อาเซียนจัดหนัก! ใช้น้ำมันมากกว่าผลิตเอง นักวิชาการคาดไม่เกิน 18 ปี หมด
ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนพลังงานระดับประเทศ ชี้ชาติอาเซียนต้องหันมาสนใจกับพลังงานทางเลือกได้แล้ว หลัง บรูไน อินโดนีเซีย มีนโยบายสำรอง พลังงาน เก็บน้ำมันไว้ใต้ดิน แล้วสั่งซื้อน้ำมันมาใช้มากขึ้น
เมื่อเร็วๆ นี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีจัดงาน KMUTT ENERGY FORUM รอบปฐมฤกษ์ เรื่อง "ความพร้อมของประเทศไทยด้านพลังงานเพื่อก้าวสู่ยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" โดยมีดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ ดร.วีระวัฒน์ จันทนาคม ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการวางแผนพลังงานระดับประเทศ และที่ปรึกษาอาวุโสสำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นองค์ปาฐก
ดร.บุญรอด กล่าวถึงการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและผลกระทบด้านพลังงานกับประเทศไทย โดยเห็นว่า การใช้พลังงานหลักยังคงเป็นพลังงานจากฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง รูปแบบการใช้พลังงานของอาเซียนแบ่งได้สามประเภทหลัก ๆ คือ ใช้ในด้านอุตสาหกรรม ด้านการขนส่ง และด้านอื่น ๆ รวมกัน โดยเทรนด์การใช้พลังงานในด้านอื่น ๆ มีปริมาณมากที่สุด
เมื่อดูภาพรวมของกลุ่มประเทศที่ผลิตน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในอาเซียน ดร.บุญรอด กล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียนมีความต้องการใช้น้ำมันมากกว่าความสามารถที่ตัวเองจะผลิตได้ ยกเว้นประเทศมาเลเซียและบรูไน ที่ยังพึ่งพิงตัวเองได้ และเมื่อวิเคราะห์แนวโน้มจากสภาพในปัจจุบันคาดว่า เมื่อถึงปี ค.ศ.2030 อาเซียนจะไม่สามารถพึ่งพิงตนเองด้านน้ำมันและแก๊สธรรมชาติได้อีกต่อไป
ดร.บุญรอด กล่าวอีกว่า เมื่อเปิดเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มในประเทศไทยจะได้รับผลกระทบหนัก เพราะสู้อินโดนีเซียไม่ได้ ทั้งในแง่พื้นที่เพาะปลูกปาล์ม และแรงงานที่มีต้นทุนถูกกว่า และกลุ่มประเทศที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ CLMV หรือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม
สำหรับผลกระทบด้านพลังงานต่อประเทศไทยนั้น อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม มจธ. กล่าวว่า มีทั้งผลด้านบวกและด้านลบ โดยส่วนตัวมองว่า มีผลด้านลบมากกว่า จากปัจจัยด้านความแตกต่างของแต่ละประเทศในอาเซียน และปัจจัยด้านแรงงานสำหรับประเทศไทยถือว่าแรงงานราคาแพงอาจทำให้ทุนต่างชาติย้ายไปทำที่อื่นที่ค่าแรงถูกกว่า หากจะให้ไทยได้รับผลด้านบวกเพิ่มขึ้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการเข้าใจแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอาเซียน การเตรียมความพร้อมของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม บวกกับการศึกษาวิจัย การพัฒนานโยบาย และการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจได้ถูกต้อง
"หลายฝ่ายยังมองประโยชน์ที่ไทยจะได้รับแค่ในสเกลของประเทศไทย เราควรขยายขอบเขตการมองผลกระทบให้ครอบคลุมทั้งอาเซียน เพราะต่อไปแม้แต่ถนนในก็จะเชื่อมถึงกันหมด เมื่อเป็นเช่นนั้นการใช้พลังงานด้านคมนาคมก็จะเพิ่มขึ้น" ดร.บุญรอด กล่าว
บรูไน อินโดฯ มีนโยบายสำรองพลังงานแล้ว
ด้านดร.วีระวัฒน์ กล่าวถึงสถานการณ์ด้านพลังงานของอาเซียนปัจจุบัน ความต้องการพลังงานจากฟอสซิล คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ยังคงเป็นหลัก มีสัดส่วนคิดเป็น 73% ของความต้องการทั้งหมด ที่น่าสนใจคือหลายประเทศบรูไน อินโดนีเซีย เริ่มมีนโยบายสำรองพลังงานไว้ใช้ในยามขาดแคลนสำหรับประเทศของตัวเอง คือเก็บน้ำมันไว้ใต้ดิน แล้วสั่งซื้อน้ำมันมาใช้มากขึ้น โดยเมื่อดูจากอัตราการผลิตและการใช้น้ำมันในปัจจุบัน น้ำมันในอินโดนีเซียจะหมดในอีก 20 ปี ส่วนในบรูไนจะหมดในอีก 18 ปี ทำให้ปัจจุบันอาเซียนต้องหันมาให้ความสนใจกับพลังงานทางเลือกมากขึ้น
ดร.วีระวัฒน์ กล่าวว่า จุดแข็งของไทยมีหลายด้าน เริ่มตั้งแต่การมีที่ตั้งอยู่ตรงศูนย์กลางอาเซียนทำให้ได้เปรียบด้านการขนส่งและกระจายสินค้า การมีโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้า โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติมีความพร้อม ไทยเป็นผู้นำด้านการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงบุคลากรและองค์กรภาคพลังงานมีองค์ความรู้และประสบการณ์ ทั้งหมดนี้จะทำให้ธุรกิจภาคพลังงานไทยมีการเติบโต
"ขณะที่จุดอ่อนก็มีหลายด้าน ตรงที่ไทยต้องนำเข้าพลังงานจากเพื่อนบ้านมาก เพราะมีความต้องการพลังงานสูง แต่แหล่งทรัพยากรน้อย กอรปกับนโยบายการอุดหนุนราคาพลังงานจากภาครัฐยังเป็นการบิดเบือนกลไกการตลาด นโยบายภาครัฐที่สนับสนุนพลังงานทดแทนยังไม่มีความชัดเจน และเรื่องการขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน"
ห่วงเอสเอ็มอี เจอการแข่งขันสูง
ดร.วีระพัฒน์ กล่าวว่า การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของไทยในปี 2558 อยากให้มองภาพเป็นสามผู้เล่น (player) หลัก คือ ภาครัฐ ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ ต่อไปผู้บริโภคจะมีทางเลือกเยอะมาก ที่จะเลือกสินค้าที่มีคุณภาพและราคาถูกตามที่พอใจ พร้อมแสดงความเป็นห่วง ผู้ประกอบการที่จะ ต้องเผชิญกับภาวะแข่งขันสูง เนื่องจากภาษีนำเข้า 0% และการที่ไทยจะต้องเปิดเสรีธุรกิจภาคบริการและการลงทุน ทำให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นได้ถึง 70% ดังนั้นผู้ประกอบการต้องพร้อมทั้งด้านคุณภาพสินค้า แรงงาน จึงจะแสวงหาโอกาสจากเออีซีได้
"กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทย เนื่องจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนยังด้อยกว่าต่างชาติ ดังนั้นภาครัฐต้องช่วยอุดหนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเอสเอ็มอีต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน และช่วยกันผลักดันยกระดับสินค้าในประเทศเพื่อนบ้านให้เท่ากับไทย เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน"
นอกจากนี้ ดร.วีระพัฒน์ กล่าวถึงแผนงานเร่งด่วนด้านพลังงานที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการด้วยว่า คือ การให้ บมจ.สำรวจและผลิตปริโตเลียม (ปตท.สผ.) เข้าลงทุนพัฒนาแหล่งก๊าซนาทูน่า (Natuna) ของอินโดนีเซียในสัดส่วน 15% และให้ ปตท.เร่งเชื่อมโยงโครงข่ายก๊าซธรรมชาติระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ให้ กฟผ.เดินหน้าเชื่อมโยงสายส่งไฟฟ้ากับเสาเพื่อนบ้านภายใต้ ASEAN Power Grid รวมทั้งให้ปตท.ไปลงทุนปลูกปาล์มน้ำมัน พร้อมตั้งโรงสกัดน้ำมันปาล์มในกัมพูชา ลาว พม่า