สมัชชาสุขภาพเตรียมดัน 9 นโยบายสาธารณะ ห่วงปัญหาเด็กติดเกม-สุขภาพพระ
สมัชชาสุขภาพเตรียมเปิดเวทีผลักดัน 9 นโยบายสาธารณะ ห่วงภัยใหม่เด็กไทยติดเกมรุนแรงร้อยละ 15 เตรียมบรรจุเป็นภาวะเจ็บป่วย หวั่นสุขภาพพระสงฆ์ โรคอ้วน-หัวใจ-หลอดเลือดรุมเร้าจากอาหารญาติโยม
วันที่ 29 ส.ค.55 คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ แถลงข่าว “สมัชชาสุขภาพครั้งที่ 5 พ.ศ.2555 ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ โดย นางศิรินา ปวโรฬารวิทยา ประธานกรรมการจัดสมัชชาฯ เปิดเผยสมัชชาสุขภาพครั้งนี้จะจัดขึ้นวันที่ 18-20 ธ.ค.55 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา โดยนำเสนอ 9 ประเด็นนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพเพื่อผลักดันสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
ได้แก่ 1.การจัดระบบและโครงสร้างส่งเสริมการเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน 2.การปฏิรูประบบการศึกษาวิชาชีพด้านสุขภาพให้สอดคล้องสถานการณ์ประเทศ 3.การจัดสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมงกรณีเด็กไทยกับไอที 4.พระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ 5.ความปลอดภัยทางอาหาร:การแก้ปัญหาสารเคมีเกษตร 6.การปฏิรูประบบวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) 7.การป้องกันและลดผลกระทบสุขภาพจากโรงไฟฟ้าชีวมวล 8.การจัดการหมอกควันที่มีผลกระทบสุขภาพ 9.การรับมือผลกระทบด้านสุขภาพต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
"สิ่งที่เป็นห่วงมากคือ 2 กลุ่ม ได้แก่ เด็กไทยติดเกมและไอทีจนสร้างผลเสียต่อสุขภาวะทุกด้าน เป็นภัยใหม่ที่สังคมต้องร่วมแก้ไข ขณะที่พระสงฆ์กำลังเผชิญหลายโรคร้ายที่พุทธศาสนิกชนมองข้าม" นางศิรินา กล่าว
นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่าสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นเวทีให้ทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน เอกชน หน่วยงานรัฐ ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อสร้างความตื่นตัวด้านสุขภาพประชาชน และ 4 ปีที่ผ่านมาหลายมติสมัชชาฯผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเป็นนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ อาทิ มาตรการกำกับดูแลการทำตลาดและโฆษณานมทารกและเด็กเล็ก การแก้ไขปัญหาบริโภคยาสูบ การผลักดันให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน
รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นการจัดการสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก 24 ชั่วโมงฯ เปิดเผยว่าเด็กไทยเสพติดเกมและอินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัญหาวิกฤต มีนักเรียนติดเกมอย่างรุนแรงร้อยละ 10-15 หมกมุ่นเล่นเกมและอินเตอร์เน็ตหลายชั่วโมงต่อวัน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย จิตใจ พัฒนาการ ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการกำหนดให้ภาวะติดเกมและอินเทอร์เน็ตเป็นความเจ็บป่วย โดยระบุไว้ใน “หลักเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติทางจิตในทางการแพทย์ รุ่นที่ 5” ที่จะเริ่มใช้ในปี 2556
ทั้งนี้ทางการแพทย์สภาพเด็กเสพติดไอทีมี 4 ลักษณะคือ 1.ใช้อินเทอร์เน็ตหลายชั่วโมงต่อครั้ง ทำให้ขาดความกระตือรือร้นในการทำงานอื่นๆ 2.ผู้ที่เล่นเกมหรืออินเทอร์เน็ตแล้วต้องเพิ่มการใช้ขึ้นเรื่อยๆ 3.ไม่สามารถควบคุมตัวเองให้หยุดเล่นได้ มีพฤติกรรมทำร้ายผู้ขัดขวาง 4.แยกตัวออกจากครอบครัวและสังคม
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2553 พบว่าเด็กและเยาวชนที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตสูงคือช่วงอายุ 15-25 ปี จำนวนนี้อายุ 7-25 ปีเล่นเกมออนไลน์เฉลี่ย 4.5 ชั่วโมงต่อวัน ทำให้ธุรกิจร้านเกมออนไลน์เติบโตรวดเร็วเฉลี่ยร้อยละ 19 ต่อปี มูลค่าตลาด 3,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นภายใน 5 ปีถึง 2,160 ล้านบาท ตามรายงานของบริษัททีโอทีปี 2553 มีทะเบียนผู้เล่นเกมผ่านระบบออนไลน์เพิ่มจาก 1,651,211 เลขหมายเป็น 4,502,516 เลขหมาย ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกมออนไลน์ประสบความสำเร็จคือระบบสัญญาณเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเร็วและครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น เช่น ระบบ Wi-Fi/3G และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ทั้งในชุมชนแออัดและเมือง
“ในสหรัฐมีผลการสำรวจของสมาคมกุมารแพทย์ล่าสุดพบว่าเด็กที่ใช้สื่ออิเลคทรอนิกเฉลี่ยถึง 7 ชั่วโมงต่อวันทำให้เกิดปัญหาการเรียน สมาธิสั้น การกินอาหาร การนอน โรคอ้วน สื่ออิเลคทรอนิกที่เด็กอเมริกันนิยมมากคืออินเทอร์เนตและโทรศัพท์มือถือ โดยเนื้อหาในสื่อที่บ่งบอกความรุนแรง การร่วมเพศ และการใช้ยาเสพติด เช่น เหล้า บุหรี่ ก่อปัญหาทางพฤติกรรมทั้งในระยะสั้นและยาวได้” นพ.อดิศักดิ์กล่าว
ด้านนพ.สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันทำให้พระสงฆ์ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนที่เคยสำรวจปี 2550 ทั้งสิ้น 250,437 รูป มีปัญหาสุขภาพ ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด ไขมันในเลือดสูง มีพระสงฆ์ที่น้ำหนักเกินเกฑ์ร้อยละ 45 และพระสงฆ์ยังมีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น รับประทานหารที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค สูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง ขาดการออกกำลังกาย
สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากอาหารที่ใส่บาตรทำบุญที่ยังขาดความเข้าใจ เช่น แกงกะทิ อาหารไขมันสูง ขนมหวาน พฤติกรรมการสูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ ดื่มเครื่องดื่มชูกำลังเกินกว่า 2 ขวดต่อวันและดื่มน้ำสะอาดไม่ถึงวันละ 6 แก้ว ฉันอาหารสุกๆดิบๆ และออกกำลังกายไม่เพียงพอ และยังพบวามเครียดร้อยละ 54
พระครูอมรชัยคุณ วัดอาศรมธรรมทายาท ประธานคณะทำงานวิชาการเฉพาะประเด็นพระสงฆ์กับการพัฒนาสุขภาวะ กล่าวว่าต้องการผลักดันให้ภาครัฐเห็นความสำคัญดูแลสุขภาพพระสงฆ์และเชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชน "พระแข็งแรง วัดมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง” เสนอให้มหาเถรสมาคมร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการที่เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ในการพัฒนาด้านสุขภาพ สร้างเครือข่ายพระสงฆ์นักพัฒนาเป็นแกนนำดูแลสุขภาพพระสงฆ์ในวัด รณรงค์ให้ประชาชนถวายอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เป็นโทษต่อสุขภาพพระสงฆ์ และส่งเสริมพัฒนาให้ทุกวัดเป็นวัดส่งเสริมสุขภาพภายในปี 2560 ทุกวัด .
ที่มาภาพ :: http://campus.sanook.com/teen_zone/spice_01836.php