ป่วนใต้ 102 จุดบอกอะไร...ขณะที่ รมต.ยังพูดสร้างเงื่อนไขรายวัน
ข้อมูลที่แถลงโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า สรุปเหตุก่อกวนป่วนชายแดนใต้เมื่อเช้าตรู่วันศุกร์ที่ 31 ส.ค.2555 ว่า คนร้ายได้วางวัตถุต้องสงสัยทั้งที่เป็นระเบิดจริงและปลอม, เผาทำลายธงชาติไทย, ติดธงชาติมาเลเซีย และติดป้ายข้อความยั่วยุท้าทายเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสิ้น 102 จุด แยกเป็น จ.ยะลา 34 จุด นราธิวาส 44 จุด ปัตตานี 12 จุด และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา 12 จุด โดยในจำนวนนี้เป็นระเบิดจริง 5 จุดเฉพาะใน จ.นราธิวาส ทำให้กำลังพลได้รับบาดเจ็บ 6 นาย
ประเด็นที่น่าสนใจและน่าค้นหาคำตอบก็คือ เหตุป่วนที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามเรียกว่าการ "ก่อกวน" นี้ บอกอะไรกับเราบ้าง
"ทีมข่าวอิศรา" รวบรวมข้อสังเกตจากฝ่ายต่างๆ มาประมวลเป็นคำถามถึงรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงที่รับผิดชอบต่อปัญหาภาคใต้ ดังนี้
1.การก่อเหตุในห้วงเวลาใกล้เคียงกันถึง 102 จุด ต้องใช้กำลังคนจำนวนไม่น้อย และใช้เวลาในการปฏิบัติการพอสมควร แม้หลายๆ จุดจะอยู่ใกล้กัน และอาจเป็นกลุ่มเดียวกันทำ ทว่าแต่ละจุดต้องใช้เวลาไม่น้อย โดยเฉพาะการนำธงชาติมาเลเซียขึ้นไปแขวนบนสายไฟฟ้าแรงสูงที่พาดผ่านถนน หรือที่พาดระหว่างเสาไฟฟ้าริมถนน กลุ่มผู้ก่อการใช้เชือกผูกหินด้านหนึ่ง ขณะที่ปลายอีกด้านหนึ่งผูกธงเอาไว้ จากนั้นจึงโยนขึ้นไปพันสายไฟ 2-3 รอบ แล้วจึงตัดเชือกออก เพื่อให้ธงขึ้นไปแขวนบนสายไฟ สะท้อนว่าแต่ละจุดใช้เวลาไม่น้อย แต่เหตุใดฝ่ายก่อการจึงสามารถปฏิบัติได้อย่างเสรี
2.การก่อเหตุมีการเตรียมการมาระยะหนึ่งแล้ว และใช้ยานพาหนะจำนวนมาก ซึ่งน่าเชื่อว่าต้องใช้รถกระบะจำนวนไม่น้อยด้วย เนื่องจากต้องใช้ขนอุปกรณ์ เช่น ไม้ยาวที่ใช้ปักธง หรือป้ายผ้าขนาดใหญ่ การขนอุปกรณ์พวกนี้โดยรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ก็ตาม สามารถผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ที่ระบุว่ามีมากถึง 66 ด่านใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอของสงขลามาได้อย่างไร
3.จุดก่อเหตุในเขตเทศบาลนครยะลา และสะพานบายพาสเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 (ยะลา-ปัตตานีสายใหม่) เป็นจุดที่น่าตกใจมาก เพราะอยู่ในเขตเมือง และไม่ห่างจากจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าเมืองยะลา คำถามคือคำยืนยันของเจ้าหน้าที่ที่ระบุว่ามีการลาดตระเวนพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นความจริงหรือไม่ คุมพื้นที่ได้จริงหรือเปล่า โดยเฉพาะในคืนวันพฤหัสบดีที่ 30 ส.ค. ซึ่งมีการแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังเหตุการณ์รุนแรงในวันศุกร์ที่ 31 ส.ค.ซึ่งเป็นวันชาติมาเลเซีย และวันคล้ายวันสถาปนาขบวนการเบอร์ซาตูอยู่แล้ว
4.การก่อเหตุลักษณะนี้ เป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายก่อความไม่สงบจะปฏิบัติการเมื่อไรและที่ไหนก็ได้ใช่หรือไม่ ส่วนจะระดมกำลังกันมาในลักษณะ "รวมการเฉพาะกิจ" เหมือนที่ฝ่ายรัฐบอกหรือเปล่า ยังไม่ชัดเจน ทว่าการก่อเหตุกระจายทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้ง 4 อำเภอของ จ.สงขลา ที่มีสถิติการเกิดเหตุรุนแรงค่อนข้างน้อย ได้ส่งผลทางจิตวิทยาว่าฝ่ายผู้ก่อการมีกำลังคนสำหรับปฏิบัติการและมีแนวร่วมอยู่แทบทุกพื้นที่
5.ก่อนหน้านี้ฝ่ายความมั่นคงอ้างตัวเลขกลุ่มก่อความไม่สงบและแนวร่วมในพื้นที่ว่ามีประมาณ 9 พันคน และถูกจับกุมไปเยอะแล้ว ตัวเลขจึงน่าจะลดลง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 31 ส.ค.สะท้อนภาพที่สวนทางกับการประเมินของเจ้าหน้าที่รัฐใช่หรือไม่
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านความมั่นคงจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องน่าตกใจ แสดงว่าฝ่ายขบวนการยังคงสร้างแนวร่วมรุ่นใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง หากเหตุการณ์ครั้งนี้ฝ่ายก่อการใช้ระเบิดจริงทุกจุดเหมือนกับที่เคยเกิดในหลายประเทศ จะสร้างความเสียหายและสร้างภาพที่น่ากลัวอย่างมาก ฉะนั้นรัฐบาลต้องเร่งปรับแผนทั้งในแง่ของการควบคุมพื้นที่ และการพูดคุยเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพอย่างเป็นรูปธรรม เพราะจากเหตุการณ์นี้ ประเมินได้ว่าสถานการณ์ในช่วงต่อไปจะรุนแรงขึ้นอย่างแน่นอน
อีกประเด็นหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการติดป้ายข้อความต่างๆ ก็คือ มีความพยายามของฝ่ายผู้ก่อการที่ต้องการยั่วยุ ท้าทายให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงตอบโต้ แต่ก็ยังโชคดีที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ไม่ได้เคร่งเครียดอะไรมากนัก บางคนยังพูดติดตลกว่า "ชิงต้อนรับประชาคมอาเซียนก่อนเลยหรือ"
แต่ฝ่ายที่น่าหนักใจคือระดับนโยบายที่ดูจะยังไม่เข้าใจปัญหา และไม่รับรู้ถึงความอ่อนไหวของปัญหาเอาเสียเลย เพราะยังมีการให้สัมภาษณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกตีความหรือนำไปสร้างเงื่อนไขในพื้นที่ได้ตลอดเวลา
เช่น รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 ส.ค.ทำนองว่า ได้ประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยแล้ว ประเมินว่าการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในห้วงเดือน ส.ค.2554 ถึง ส.ค.2555 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาทำงาน จึงเตรียมสรุปเป็นเอกสารนำเสนอ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อแถลงชี้แจงต่อไป
ขณะที่ 2 วันก่อนหน้านั้น รองนายกฯคนเดียวกันให้สัมภาษณ์ทำนองว่า จะเพิ่มความเข้มแข็งในอีกหลายเรื่องเพื่อแก้ไขปัญหาภาคใต้ เช่น เน้นเรื่องความเป็นไทย และจะต้องพูดกับประชาชนในพื้นที่ว่า "ทุกคนเป็นคนไทย"
คำกล่าวของรองนายกรัฐมนตรีสะท้อนว่าการประเมินสถานการณ์ของภาครัฐยังมองแต่มุมบวกและเข้าข้างตัวเอง ทั้งยังขาดความเข้าใจในเรื่อง "พหุสังคม-พหุวัฒนธรรม" เป็นอย่างมากด้วย ทั้งๆ ที่เป็นความเข้าใจพื้นฐานที่ระดับนโยบายจำเป็นต้องเข้าใจ หากต้องการจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางศาสนา ภาษา และวัฒนธรรมเช่นนี้
ส่วนที่กระทรวงกลาโหมซึ่งเพิ่งมีการเซ็นคำสั่งย้าย พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวง ไปช่วยราชการที่สำนักงานรัฐมนตรี เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะมีปัญหาขัดแย้งกันเรื่องการจัดทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร วันต่อมาก็มีคำสั่งให้ พล.อ.เสถียร "ไปดูแลงานทหารพัฒนาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้" สะท้อนชัดถึงทัศนคติของรัฐมนตรีที่มีต่อปัญหาภาคใต้ เหมือนเป็นงานที่นำมาใช้ลงโทษกัน เป็นงานที่ไร้ความสำคัญ เพราะหากมองว่าปัญหาภาคใต้สำคัญจริง ต้องมอบหมายให้ปลัดกระทรวงกลาโหมซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (ผบ.นทพ.) เกาะติดปัญหาชายแดนใต้นานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมามอบหมายให้ทำเมื่อถูกลงโทษด้วยการสั่งย้ายเช่นนี้
นี่คือความต่างอย่างสิ้นเชิงระหว่างฝ่ายขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนที่มีความคมชัดและหนักแน่นอย่างยิ่งในแง่ของจิตวิญญาณและเป้าหมายของการกระทำ แม้ว่าฝ่ายรัฐจะมองว่าผู้ร่วมขบวนการถูกหลอกหรือถูกบิดเบือนคำสอนทางศาสนามาก็ตาม
ผิดกับความพร้อมของฝ่ายรัฐที่ยังพบปัญหาตั้งแต่ "ความเข้าใจ" ของระดับนโยบาย จนถึงยุทธวิธีของระดับปฏิบัติ ทำให้เกิดเงื่อนไขสร้างมวลชนของฝ่ายขบวนการได้อย่างต่อเนื่อง และเกิดช่องโหว่ให้สร้างสถานการณ์ได้ต่อเนื่องเช่นกัน
ปัญหาไฟใต้ ณ ปลายปี 2555 จึงยังมองไม่เห็นชัยชนะของฝ่ายรัฐ ขณะที่แนวโน้มของสันติสุขก็ยิ่งรางเลือน...