเป้าหมายจากเกษตรกรแล้ว 11,166 ล้านบาท รวมผลการดำเนินงานโครงการรับจำนำเพื่อยกระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรใช้งบประมาณไปแล้ว 306,548 ล้านบาท มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 2,308,664 ราย
6.โครงการพักหนี้ค้างชำระ หรือหนี้ NPLs ตามมติครม.วันที่ 15 พ.ย. 54 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 405,489 ราย จำนวน 46,816 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ชำระหนี้เสร็จสิ้นและขอออกจากโครงการแล้ว 712 ราย เป็นเงิน 92.22 ล้านบาท 7.โครงการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างไม่เกิน 500,000 บาท ก่อน 24 เม.ย. 55 มีเกษตรกรลูกค้าได้รับสิทธิตามมติครม. 2,946,656 ราย จำนวนเงิน 396,951 ล้านบาท
ซึ่งในจำนวนนี้มีเกษตรกรที่ได้รับการช่วยเหลือจากโครงการรัฐบาล เช่น พักชำระหนี้น้ำท่วม กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรไทย (กฟก.) โครงการปรับโครงสร้างและระบบการผลิตการเกษตร (คปร.) โครงการแผนฟื้นฟูการเกษตร (ผกก.) จำนวน 179,507 ราย จำนวนเงิน 74,488 ล้านบาท ทำให้มีเกษตรกรที่มีสิทธิเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 2,767,149 ราย จำนวนเงิน322,463 ล้านบาท ซึ่งผลการดำเนินงานจริงมีเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ 2,366,350 ราย จำนวนเงิน 271,284 ล้านบาท อยู่ระหว่างการได้รับความช่วยเหลือในโครงการอื่น 394,532 ราย จำนวนเงิน 41,360 ล้านบาท และไม่ประสงค์เข้าร่วมโครงการ 3,871 ราย จำนวนเงิน 503 ล้านบาท โดยมีลูกค้าที่เลือกพักชำระต้นเงินและลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 จำนวน 2,069,284 ราย จำนวนเงิน 240,520 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.47 ของผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการและลูกค้าที่เลือกลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 อย่างเดียว จำนวน 297,066 ราย จำนวน 30,763 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.55 ของผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการ
8.โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร มีเกษตรกรปลูกข้าวที่ยื่นความจำนงขอรับบัตรสินเชื่อ 1,842,016 ราย โดย ธ.ก.ส.ได้อนุมัติและมอบบัตรสินเชื่อให้เกษตรกรแล้ว 841,890 ราย อยู่ระหว่างรออนุมัติจำนวน 951,484 ราย โดยมีวงเงินกู้ที่อนุมัติผ่านบัตรสินเชื่อประมาณ 13,577 ล้านบาท มีร้านค้าและสถานีน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการ 2,610 แห่ง ทั้งนี้เกษตรกรที่ได้รับบัตรสินเชื่อได้ใช้จ่ายผ่านบัตร เพื่อซื้อสินค้าประเภทปัจจัยการผลิต คือ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์ และน้ำมันเชื้อเพลิงไปแล้ว 460 ล้านบาท